สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ “หนี้สินครัวเรือนคนไทย” ที่น่าห่วงตัวเลขสูงติดอันดับโลกจากหนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคลที่โตเร็วเป็นปัจจัยต่อการบริโภค และฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะยาว

ต้นตอหนี้ครัวเรือนสะสมนี้ไม่เพียงเกิดจาก “มรสุมเศรษฐกิจต้องเจอมาต่อเนื่องเท่านั้น” แต่ยังมาจากพฤติกรรมการใช้จ่าย และการก่อหนี้ของคนที่ขาดวินัยทางการเงินที่ดี เรื่องนี้ ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าผ่านสภาผู้บริโภค LIVE หัวข้อวิกฤติหนี้หายนะประเทศว่า

หนี้ครัวเรือนค่อนข้างย่ำแย่อยู่ใน “ขั้นวิกฤติ” ในปี 2566 ภาพรวมทั้งประเทศมียอดค้าง 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.9 ต่อ GDP เป็นระดับตัวเลขคนไทยมีหนี้ 90.9% ของเงินเดือน ส่วนที่เหลือ 9.1% ไว้ใช้จ่ายดำรงชีพ

ทำให้มียอดค้างหนี้เกิน 90 วัน กลายเป็น “หนี้เสีย (NPL) 1.1 ล้านล้านบาท” สะท้อนให้เห็นว่าคนไม่อาจชำระหนี้ได้เกิน 3 งวด ในระดับมากขึ้นจนถูกฟ้อง 2 ล้านคดี เป็นคดีแพ่ง 1.2 ล้านคดี และมีสถิติถูกบังคับคดี 3.3 ล้านคดี

...

ประการต่อมา “หนี้ที่ไม่เป็นธรรม” เรื่องการกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท ต้องเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ “ในบางครั้งก็เกิดจากข้อตกลงไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้ส่งผลให้ชำระหนี้ไม่ได้ก็มี” แต่ว่าการจ่ายหนี้ไม่ได้นั้นกลับมองเป็นปัญหาที่เกิดจากลูกหนี้นำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยการเน้นสร้างวินัยในการใช้จ่าย

ทั้งที่ลูกหนี้เจอกับ “การกู้ยืมเงินไม่เป็นธรรม” บางคนไม่ได้เห็นแม้แต่สัญญาถูกกำหนดดอกเบี้ยที่สูงมากเกินไปกลายเป็นต้นเหตุให้ชำระหนี้ไม่ได้เช่น “หนี้นอกระบบ” ทำให้ลูกหนี้ต้องวนเวียนการเป็นหนี้ไม่มีวันสิ้นสุด

เช่นนี้ต้องมอง “อีโคซิสเต็ม (ecosystem) ของหนี้ทั้งหมด” แล้วแก้หลายจุดไปพร้อมกันเพราะความไม่เป็นธรรมนี้ไม่ใช่มีเฉพาะหนี้นอกระบบเท่านั้น แต่ในระบบก็เกิดขึ้นอย่างกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปกติอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้จะถูกปรับ 18% ต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ล้านคน ส่วนใหญ่มีฐานะไม่ดี

ทำให้เกิดเป็นหนี้เสีย 2.4 ล้านคน “ก่อความไม่เป็นธรรมต่อผู้กู้” จนต้องแก้กฎหมายปรับลดดอกเบี้ยลงมา 0.5% ต่อปี มีผลบังคับใช้เดือน มี.ค.2566 ทั้งปรับลำดับการตัดหนี้ใหม่ให้ตัดเงินต้นก่อน แต่การช่วยเหลือนี้มิได้ทำให้ดีกว่าลูกหนี้ชำระหนี้ดี เพราะค่าปรับยังต้องจ่ายเพียงแต่ทำให้ค่าปรับสมเหตุสมผลให้การกู้ยืมเป็นธรรมขึ้น

หากย้อนมาดูปัญหา “ข้าราชการติดหนี้สูง” สาเหตุมาจากจ่ายหนี้ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าความเสี่ยงของสินเชื่อ เพราะสินเชื่อที่กู้ยืมนั้นเป็นรูปแบบไพรเวทเครดิตโดยส่วนราชการเป็นผู้หักเงินเดือนส่งให้แก่เจ้าหนี้ “หนี้เสียอาจมีนิดเดียว” แต่บางหน่วยงานอย่างครู ตำรวจ ก็พบการเก็บดอกเบี้ยแพงเกินกว่าที่จะเป็น

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมการกู้ยืมเงินให้อยู่ในศักยภาพ “ตามหลักสากลการใช้หนี้ต้องไม่เกิน 50% ของเงินเดือน” แต่ด้วยปัจจุบันไม่มีการควบคุมการกู้ยืมเงินส่งผลให้มีการกู้กันเกินศักยภาพตัวเองกลายเป็นเงินเดือนทั้งหมดถูกนำใช้หนี้จนไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สุดท้ายต้องใช้บัตรเครดิต หรือกู้หนี้นอกระบบแทน

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ “ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง” โดยปกติระบบการเงินยอดหนี้ครัวเรือน 16.2 ล้านล้านบาท “มีข้อมูลในเครดิตบูโร 13–14 ล้านล้านบาท” แต่ยังขาดข้อมูลหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการ 2 ล้านล้านบาท เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลหนี้แต่ละคนจึงทำไม่ได้

เทียบกับต่างประเทศกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยกู้ส่งข้อมูลเครดิตให้หน่วยงานกลางสามารถตรวจเช็กสถานะการเป็นหนี้แต่ละคนได้ ดังนั้นเรื่องนี้ประเทศไทยต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อควบคุมการกู้ไม่ให้เกินศักยภาพ

...

“ตอนนี้หลายคนกู้เงินเกินศักยภาพเมื่อเจ้าหนี้เรียกเก็บไม่เหลือใช้ดำรงชีวิต แต่ถึงจะเป็นหนี้ก็มีสิทธิเหลือเงินดำรงชีพในฐานะมนุษย์โดยเฉพาะครูกว่าครึ่งเหลือเงินจากจ่ายหนี้ไม่ถึง 30% ของเงินเดือน ส่วนตำรวจ 5 หมื่นคนเหลือเงินใช้ 30% และ 9 พันคน มีเงินต่ำกว่า 2 พันบาท/เดือน จนโฟกัสงานไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้ด่วน” ดร.ขจรว่า

ประเด็น “ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดี” เรื่องนี้มีความสำคัญมาก “ลูกหนี้” ไม่ควรเพิกเฉยการไปศาลมิเช่นนั้นต้องเสียเปรียบทุกด้าน เพราะเคยมีกรณีเจ้าหนี้ลักไก่นำคดีหมดอายุ 10 ปี นำมาฟ้องคดี เช่นนี้หากลูกหนี้ไม่ไปศาลอาจต้องถูกคำพิพากษาตามที่ฟ้องคดีก็ได้ กรณีอย่างนี้ผู้บริโภคต้องรู้หากถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ไปศาลเพื่อไปสู้คดี

แล้วต้องรู้สิทธิ และศักยภาพการกู้ยืมเงินตัวเอง เรื่องนี้เคยผลักดันให้อยู่หลักสูตรโรงเรียนด้วยเพราะมีเด็กอายุ 15 ปี เป็นหนี้ส่วนบุคคลบัตรเครดิต แล้วต้องเข้าใจบัตรเครดิตเหมาะกับคนชำระหนี้ได้หมด มิเช่นนั้นจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้งก้อนแม้จ่าย 90% ก็ถูกคิดดอกเบี้ย 100% ยิ่งคนจ่ายเฉพาะอัตราขั้นต่ำอาจต้องวนเวียนการเป็นหนี้อีกนาน

...

ทว่าเรื่องหนี้ “รัฐบาล” ได้ตั้ง คกก.กำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ทั้งหนี้ กยศ. หนี้ข้าราชการ หนี้เช่าซื้อรถ หนี้บัตรเครดิต

ทั้งขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนทางการเงิน และศึกษาโครงสร้างทางกฎหมายที่อาจต้องแก้ให้สอดรับสถานการณ์ “สิ่งนี้ล้วนเป็นวาระสำคัญของประเทศ” เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นมักกระทบเศรษฐกิจอย่างเช่น คนมีเงินเดือน 10,000 บาท ใช้หนี้ 9,000 บาท “ย่อมไม่มีกำลังซื้อ” ก็ต้องมีผลต่อเศรษฐกิจตามมาในที่สุด

...

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สนง.สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้ไม่เป็นธรรมมามากมาย “คิดเป็นมูลค่า 501 ล้านบาท” แยกเป็นปัญหาคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้สัญญาไม่เป็นธรรมจากผู้กู้เงินไม่เห็นสัญญา หรือไม่มีความรู้กฎหมายกู้เงิน 2,000 บาท ต้องทำลายลักษณ์อักษร

แล้วต้องได้สัญญากลับบ้านให้รู้ว่า “เงินต้น-ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเท่าใด” เมื่อไม่ได้รับสัญญาก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยโหด นอกจากนี้ยังมี “การเรียกเก็บค่าทวงหนี้ไม่เป็นธรรม” ด้วยเรียกเกินกฎหมายกำหนด 150 บาท/ครั้ง หรือส่ง SMS ทวงถามค่าโทรศัพท์ 1 บาท แต่เรียกเก็บ 150 บาท ก็เกิดความไม่เป็นธรรมทำให้ผู้บริโภคเป็นหนี้มากขึ้น

สิ่งนี้ล้วนเกี่ยวกับหนี้ที่ “ทุกคนไม่ต้องการกู้เงิน” แต่ด้วยมีเหตุต้องใช้เงินทั้งค่าหนังสือลูก คนในครอบครัวป่วยกะทันหัน ทำธุรกิจแล้วไปไม่รอด เมื่อ “สภาผู้บริโภค” ได้รับเรื่องก็จะเข้าไปช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีต่อไป

นี่เป็นสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนคนไทย” ที่เป็นปัญหาใหญ่ต้องแก้ไขเร่งด่วนมิเช่นนั้นก็เป็นปัจจัยฉุดรั้ง “การฟื้นตัวเศรษฐกิจ” แถมเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุกระทบเสถียรภาพระบบการเงินเมื่อใดก็ได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม