“มูลนิธิชีววิถี” เฟซบุ๊กเพจ “BIO THAI” สื่อสะท้อนสถานการณ์ความไม่ปกติ ข้อสงสัยกรณีส่งออก “ปลาหมอคางดำ”... หลังจากเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 พบการอัปโหลดไฟล์เอกสารชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ” โดยผู้เขียนนิรนามที่ใช้นามแฝงว่า NightHawk นอกเวลาราชการ

ซึ่งเป็นบทความที่ตั้งใจให้ข้อมูลเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำ โดยอัปโหลดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจากการร้องเรียนของประชาชน และต่อมาเมื่อการระบาดแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในปี 2567

จนมี “แรงกดดันทางสังคม” ให้นำผู้ที่เป็นต้นเหตุมารับผิดชอบนั้น ซึ่งบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้อ้างอิงข้อมูลดังกล่าว เพื่อกล่าวโทษว่าเกิดจากการกระทำของ...“กลุ่มปลาสวยงาม” โดยยกข้อมูลการส่งออก “ปลาหมอสีคางดำ” เป็นเหตุผลสนับสนุน

เพื่อตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลของบุคคลดังกล่าว ฝ่ายข้อมูลไบโอไทยจึงได้เข้าตรวจสอบฐานข้อมูลการส่งออกสัตว์น้ำของกรมประมงแต่กลับพบพิรุธ กล่าวคือ..ข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ปี 2556-2566 กลับถูกอัปเดตในเวลาเดียวกันหมด (2024-07-09) หรือวันที่ 9 ก.ค.2567

ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่มีการเผยแพร่เอกสารผ่านสื่อต่างๆ เพื่อโยนความผิดการระบาดของปลาหมอคางดำว่าเกิดจากกลุ่มปลาสวยงามที่นำเข้ามา (แต่ไม่มีหลักฐานใดรองรับ) และส่งออก (อ้างหลักฐานจากไฟล์ชื่อ “ปลาหมอสีคางดำ”)

...

เมื่อไบโอไทยเข้าไปดูฐานข้อมูลของกรมประมง ซึ่งคาดว่าจะถูกแก้ไขเพื่อให้รองรับกับบทความ “ปลาหมอสีคางดำ” เช่น ฐานข้อมูลการส่งออกในปี 2556 พบรายการส่งออก 40 รายการ ไปยัง 11 ประเทศ

สหรัฐอเมริกา คูเวต รัสเซีย ตุรกี อิหร่าน ปากีสถาน มาเลเซีย เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซิมบับ อาเซอร์ไบจาน โดยบันทึกชื่อการส่งออกว่าเป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron (ซึ่งตรงกับชื่อปลาหมอคางดำที่เป็นชื่อสามัญที่เรียกกันในปัจจุบัน)

ข้อสังเกตคือ ชื่อ “ปลาหมอเทศข้างลาย” เป็นชื่อที่บริษัทเอกชนเมื่อปี 2553 ขอให้กรมประมงเรียกเปลี่ยนชื่อปลา Sarotherodon melanotheron ที่นำเข้า จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า “ปลาตระกูลปลานิล” เป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย”...?

เมื่อเข้าไปดูฐานข้อมูลของกรมประมงเพิ่มเติมในปี 2558 ซึ่งถูกแก้ไขพร้อมๆกัน พบว่ามีการใช้ชื่อ “ปลาหมอเทศข้างลาย” ของ Sarotherodon melanotheron เหมือนกันกับปีก่อนหน้านั้น โดยพบการส่งออกทั้งหมด 16 รายการส่งไปยังประเทศต่างๆ 4 ประเทศ...ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย ญี่ปุ่น

เพื่อตรวจสอบว่ามีการแก้ไขไฟล์ดังกล่าวหรือไม่ ได้มีการเปรียบเทียบในเอกสารไฟล์ pdf ของด่านประมง สนามบินสุวรรณภูมิ ปี 2558-2559 ซึ่งให้ข้อมูลการส่งออกอย่างละเอียด กลับพบว่า...ไม่มีรายการส่งออก “ปลาหมอเทศข้างลาย” หรือปลาอื่นใดที่ใช้ชื่อว่า “Sarotherodon melanotheron” แต่ประการใด

น่าสนใจว่า..ข้อมูลที่ได้นี้ ขัดแย้งกับฐานข้อมูลของกรมประมง

จากการตรวจสอบนี้ เชื่อได้ว่ามี...มือนิรนาม ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันกับ NightHawk ที่เข้าไปแก้ไขฐานข้อมูลล่าสุด ในวันที่ 9 ก.ค.2567 (หรืออาจก่อนหน้านั้นด้วย) เพื่อให้ข้ออ้างที่ว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำระหว่างปี 2556-2559 นั้นสอดคล้องกับฐานข้อมูลของกรมประมง

ทั้งนี้ เพื่อโยนความผิดให้กับ...กลุ่มปลาสวยงาม

นอกจากนี้ “มูลนิธิชีววิถี” ยังจับพิรุธไฟล์เอกสารปริศนาในเว็บไซต์ “กรมประมง”...เสนอข้อมูล “ปลาหมอสีคางดำ” ส่งออกเป็นปลาสวยงาม ข้อหนึ่ง..ไม่มีชื่อผู้เขียนเอกสารหรือรายละเอียดต้นสังกัดของผู้เขียน โดยเมื่อตรวจสอบเชิงลึกจากการตรวจสอบรายละเอียดไฟล์และการอัปโหลดพบว่า Author ชื่อ NightHawk

ถัดมา...ใช้ชื่อเอกสารว่า “ปลาหมอสีคางดำ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นให้เห็นว่าเป็นปลาสวยงาม ข้อสาม...ภาพประกอบบทความเลือกปลาหมอคางดำที่มีสีสัน ซึ่งพบได้ยากตามธรรมชาติในพื้นที่ระบาด แทนที่จะเป็นภาพทั่วไปของปลาหมอคางดำ

ข้อที่สี่...บทความนี้ไม่มีลายน้ำกรมประมงในไฟล์ pdf เหมือนกับบทความหลักชื่อ “ปลาหมอคางดำ” ของ ดร.ชัยวุฒิ สุดทองคง ซึ่งเป็นบทความหลักที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปลา การระบาด และการจัดการแก้ปัญหา (เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2560 เผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2560)

...

ข้อที่ห้า...เป็นเอกสารขนาดสั้นมีความยาว 4 หน้า (หน้าแรกมีพื้นที่ว่างเกือบครึ่งหน้า) โดยจงใจใส่เนื้อหาเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำเข้าไปโดยไม่เข้ากับบริบทของเอกสาร เหมือนมีเจตนาต้องการให้ใช้ลิงก์บทความนี้สำหรับอ้างอิงว่ามีการส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงาม

ข้อที่หก...เอกสารนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นไฟล์ pdf และอัปโหลด เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจากการร้องเรียนของประชาชนและจัดทำเป็นเอกสารรายงานผลการตรวจสอบ (วันที่ 13 กันยายน 2560-วันที่ 25 เมษายน 2561)

ข้อที่เจ็ด...มีการอ้างอิงเพื่อใช้เอกสารนี้อย่างแพร่หลายอีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคมปี 2567 หลังปลาหมอคางดำระบาดจนก่อความเสียหายและมีเสียงเรียกร้องให้เอกชนที่นำเข้าต้อง
แสดงความรับผิดชอบ

น่าสนใจว่า..ลิงก์ของเอกสารปริศนานี้ ปรากฏว่า..ถูกใช้ในสื่อและบทความ ซึ่งคาดว่าผลิตโดยหรือจูงใจให้ผลิต เพื่อเผยแพร่โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง?

มหากาพย์ “ปลาหมอคางดำ”...อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ใคร? จะเป็น “โจรใจบาป” ต้องพิสูจน์ต้นสายปลายทางกันให้รอบด้านครบทุกมิติ ไปให้สุดแล้วหยุดที่...ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว?

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม