ภาษาช่างโบราณ “ลงรักปิดทอง” ผมมโนตามได้ แต่อีกคำ “ลงทองร่องชาด” นึกถึงโต๊ะหมู่บูชาลงรักปิดทอง ชาดนั้นโชว์สีแดงสดใสอยู่ในหลุมในร่องลวดลายไม้

แต่บางครูท่านเขียน “ลงทองล่องชาด” “ล่อง” คำนี้ ก็พอมโนได้เป็นคำกริยา ตอนทาชาดลงเนื้อไม้

ทุกครั้งที่เขียน “ลงทองร่องชาด” หรือ “ลงทองล่องชาด” ผมก็สงสัยน่าจะมีคำที่ถูกแน่ๆสักคำหนึ่ง

ในหนังสือ “เกร็ดภาษา หนังสือไทยฉบับปรับปรุง (สถาพรบุ๊คส์ พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ.2560) ส.พลายน้อย ใช้คำ “ลงทองล่องชาด” วันหนึ่งไปคุยกับเจ้าของร้านขายโต๊ะหมู่ ได้ความว่า แต่ก่อนเครื่องปิดทองต่างๆก็ต้องทาด้วยชาด ซึ่งเป็นที่มาของคำพูด “ปิดทองล่องชาด”

คือเอาชาดทาในส่วนที่ลึกลงไป เพื่อให้ลายนูนที่ปิดทองดูเด่นขึ้น

แต่โต๊ะหมู่สมัยใหม่ไม่ได้ใช้ชาดทาแล้ว เพราะชาดราคาแพง หันไปใช้สีแดงสมัยใหม่

แต่สีแดงสมัยใหม่ ไม่สดทนนานเหมือนสีของชาด เจ้าของร้านยังมีตัวอย่างของเก่าสมัยอยุธยาให้ดู แดงแบบชาดต้องแดงอย่างนี้ ทิ้งไว้นานแค่ไหนสีก็ไม่จืด จึงเป็นที่มาของคำพูดเปรียบเปรยคนดี คนไม่ดี...

ชาดดีสีมันก็ต้องแดง ชาดไม่ดีสีก็ไม่แดง

เริ่มต้นด้วยสีชาด ส.พลายน้อย ไปต่อ...สำนวนภาษาเกี่ยวกับสีมีอยู่หลายคำ สมัยหนึ่งเราชอบพูดกันว่าใส่ร้ายป้ายสี หมายความถึงพูดให้ผิดไปจากความจริง ผิดสี หมายถึงคนละพวก

ทหารบกใช้สีขี้ม้า ตำรวจใช้สีกากี ซึ่งผิดสีกันคนละเหล่า

ยังมีคำ “ระบายสี” หมายถึง พูดให้เกินเลยความจริงไปมากๆ บางเรื่องมีนิดเดียว แต่พูดให้ดูใหญ่โตมากเรื่อง คุณทักษิณพูดในทีวีเดอะเนชั่น คนฟังกันทั้งบ้านเมืองเมื่อสองสามวันก่อน คดี ม.112 ที่กำลังต่อสู้ในศาล

...

มาจากมีคนตั้งใจใส่ร้ายป้ายสี แปลความหมายคำฝรั่งที่แกให้สัมภาษณ์นักข่าวฝรั่งไปอีกอย่าง นี่เป็นตัวอย่างความหมายของคำใส่ร้ายป้ายสี

ใส่ร้ายป้ายสี ระบายสี เจอกันแล้วทั้งนั้น ไม่ว่า เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ไปถึงผู้มีบารมีระดับผู้นำจิตวิญญาณ

ยังมีสำนวนเก่าเกี่ยวกับสี ในหนังสือบทละครเรื่องคาวี พระราชนิพนธ์ ร.2 ตอนที่นางจันท์สุดาลวงถามเรื่องพระขรรค์ (คาวีถอดชีวิตฝากไว้ในพระขรรค์)

คาวีย้อนว่า ยายเฒ่าทัศประสาทยุให้มาถามหรือ? นางจันท์สุดา ไม่กล้าบอกความจริง พูดเฉไฉไปอีกอย่าง ดังคำกลอนว่า “เมื่อนั้น จันท์สุดากล่าวแกล้งแสร้งใส่สี บิดเบือนเอื้อนอำทำวาที..”

ใน “สี” ทั้งหมดที่กล่าวมา ส.พลายน้อยบอกว่า คำว่าสีกากี เราใช้กันจนเคยชินไม่สงสัยทำไมเรียกสีกากี

ได้ยินมาจากท่านผู้ใหญ่ เหตุที่เรียกสีกากี เพราะสีนี้เหมือนกับสีแผ่นดินในประเทศอาหรับ ซึ่งเต็มไปด้วยทะเลทราย สีของทรายเหมือนสีผ้ากากีมาก ทั้งคำอาหรับก็เรียกดินว่า “กากี”

การเรียกสีของไทยมักใช้เปรียบเทียบกับสีตามธรรมชาติ สีของเครื่องใช้ เช่น สีทับทิม สีปูนแห้ง สีไพล

มีสีประหลาดสีหนึ่ง คือ “สีเทา” บางท่านว่าน่าจะมาจากสีขี้เถ้าในเตาไฟ ขี้เถ้ามีคุณ สมัยสงครามใช้ต่างสบู่ ตอน ส.พลายน้อยเขียน ยังไม่ใช้คำสีเทา เปรียบเทียบกับข้าราชการหรืออาชีพที่ครึ่งดีครึ่งร้าย

อีกคำ สีที่นำมาจากสีผลไม้ “สีส้ม” ตอน ส.พลายน้อยเขียน ยังไม่มีพิพาทการเมืองสีเหลือง สีแดง...

มาตอนนี้ มีคนเอาสีเหลืองสีแดงมาผสมกัน กลายเป็นสีส้ม..สีทางการเมือง เป็นสีพรรคที่มีคนเลือกตั้งมากที่สุด แต่น่าเสียใจ ที่ผู้นำพรรคตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทั้งพรรคยังถูกยุบเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่ แต่สีส้มยังไม่เปลี่ยน

หากมีคำถามในจำนวนสี สีอะไรคนรักมากกว่า คำตอบก็คือสีส้ม..ไง หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง

ส่วนสีแดง ผมไม่แน่ใจ เป็นสีชาดทนทานหรือสีแดงสมัยใหม่ มีเสียงคุณทักษิณบอกดังๆ เลือกตั้งครั้งหน้า จะมาเป็นที่หนึ่งจะจริงแท้หรือไม่ ผมบอกแล้วไง เรื่องของสีเปลี่ยนแปลงได้เสมอ.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม