แม้ว่าในปัจจุบันโควิด 19 จะกลายเป็นมหันตภัยที่มนุษยชาติสามารถก้าวข้ามได้แล้ว จากความรู้ความเข้าใจในตัวโรคและการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันและยับยั้งความรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้ลดน้อยถอยลงได้อย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราลองมองไปในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือเรายังคงเห็นคนใกล้ตัวหรือข่าวพบผู้คนติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จำนวนมากกันอยู่ โดยบางคนอาจเคยมีประสบการณ์ติดเชื้อซ้ำถึง 4-5 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่นาน แม้อาการทั่วไปจะไม่ได้หนักหนาเท่าช่วงเชื้อไวรัสนี้อุบัติใหม่ ๆ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าโควิด 19 ยังคงสร้างผลกระทบต่อประชาชนและสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ หรือที่รู้จักในชื่อ กลุ่ม 608 ก็ยังคงมีข่าวการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง

เรื่องราวเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดคำถามว่าแท้จริงแล้วสถานการณ์โควิด 19 ในไทยเป็นอย่างไรกันแน่ และการฉีดวัคซีนยังคงจำเป็นหรือไม่ในยุคที่ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ?

โอกาสนี้ไทยรัฐออนไลน์ขอชวนไปพูดคุยกับ รศ. ดร. แสงเดือน มูลสม และ ดร. พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญที่ยังคงตามติดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมฟังเรื่องราวไปด้วยกันว่าสถานการณ์ล่าสุดของโรคร้ายที่ดูเหมือนจะจางไปแล้วนี้เป็นอย่างไร และในมุมของผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นเช่นไรต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้ารับวัคซีน

โรคยังไม่จาง วัคซีนยังจำเป็นในคนบางกลุ่ม และภาครัฐควรมุ่งสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

หากเอ่ยถึงการศึกษาเกี่ยวกับโควิด 19 เพื่อเฝ้าระวังและรับมือ ในมุมมองของคนทั่วไปอาจเชื่อว่าวงการสาธารณสุขมีการลดระดับลงไปมากแล้ว เนื่องจากเราผ่านพ้นช่วงอันตรายมาเกินกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ก็ยังมีการสานต่อการทำงานและจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อหาทางรับมือในทุกมิติ

หนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ข้อมูลที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งคือการจัดทำแบบสำรวจโดย Thailand One Health University Network (THOHUN) หรือ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ความรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล และปัจจัยที่มีผลต่อการรับวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนและกลุ่ม 608” ซึ่งผลสำรวจชิ้นนี้นำไปสู่ข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ

“แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจัดประเภทให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว แต่จากรายงานของกรมควบคุมโรค พบว่ายังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู และยังคงมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ทางหน่วยงานจึงยังต้องให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยทำการสำรวจว่าผู้คนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหรือไม่ อย่างไร ทั้งการรับมือและมุมมองเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19”

รศ. ดร. แสงเดือน มูลสม ผู้ประสานงาน เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย เกริ่นกับเราถึงที่มาของการทำแบบทดสอบก่อนจะเล่าต่อไปว่า ปัจจุบันโลกมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญโรคติดต่ออุบัติใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นโควิด 19 จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงาน อาทิ การสื่อสารกับประชาชน ไปจนถึงการตระเตรียมตัวยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

ผลสำรวจได้เผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่นับว่าเป็นสัญญาณในเชิงบวกอย่างยิ่ง นั่นคือประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด 19 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ไม่ว่าจะเรื่องของอาการโรค การป้องกันตนเองจากโควิด ไปจนถึงวิธีปฏิบัติตัวหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือเรื่องของ “มุมมองเกี่ยวกับวัคซีน” เนื่องจากประชาชนส่วนมากค่อนข้างคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นขนาดนั้นสำหรับคนทั่วไป เพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ อีกทั้งยังมีความกังวลในเรื่องผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนจากข่าวสารต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามหากมีบริการฟรีก็อาจมีความสนใจ โดยจากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1 ใน 3 (38.9%) มีความต้องการที่จะเข้ารับวัคซีน หากไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากมีค่าใช้จ่าย มีเพียง 13.9% เท่านั้นที่ต้องการฉีดวัคซีน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญการมีวัคซีนบริการฟรีให้แก่ประชาชน

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการสื่อสารของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะเน้นย้ำความสำคัญของวัคซีนในสถานการณ์ปัจจุบัน โดย รศ. ดร. แสงเดือน มูลสม ระบุว่า “วัคซีนไม่ใช่ Life-long protection หรือภูมิคุ้มกันไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิต เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อโรคจะลดลงตามเวลา รวมถึงไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเข้ารับวัคซีนจึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยปกป้องตนเองยังจะช่วยลดการแพร่ระบาดอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง 608 และด่านหน้าหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากมีการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง”

“หน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ควรมีการให้ข้อมูลประชาชนอย่างรวดเร็วและถูกต้อง โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายสถาบัน เพื่อจัดทำข้อมูลกลางขึ้นมา นอกจากนี้ยังต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนรับทราบ เพื่อร่วมกันสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่คนทั้งประเทศ” รศ.ดร.แสงเดือน มูลสม กล่าวทิ้งท้าย

เปลี่ยนความเข้าใจผิดวัคซีน ต้องทำด้วยการสื่อสารที่ถูกต้อง โปร่งใส จริงใจ และสม่ำเสมอ

นอกเหนือไปจากการดำเนินงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย อีกหนึ่งหน่วยงานที่คนไทยทั้งประเทศน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือช่องทางโซเชียลมีเดีย Facebook, Line, Twitter หรือ X, TikTok, Instagram, ในชื่อ “ไทยรู้สู้โควิด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook Page ที่เป็นดั่งกระบอกเสียงนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเสมอมานับตั้งแต่โรคโควิด 19 แพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกช่องทางการสื่อสารที่มีผู้ติดตามกว่า 5 ล้านคนนี้ก็คือ ดร. พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการโครงการพระราชดำริฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

จากการทำงานใกล้ชิดประชาชนมากว่า 4 ปี ในฐานะแอดมินโซเชียลมีเดีย “ไทยรู้สู้โควิด” ทำให้ ดร. พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ได้รับทราบมุมมองของผู้คนในสังคมในมิติที่หลากหลาย และค้นพบว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการส่งต่อข้อมูลให้แก่ประชาชน และสังคม คือเรื่องของการสื่อสารที่ถูกต้อง โปร่งใส จริงใจ และสม่ำเสมอ อาทิ ในปัจจุบัน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของโรคโควิด 19 ไม่มีศูนย์กลางเหมือนช่วงโรคโควิด 19 ระบาด ข้อมูลถูกบอกเล่าจากแหล่งต่าง ๆ และหลากหลาย บางครั้งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เป็นข้อมูลเก่า อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลในวงกว้าง หรือมีพฤติกรรมสุขภาพที่ทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อแล้วมีอาการเจ็บป่วยได้ เช่น ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 หรือไม่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันที่แท้จริงเป็นอย่างไร เชื้อโรคโควิด 19 มีการกลายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งสวนทางกับความสนใจของผู้คนที่ตอนนี้เชื่อว่าเป็นเรื่องไกลตัว

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงแรก ๆ กับในปัจจุบัน พบว่าประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับโรคและบทบาทของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ‘ความรู้ ความเข้าใจ’ ที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลต่อ ‘พฤติกรรม’ เสมอไป โดยสิ่งที่จะส่งผลต่อ ‘พฤติกรรม’ มากกว่าความรู้ความเข้าใจ คือ ‘ทัศนคติ’ โดยทัศนคติจะเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลข่าวสารที่แต่ละคนติดตาม และการเลือกรับข้อมูลจากแหล่งใดน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันผู้คนมีความสนใจลดลงเพราะคิดว่าโรคโควิด 19 เป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อใดก็ตามที่สื่อมวลชนมีการอัปเดตสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะข่าวการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ความสนใจของประชาชนก็จะกระเตื้องกลับมา จะเห็นว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากในการกระตุ้นการรับรู้ความเสี่ยงของประชาชน ส่วนประชาชนจะมีความสนใจมากน้อยหรือนานแค่ไหน โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนกลุ่มนั้นมากน้อยแค่ไหน เช่น ตนเองติดเชื้อ มีสมาชิกในครอบครัวหรือคนรู้จักเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต เป็นต้น” ดร.พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์กล่าว

“เราต้องสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน สื่อสารด้วยความจริงใจและสม่ำเสมอ เป็นการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ สม่ำเสมอ ว่าความจริงคืออะไร และที่สำคัญต้องสื่อสารอย่างโปร่งใส โดยให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเชื่อข่าวลบมากกว่าอยู่แล้ว เช่น การที่มีข่าวลือออกมาว่าวัคซีนโควิด 19 ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ประชาชนไม่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งในความเป็นจริงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่มีอัตราการเกิดน้อยมาก ในประเทศไทย จาก 20 ล้านคนที่ฉีดเข็มสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2566 มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด 23 ราย แต่เข้าข่ายจริง 7 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย และเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน 5 – 42 วันเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องปรับการสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลความจริงทั้งสองด้าน และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับหรือเสียประโยชน์ หากกระทำหรือไม่กระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่า มุมมองของ รศ.ดร.แสงเดือน มูลสม และ ดร.พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ มีความสอดคล้องกันในเรื่องของการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ผู้คนตระหนักถึงบทบาทของวัคซีนในสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดย ดร.พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ ยังได้เผยเพิ่มเติมอีกว่า

“เมื่อมีข่าวไม่จริง ข่าวลวง ข่าวลือ ข่าวลบเกิดขึ้นในสังคม จำเป็นต้องให้ข้อมูลจริง อย่างโปร่งใส ทำซ้ำ ๆ ต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนกว่าประชาชนจะเข้าใจและเชื่อมั่น เชื่อถือต่อเรื่องนั้น ๆ และอีกสิ่งที่จำเป็นคือ ต้องสื่อสารให้ชัดเจนด้วยว่าเรื่องนั้น ๆ มีความเกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร และภาครัฐจะสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร ประชาชนจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอความช่วยเหลือได้จากแหล่งใด หากเกิดความเสี่ยงหรือมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา”

จากเรื่องราวของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน จาก 2 ภาคส่วนที่ทำงานใกล้ชิดเชื้อไวรัสมาอย่างยาวนาน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจะสร้างเสริมสุขภาพคนไทยให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายที่กลายพันธุ์ไม่รู้จบอย่างโควิด 19 อย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือการ “เดินไปพร้อมกัน” ทั้งทางฝั่งประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับมือ

นับเป็นโชคดีที่ปัจจุบันคนไทยเรามีความตระหนักรู้เรื่องโรคเป็นอย่างดีหลังจากผ่านการต่อสู้ร่วมกันมาอย่างเข้มแข็งในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน จนคนไทยเรามีความพร้อมในการป้องกันความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เป็นตามจริงดังที่ ดร. พาหุรัตน์ คงเมือง ทัยสุวรรณ์ และ รศ. ดร. แสงเดือน มูลสม กล่าวว่า เชื้อดังกล่าวยังคงอยู่กับเรา หากติดเชื้อก็มีโอกาสที่จะอาการรุนแรงกว่าที่คาด หรือมีอาการ Long COVID ซึ่งสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้นการเข้ารับวัคซีนจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 อันได้แก่ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 ประเภท ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และผู้ตั้งครรภ์ ที่ควรเข้ารับวัคซีนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี