สังคมไทยยังจับจ้อง “ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ..” ที่กำหนดให้เอกชนลงทุนจดทะเบียนหมื่นล้านแลกสัมปทาน 30 ปีต่อได้ครั้งละ 10 ปี เพื่อบูมท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ประเทศ

แต่เงื่อนไขนี้กลับกลายเป็นข้อกังวลให้ “เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม” ที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่าได้รับประโยชน์ เพราะด้วยประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมนี้ ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สะท้อนบนเวทีวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....ว่า

หากดูท่าทีของรัฐบาลต่างพยายามเน้นย้ำ “การนำกาสิโนถูกกฎหมาย” ที่จะมาสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน “สร้างรายได้ให้ประเทศ” แต่ถ้าดูนิยามของ UNWTO การท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้นั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมควบคู่กันไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น หรือระยะยาวก็ตาม

ทว่าหากมองใน “มิติสังคม” ก็เคยมีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาการมีกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศสามารถแยกผลกระทบทางสังคมออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.รัฐใดมีชนิดการพนันถูกกฎหมายมากเพียงใดก็จะเกิดการแพร่หลายของการพนันมากเท่านั้น และจำนวนผู้ติดการพนันจะก่อปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

...

ข้อ 2.รัฐใดมีการพนันถูกกฎหมายนานเท่าใดก็จะก่อให้ “คนเกิดปัญหาเชื่อมโยงกับการเป็นหนี้สินครัวเรือนมากเท่านั้น” ส่งผลให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอ และการก่อเกิดอาชญากรรมก็จะตามมามากมาย

ถ้าหากเป็น “มิติเศรษฐกิจ” ตามที่รัฐบาลมุ่งเน้นไว้ 3 เรื่องหลัก คือ...“การสร้างรายได้ให้ภาครัฐ” ถ้าดูตัวอย่างในสหรัฐฯ มีกาสิโนถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1931 เริ่มต้นจากรัฐลาสเวกัสแห่งแรกก่อนขยายไปรัฐอื่นก็มีการศึกษารายได้ 1 ดอลลาร์ ที่ได้จากการเก็บภาษีแต่รัฐต้องจ่ายค่าเยียวยาผลกระทบ 3 ดอลลาร์ ทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย

ดังนั้นหาก “รัฐบาลสนใจประชาชน และประเทศชาติ” ก็ไม่ควรดันให้กาสิโนถูกกฎหมาย เพราะแม้จะได้เงินภาษีจริงแต่สุดท้ายก็ต้องนำเงินงบประมาณจากภาษีส่วนอื่นไปเยียวยาปัญหาที่เกิดจากการพนันอยู่ดี

ในส่วน “มิติการจ้างงาน” ในรัฐนิวเจอร์ซีที่มีกาสิโนถูกกฎหมายก็ก่อให้เกิดการจ้างเพิ่มขึ้นจริง “แต่มิใช่การจ้างงานให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ” เพราะแรงงานในกาสิโนไม่ได้ใช้ทักษะความรู้ ทำให้ความหวังจากการมีกาสิโนจะขับเคลื่อนสังคมไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศรายได้สูงจึงเป็นไปได้ยาก

ถัดมาหากถามว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้หรือไม่” เรื่องนี้ที่ผ่านมารัฐบาลมักหยิบตัวอย่างในประเทศจัดการคอร์รัปชันได้ดี หรือการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมาเป็นข้ออ้างอิงผลการศึกษาเสมอ เช่น สิงคโปร์ที่ได้ชื่อว่า “มีคอร์รัปชันต่ำสุดของโลก” แถมการบังคับใช้กฎหมายก็ดีที่สุดในโลก ทำให้การมีกาสิโนไม่ก่อเกิดปัญหามาก

แต่ทางกลับกันสำหรับ “ประเทศคอร์รัปชันรุนแรง” แล้วการบังคับใช้กฎหมายยังอ่อนแอด้วยแล้ว “การมีกาสิโนถูกกฎหมาย” ก็ต้องระวังว่าจะเกิดหายนะทางสังคม และเศรษฐกิจ เช่น ฟิลิปปินส์มีกาสิโนถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1976 กรอบใกล้เคียงกับประเทศไทยที่ทำอยู่นี้จนทำให้มีปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และคอร์รัปชันอย่างรุนแรง

...

เช่นเดียวกับ “แอตแลนติกซิตี้ของสหรัฐฯ” ที่เคยมีปัญหาการพนันผิดกฎหมาย โสเภณี และการคอร์รัปชันของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้นำกาสิโนขึ้นมาให้ถูกกฎหมายในปี 1976 เพื่อหวังเป็นแหล่งเงิน แต่กลับไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อพื้นที่ดังกล่าว “รายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารัฐเดียวกัน” ยิ่งกว่านั้นความยากจนก็สูงมาก 32.4%

แม้ข้อดี “จะเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์จากการพัฒนากาสิโนได้ 80%” แต่ก็นำรายได้นี้มาใช้พัฒนาการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ “มักจบการศึกษาไม่สูงมาก” แล้วก็ไม่ได้ทำให้การพนันผิดกฎหมายหมดไป

ดังนั้นส่วนตัวมองว่า “รัฐบาลไทย” จะทำกาสิโนถูกกฎหมายตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา เพราะไม่พร้อมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ ความยั่งยืน ยิ่งวันนี้มีข้อมูลออกมามากมาย จึงหวังว่ารัฐบาลจะกลับใจตีตกเพื่อประโยชน์ประเทศ

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน บอกว่า ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ยังไม่ชัดเจนว่ากาสิโนจะออกมารูปแบบใด “แต่มีเรื่องถูกซ่อนเร้นหลายอย่าง” โดยเฉพาะการให้อำนาจซุปเปอร์บอร์ดเป็นนักการเมือง 6 คน ข้าราชการ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่เกิน 6 คน

...

ถ้าดูแบบนี้แล้วคงเปิดทางให้ “เอกชน” เพราะไม่เชื่อว่าภาคสังคม และภาควิชาการจะเข้าไปถ่วงดุลได้ กลายเป็นซุปเปอร์บอร์ดมุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้ในมิติการกำกับควบคุมก็ลดน้อยลงอย่างมาก แล้วยิ่งตัดกระทรวงสาธารณสุขออกจากบอร์ดบริหารด้วย ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในมิติผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

จริงๆแล้ว “กาสิโนถูกกฎหมายในไทย” นักลงทุน นักวิเคราะห์ระดับนานาชาติต่างให้ความสนใจ เพียงแต่มีความกังวลว่า “บริษัทมาตรฐานขนาดใหญ่จะกล้าเข้ามาลงทุนหรือไม่” เพราะติดปัญหาธรรมาภิบาลประเทศไทยอยู่ระดับคะแนนที่ 35-40 มานานหลายสิบปี ทำให้บริษัทขนาดใหญ่กลัวมาลงทุนแล้วจะเสียชื่อไปด้วย

ส่วนที่ว่า “เปิดให้คนภายในประเทศเล่นได้” สิ่งนี้จะสร้างต้นทุนทางสังคมมหาศาล “ภาษีที่เก็บมาได้ก็จะไม่เพียงพอ” เพราะหากดูร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ค่อนข้างละเลยการมองเห็นความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ “วาดฝันแต่การท่องเที่ยว” ส่วนเนื้อหาปัญหาผลกระทบตัดออก และเพิ่มช่องให้กาสิโนปล่อยสินเชื่อแก่ผู้เล่น

...

สวนทางกับประเทศพัฒนา “มักพยายามไม่ให้คนในประเทศเล่น” ทำให้ปัจจุบันกาสิโนในเอเชียมุ่งหวังดึงนักท่องเที่ยวจีน “แต่เรื่องนี้รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายมาป้องกันมากมาย” ดังนั้นการจัดทัวร์คนจีนมาเล่นถือว่าผิดกฎหมายจีน เช่นนี้ลูกค้าก็น่าจะตกอยู่กับคนในประเทศเพียงแต่เนื้อหาปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ไม่ให้พูดกัน

นอกจากนี้ยังเคยสำรวจความเห็นคนไทยมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนถูกกฎหมาย และเห็นด้วยมีเพียง 30% ส่วนที่เหลือตัดสินใจไม่ได้ ดังนั้นการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แบบรวบรัดไม่น่าเป็นผลดีอันจะส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างได้ สุดท้ายในโลกนี้ “ไม่มีกาสิโนเสรี” เพราะมีแต่กาสิโนถูกกฎหมายที่ถูกกำกับดูแลเท่านั้น

ย้ำอยากให้ลองมองดูรอบๆ “ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเปิดกาสิโนถูกกฎหมายเต็มไปหมด” แต่กลับไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ “แถมก่อปัญหามากมาย” ฉะนั้นเมื่อร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ยังมีจุดอ่อนช่องโหว่ถ้าทำตกก่อนเข้าสภาฯก็จะดี หากฝืนทำไปอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม