วันนี้ (19 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่


ปัจจุบัน (19 ส.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,803 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 31,534 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,059 ล้าน ลบ.ม. (48% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,800 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ


โดยที่สถานีวัดน้ำ C2. อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำทางตอนบน โดยจะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อทดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มทรงตัว กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 19-25 ส.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในช่วงวันที่ 23-25 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงสถานีโทรมาตรและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ล่วงหน้า 3-7 วัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ พิจารณาพร่องน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การประมง และพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที ตามนโนบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์