ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ว่าที่ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คนที่ 4 หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 เห็นชอบแต่งตั้งตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกระทรวง อว.เสนอ
ย้อนหลังไปตั้งแต่ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ศุภชัย ดำรงตำแหน่งรองปลัด อว.ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษา ซึ่งเป็น “ขาที่ใหญ่ที่สุด” ของกระทรวง อว.ผ่านนโยบายสำคัญทั้งในเรื่องของ “Life long learning” หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต, การจัดทำ “ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ” เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย, การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ “หลักสูตร Sandbox” ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาก้าวข้ามข้อจำกัดในการจัดการศึกษาสามารถออกแบบและจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เป็นนวัตกรรมอุดมศึกษาได้, การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายประเทศ เป็นต้น
...
อย่างไรก็ตาม งานในฐานะปลัดกระทรวง อว.คนใหม่ถือเป็นความท้าทายว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับกระทรวง อว.ที่ดูแลทั้งเรื่องของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และจะมีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะเพื่อตอบโจทย์ประเทศได้หรือไม่
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” ขอทำหน้าที่สะท้อนมุมมองและทรรศนะของบุคคลสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับด้าน อววน.รวมทั้งข้อคิดที่มีต่อว่าที่ปลัดกระทรวง อว.คนใหม่ เพื่อส่องทิศทางการทำงานด้าน อววน.ในอนาคต
นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในฐานะประธาน ทปอ.ได้ร่วมทำงานกับ ศ.ดร.ศุภชัย มาเกือบ 2 ปี พบว่า ศ.ดร.ศุภชัยมีความเข้าใจในเรื่องของระบบอุดมศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษาให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันหรือแม้กระทั่งนโยบายสอบ TCAS ปี 2567 ในรอบแอดมิชชันที่ให้นักเรียนแต่ละคนสามารถสมัครเลือกคณะ 1-10 อันดับได้ฟรีเป็นครั้งแรกในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาล และ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวมทั้งมีส่วนผลักดันนโยบายรัฐบาลในการสร้างบุคคลบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่การผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น แต่สิ่งที่อยากฝากคือขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องของการปฏิรูประบบอุดมศึกษารวมทั้งการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทั้งเรื่องของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และระบบงบประมาณ เป็นต้น
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกันกับ ศ.ดร.ศุภชัย ในบอร์ด TCELS ศ.ดร.ศุภชัย เป็นคนที่เข้าใจระบบงานวิจัยของประเทศและเข้าใจระบบอุดมศึกษา เพราะเคยอยู่มหาวิทยาลัยมาก่อน ขณะที่งานในกระทรวง อว.ที่ดูแลทั้งงานด้าน อววน.ถือว่า ศ.ดร.ศุภชัย เข้าใจบริบทของงานที่รับผิดชอบดีมากและเป็นคนกล้าตัดสินใจ ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงในกระทรวง คงต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีเป็นหลัก เชื่อว่า ศ.ดร.ศุภชัย จะสามารถตอบสนองนโยบายรัฐมนตรีได้ดี เพราะเข้าใจงานของกระทรวง อว.ดีอยู่แล้ว
...
สำหรับ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ศ.ดร.ศุภชัย ดำรงตำแหน่งรองปลัด อว.มา 4–5 ปี เป็นตัวหลักของกระทรวง โดยเฉพาะเรื่องอุดมศึกษา ซึ่งเป็นขาหลักของกระทรวง อว. เป็นคนทำงานไว ทำงานเก่ง อ่อนน้อมถ่อมตน ชอบช่วยเหลือผู้คน ที่สำคัญเป็นคนยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติมาโดยตลอด ที่สำคัญ ศ.ดร.ศุภชัย มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดแก่ประเทศชาติ จนชาวมหาวิทยาลัยรักและชอบ ศ.ดร.ศุภชัย มาก เชื่อว่าจะเป็นปลัดกระทรวงที่ดีคนหนึ่งเพราะเป็นคนที่ไม่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบ
ส่วน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.กระทรวง อว. เล่าว่า เคยทำงานร่วมกับ ศ.ดร.ศุภชัย ในการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องใช้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อน รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จนประสบความสำเร็จ และได้ร่วมกันทั้งนโยบายยุวชนสร้างชาติ นโยบาย 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นต้น สิ่งที่อยากฝากคือ วันนี้ โลกไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไปแล้ว กระทรวง อว.จะต้องปฏิรูปอุดมศึกษาและต้องเร่งยกเครื่องการอุดมศึกษาไทยทั้งระบบตลอดจนกลไกการขับเคลื่อน เพื่อสร้างคน สร้างความคิด ขณะที่ด้านวิจัยต้องเร่งแก้ เพราะงานวิจัยวันนี้ตอบโจทย์ผู้วิจัย แต่ไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่ตอบโจทย์เอกชน ไม่ตอบโจทย์ชุมชน ต้องทำวิจัยเพื่อไปสู่นวัตกรรมและทำได้จริง
...
ขณะที่มุมมองภาคเอกชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทกลุ่มน้ำตาลมิตรผลและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ศ.ดร.ศุภชัย ต้องเร่งปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมสมัยใหม่และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพ การศึกษา และการจ้างงาน เราต้องการคนที่มีทักษะอาชีพในอนาคตที่ขาดแคลน และมีความต้องการสูงในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นระบบการศึกษาด้านอุดมศึกษาต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพที่เปลี่ยนไปด้วย
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” หวังว่ามุมมองของบุคคลสำคัญๆที่ทำงานด้าน อววน.ที่สะท้อนและส่งต่อแนวคิดถึงว่าที่ปลัดกระทรวง อว.คนใหม่นี้ จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานเพื่อนำพาประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ ไม่มากก็น้อย
...
จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับปลัด อว.คนใหม่ที่ต้องพิสูจน์ศักยภาพและฝีมือ ในการสานฝันบรรดาบิ๊ก อววน. และประชาชน ว่าเป็น “ของจริง” หรือแค่ “ภาพฝัน”.
ทีมข่าวอุดมศึกษา
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่