ใกล้คลอดแล้วสำหรับ “กาสิโนถูกกฎหมายในไทย” หลังกระทรวงการคลังเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ...ผ่านเว็บไซต์ในวันที่ 2-18 ส.ค.2567 เพื่อนำความเห็นนั้นเสนอ ครม.พิจารณาส่งให้ คกก.กฤษฎีกาก่อนเสนอสภาฯผ่านขั้นตอนออกกฎหมายต่อไป

ถ้าดูเนื้อหา “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่” ค่อนข้างแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรในหลายประเด็น กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวกับสังคมจนถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในเวทีเสวนาวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ “แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” จัดโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

เนื่องจากอาจได้ไม่คุ้มเสีย ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน บอกว่า บ่อนกาสิโนก็เป็นเหมือนเสือ การที่รัฐบาลจะเปิดละครสัตว์นำเสือโชว์หวังนักท่องเที่ยวมาชม ถ้าไม่มีรั้ว รอบขอบชิดดีเสือก็ไปกัดคน

ดังนั้นหากต้องการ “เปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย” หวังสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ “กฎหมาย” ก็ต้องเข้มแข็งมากพอที่จะเอาอยู่โดยไม่มีช่องโหว่เพื่อเป็นแม่บทให้อำนาจแก่ “หน่วยงานควบคุม” ที่มีอาวุธที่แข็งแรงในการใช้กำกับดูแลควบคู่กับ “การมีหน่วยป้องกันปัญหา และลดผลกระทบ” คอยทำหน้าที่ให้ความรู้กับผู้คนด้วย

...

แต่สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฉบับใหม่” ความจริงควรใช้ชื่อ พ.ร.บ.กาสิโน เพราะเนื้อแท้จะทำกาสิโนเพียงแต่นำธุรกิจอื่นมาร่วมเพื่อเจตนานำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มาบังหน้าลดกระแสสังคม

พอทำไปทำมา “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ที่เคยศึกษาใน กมธ.สมัยสภาชุดที่แล้วมาถึงรัฐบาลชุดนี้ค่อยๆหดหายลงจนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กลายร่างมาเป็นการทำกาสิโนชัดเจนขึ้น 3 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก... “พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ตรงปก” ด้วยสิ่งที่เคยขายฝันตามรายงาน กมธ.ชุดที่แล้วให้มีสถานบันเทิงครบวงจรขนาดใหญ่ชูสิงคโปร์โมเดลมีแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยกาสิโนไม่เกิน 5% ของเอนเตอร์เทนเมนต์ฯ ส่วนคนไทยจะเข้าเล่นต้องมีฐานะระดับ HI-END มีเงินในบัญชี 5 แสนบาท แต่สิ่งเหล่านี้กลับหายไปในรายงานชุดปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลไกป้องกัน และฟื้นฟูผลกระทบ” จากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงกองทุนป้องกัน และการฟื้นฟูผลกระทบในบทสรุปผู้บริหารหน้า 75 และ 96 ก็ถูกตัดออกเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้นบัญชีแนบท้ายรายงานฉบับใหม่ “กำหนดแค่กาสิโน และให้มีสถานบันเทิงอื่น 4 กิจการ” ส่วนเนื้อหา กมธ.ชุดที่แล้วเสนอภายในเอนเตอร์เทนเมนต์ฯ นอกเหนือจากกาสิโนแล้วต้องมีสถานบันเทิงเป็นองค์ประกอบอย่างน้อย 10 กิจการ เช่น โรงแรม 5 ดาว ห้างสรรพสินค้าครบวงจร ร้านอาหาร ศูนย์ประชุมก็ถูกตัดออกไป

สะท้อนว่า “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ถูกย่อให้เล็กลง” เพราะเงื่อนไขตั้งสถานบันเทิงครบวงจรขนาดใหญ่ถูกตัดออกหมดเหลือแค่จุดประสงค์หลัก “การทำกาสิโน” เช่นนี้จะใช้โรงแรมเก่าๆก็ย่อมเปิดได้หรือไม่

ประเด็นที่สอง... “ตีเช็คเปล่าเอื้อคณะบอร์ดนโยบาย” ถ้าดูกลไกการบริหาร “บอร์ดนโยบาย” ที่มีนายกฯเป็นประธาน รองนายกฯ เลขาธิการ ปปง. บีโอไอ ผบ.ตร.และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน เป็นกรรมการ “บอร์ดบริหาร” มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยมีสำนักงานเป็นฝ่ายเลขานุการอยู่ภายใต้การสั่งการของบอร์ดนโยบายอยู่ดี

...

ทำให้เห็นกลไกบริหารรวมอำนาจไว้ที่ “บอร์ดนโยบายจุดเดียวจนมีอำนาจล้นฟ้า” เพราะตาม ม.11 ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ให้อำนาจกำหนดนโยบาย และกำหนดการบริหารจัดการสถานบันเทิงครบวงจร ทำให้บอร์ดนโยบายมีอำนาจล้นฟ้าชี้ชะตากาสิโนไทยได้ตั้งแต่ทำคลอดเสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นให้กาสิโนมีกี่แห่ง ตั้งที่ไหนได้บ้าง ทำกิจการอะไรได้บ้าง มีกาสิโนได้กี่เปอร์เซ็นต์ รวมถึงจะเก็บภาษีเท่าไร อนุญาตให้ใครทำ หรือทำนานแค่ไหน กำหนดการเปิด-ปิดกี่โมง แล้วให้คนไทยจะเข้าไปต้องจ่ายเท่าไร แถมยังให้กาสิโนปล่อยสินเชื่อก็ได้ แม้แต่แต่งตั้ง และปลดเลขาฯ ก็ต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดใหญ่ทั้งหมด

“ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงฯฉบับใหม่นี้เปิดช่องไว้หลายจุดจนกลายเป็นความกังวลอย่างมาก เพราะกฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช่แค่ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวแต่ว่าจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน หากไม่มีการแก้ไขก็จะถูกใช้ไปตลอด ดังนั้นรัฐบาลควรนำร่างของ กมธ.กลับมาศึกษาปรับปรุงให้ดีขึ้นจะดีกว่า” ธนากรว่า

ประเด็นที่สาม... “เอื้อทุนใหญ่ให้ถือยาวๆ” ด้วยการเปิดให้บริษัทเอกชนมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท “โดยไม่ต้องประมูลแต่ใช้ระบบอนุญาต” แถมขยายใบอนุญาตเป็น 30 ปีจากเดิมที่ กมธ.เสนอไว้ 20 ปี แล้วไม่บังคับให้ทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แค่มีกาสิโน และสถานบันเทิงอื่นประกอบ 4 กิจการก็ได้

...

ส่วน “นักลงทุนต่างด้าว” ยังได้รับยกเว้นจากการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และยกเว้นข้อกำหนดต้องมีกรรมการอย่างน้อย 5 คน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีถิ่นที่อยู่ในไทย ยกเว้นข้อกำหนดเรื่องเงินส่งใช้ค่าหุ้นงวดแรกต้องมิให้น้อยกว่า 25% ของมูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ด้วย ถ้าได้ใบอนุญาต “ไม่พร้อมเปิด” ก็ขยายเวลาให้ได้อีก

แม้แต่จะทำธุรกิจนอกเหนือที่ขอรับอนุญาตจ้างต่างด้าวในกาสิโน การมอบให้คนอื่นทำแทน การจะโฆษณาก็ทำได้ขึ้นอยู่กับ “คณะกรรมการบริหาร” แถมให้กาสิโนปล่อยกู้เงินให้ผู้เล่นพนันเป็นหนี้ถูกกฎหมายได้ด้วย

ถ้าหากกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งใดก่อเกิดความไม่สะดวก หรือล่าช้า เพิ่มภาระดำเนินการโดยไม่จำเป็น ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอต่อ ครม.ปรับปรุง หรือมีกฎหมายใหม่ตาม ม.14 ส่วนบทโทษตาม ม.60,61,62 จะถูกบังคับใช้หรือไม่? หากฝ่ายสำนักงานเลขาธิการถูก Remote จากคณะกรรมการนโยบายนี้

ผลตามมาดัชนีคอร์รัปชันแย่ลง ถ้าอ้างสูตรสมการ C= (D+M)-A คือคอร์รัปชัน (C:Corruption) เท่ากับอนุญาต (M:Monopoly) บวกการใช้ดุลพินิจ (D:Discretion) ลบการตรวจสอบที่ไม่ตรวจสอบจริง (A:Accountability)

...

“เราจึงต้องคว่ำร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯฉบับนี้ไม่อาจปล่อยผ่านได้ เพราะเป็นอันตรายต่อสังคมจากวิธีคิดไม่เข้าตามตรอกออกตามประตูเนื่องจากการจะใช้การพนันเป็นเครื่องมือสร้างเม็ดเงินจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ดังนั้นควรปรับปรุง พ.ร.บ.การพนันให้แข็งแรงก่อนออกกฎหมายใหม่” ธนากรว่า

นี่เป็นเสียง “ภาคประชาสังคม” ชี้จุดอ่อนร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฉบับใหม่ และเรียกร้องรัฐบาลทบทวนอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม