วันนี้ (19 ส.ค. 67) เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้า และงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครั้งที่ 1 โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง นายชูชีพ ธรรมเพชร นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พัฒนาการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ นายอำเภอ พัฒนากร ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทุกคนคือผู้สนองงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมุ่งสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการผลักดันให้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยได้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลูกหลานผู้เป็นความหวัง เป็นอนาคตในการให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการสืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษและนำองค์ความรู้จากครูบาอาจารย์ ตลอดจนคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกมาต่อยอดให้ผลงานมีความยั่งยืน โดยมีข้าราชการเป็นโซ่ข้อกลางในการน้อมนำพระราชปณิธานด้วยความตั้งใจและความตระหนักถึงความสำเร็จของการที่พี่น้องประชาชนจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ดังที่เราได้รับพระกรุณาคุณอย่างเต็มเปี่ยมและเต็มที่อย่างยาวนานมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" อันเป็นส่วนขยายพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" อันเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของการคิด ทบทวน ตรวจสอบชีวิตการทำงานที่ผ่านมาถึงปัจจุบันว่าอะไรทำให้เกิดความสำเร็จ อะไรทำให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืน

"เพราะพระราชดำรัสที่ว่า "แก้ไขในสิ่งผิด" สะท้อนให้เราได้ตระหนักใน 2 เรื่อง คือ 1) "สิ่งที่ดีงามของบรรพบุรุษ" ที่ถูกส่งผ่านให้พวกเราในปัจจุบัน แต่การดำรงชีวิตที่ผ่านมาในทุกเรื่อง อาจมีบางส่วนที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อน กระทั่งสิ่งที่ดีงามถูกหลงลืม เช่น เราคิดว่าการมีรายได้จากเงินเดือนจะทำให้เรามีชีวิตรอด แต่แท้จริงแล้วความยั่งยืนของชีวิตมันไม่เกิด เพราะเราใช้เงินในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ซึ่งแท้จริงแล้ว "เงินไม่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่อง" แต่ "การพึ่งพาตนเองสามารถทำให้ชีวิตยั่งยืนได้" โดยหากเราสามารถพึ่งพาตนเอง มีความมั่นคงด้านอาหาร ปลูกพริกขี้หนู ตะไคร้ มะนาว กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า เลี้ยงไก่ไข่ไว้ทำพะโล้ ทำไข่ต้ม โดยไม่ต้องซื้อ เมื่อเสื้อผ้าขาด ก็สามารถปะชุนเสื้อผ้า เย็บผ้าด้วยตนเองได้ด้วยภูมิความรู้ของเราเอง และ 2) การนำหลักการดูแลช่วยเหลือเจือจุนด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อันเป็น "วิถีไทย" ที่ดีงามได้กลับคืนมา ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" โดยไม่ต้องมีเครื่องแบบ ไม่ต้องฝึกอบรม แต่ "เป็นจิตอาสาโดยพฤตินัย" มีความรัก ความสามัคคี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่ง "เราทุกคนเป็นจิตอาสาโดยพฤตินัยได้ แต่ต้องทำตนเองให้ดีก่อน" คิด ทบทวน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ดัง "ดร.จุมพล ทองตัน" หรือ "โกไข่" และพี่น้องภาคีเครือข่ายชาวจังหวัดพังงาผู้มุ่งมั่นในการ "แก้ไขในสิ่งผิด" ด้วยจิตอันเป็นกุศลในการสนับสนุนลูกหลานคนพังงาให้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในด้านงานวรรณศิลป์ ศิลปะ ทัศนศิลป์ต่างๆ ที่สังคมไทยเราให้ความสำคัญและส่งเสริมด้านความงดงามของศิลปะค่อนข้างน้อยกว่าด้านอื่น แต่ถือเป็นความโชคดีของลูกหลานชาวพังงาที่ "โกไข่" ได้เป็นผู้ริเริ่มในการเชิญชวนให้ศิลปินที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ ได้พากันนำเอาความรู้ความสามารถมาช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานชาวพังงาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ได้พัฒนาตนเองในด้านของศิลปะด้านต่างๆ รวมพลังจัดตั้งกองทุน “พี่ร้องให้น้องได้เรียนจังหวัดพังงา” ขึ้นมาได้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 รวมถึง "คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก" ที่เป็นจิตอาสา ทำให้ปลายน้ำของผืนผ้าไทยเป็น "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" อย่างแท้จริง ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่การถักทอด้วยสีธรรมชาติ การออกแบบตัดเย็บ ช่องทางการตลาด โดยน้อมนำพระดำริของพระองค์ท่านที่ทรงเพียรพยายามและพระราชทานแนวทางให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือการ coaching สะท้อนว่า พระองค์ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงขอให้เราทุกคนที่มีโอกาสในวันนี้ได้ keep Connection ขอ contact ของคณะวิทยากร "อย่าให้วันนี้เป็นเพียงการมานั่งฟัง แต่เราต้องพุ่งหาผู้ทรงความรู้" เพื่อพวกเราตักตวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนสอบถามปรึกษาหารือในอนาคตต่อไป เพราะทุกท่านมาช่วยทำให้ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส และต้องทำทันที" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ข้าราชการทุกคนผู้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องร่วมกันเผยแพร่พระอัจฉริยภาพผ่านการขับเคลื่อนงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ต้องไม่เป็นลมเพลมพัดตามนโยบายผู้บริหาร ด้วยการแปรเปลี่ยนเป็นความมั่นคงยั่งยืน กล้าทำในสิ่งที่ดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในแง่พฤติกรรมการดำรงชีวิตส่วนตัวของตัวเอง และในแง่ของการทำงาน ดังเช่น นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ข้าราชการตัวอย่างผู้อุทิศตนเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน ได้แก่ 1) น้อมนำพระดำริ “Sustainable Fashion” สู่การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อำเภอชะอวด ตั้งเป้าผลิตเส้นไหมเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับกลุ่มทอผ้าแบบครบวงจร 2) มุ่งมั่นทำให้ศักยภาพของผู้หญิงดีขึ้น ด้วยการทำให้หนี้เสียของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนครศรีธรรมราชจากร้อยละ 30 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.25 กลายเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ 3) เป็นต้นแบบการนำนโยบายไปขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมด้วยการสื่อสารสังคม ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความตื่นตัว เกิดความภาคภูมิใจ และลอกเลียนแบบสิ่งที่ดีงาม และ 4) เป็นนักการตลาดที่ดี ด้วยการพัฒนาสินค้า OTOP จนถูกกล่าวขาน บอกต่อ

"การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ จะทำให้ผู้ร่วมทุกคนตระหนักถึง 1.แนวพระดำริ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปจินตนาการต่อยอดการพัฒนางานผ้าและงานหัตถกรรมให้เพิ่มมากขึ้น 2.ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจช่วยทำให้ภูมิปัญญาผ้าไทยกับงานหัตถกรรมไทยมีชีวิตที่ยืนยาว ด้วยการที่คนในสังคมให้การยอมรับและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อันส่งผลให้ต้นน้ำ (ภาคการผลิต) ได้มีกำลังในการออกแบบตัดเย็บและเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการหาสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดกลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ของงานผ้าไทยและหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย คือ มีคนใช้ คนซื้อ มีรายได้จุนเจือครอบครัว 3.เรียนรู้และเผยแพร่หนังสือ Thai Textiles Trend Book ที่นำเสนอ 4 กลุ่มสี คือ โอบอ้อมอบอุ่น สวรรค์เขตร้อน เงาแห่งอดีต และแพรวพราววาวฝัน (อ่าน E-book ที่ https://online.fliphtml5.com/rnqjs/tmaz/#p=2) จึงมีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมไทยสู่ตลาดสากล 2.การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมไทยตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย 3.การพัฒนานาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด 4.การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) 5.กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าตามคอนเทนต์ออนไลน์ และ 6.เทคนิคการจับคู่สีตามหนังสือ Thai Textile Trend Book" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า สำหรับองค์ความรู้การนำเสนอในหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” เล่มนี้เป็นความยาก ความท้าทายของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์งานด้วยแนวความคิดใหม่ ผ่านเทคนิคการผสมสี ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง การออกแบบดีไซน์ต่างๆ สะท้อนความรัก 4 มิติ คือ รักตัวเอง, รักสิ่งแวดล้อม, รักในอดีต และรักในอนาคต หรือ Love, Respect, Sentiment เป็นหัวข้อหลักของการนำเสนอในเล่มนี้ รวมทั้งมีการเชื่อมต่อทางภูมิปัญญา หรือ Wisdom ซึ่งจะมีอยู่ในทุกๆ เล่ม ตั้งแต่เล่มที่ 1-5 ซึ่งเป็นการกลับมาของภูมิปัญญา และการกลับมาทบทวนองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา รวมทั้งมีการวางพื้นฐานวิถีการทอผ้า เทคนิคการย้อมสี เพื่อเป็นการตอกย้ำทั้งในเรื่องของเทคนิค และหลักการพื้นฐาน รวมถึงการสืบทอด โดยยังคงเทคนิคพื้นฐานของการทอผ้าไทย ทั้งมัดหมี่, ยกดอก, เกาะ หรือล้วง, บาติก, ขิด, จก รวมทั้งมี 4 เทคนิคตามฤดูกาล ได้แก่ ผ้าทอเกล็ดเต่า, ผ้าทอเกล็ดเต่าใหญ่, ผ้ายกลายราชวัตรโคม หรือลายราชวัตรดอกใหญ่ และผ้าขิดลายดอกจันทร์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ช่วยกันเผยแพร่พระอัจฉริยภาพไปยังนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายทุกกลุ่ม โดยข้าราชการต้องเอาจริงเอาจัง ทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของวงจรผ้าไทยได้เกิดประโยชน์ เกิดคุณค่าต่อวิถีชีวิตประชาชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายศิริชัย กล่าวว่า ดีใจทุกครั้งที่ได้เดินทางมาจังหวัดปัตตานี เพราะเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของวิถีชีวิตที่สะท้อนผ่านลวดลายผ้ากลุ่มต่างๆ จึงขอฝากให้น้องๆ ได้นำองค์ความรู้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน

ดร.ศรินดา กล่าวว่า พระองค์ทรงเน้นย้ำคณะทำงานฯ อยู่เสมอว่า น้องๆ และผู้ประกอบการทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติก็จะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม "เราต้องไม่ได้แต่ดูแล้วคิด แต่ต้องฝึกเพื่อให้เกิด skills ต้องลงมือทำ เพื่องานจะได้เกิดเป็นรูปธรรม"

อ.นวัตกร กล่าวว่า ขอให้พวกเรามองเห็นคุณค่าในพื้นที่ เราเป็นเจ้าของต้องช่วยกันผลักดันและสร้างคุณค่าให้กับของที่เรามีอย่างเต็มที่เพื่อความสำเร็จ

คุณธนันท์รัฐ กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี เป็น Dreamland เป็นพื้นที่หลักที่เราจะเกิด "วิชชาลัยบาติกโมเดล" ในพื้นที่ 50 ไร่ ให้สำเร็จเหมือนดอนกอยโมเดล ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มารับรองมอบ certificate ให้กับน้องๆ ที่ไม่ได้ศึกษาในระบบให้มีวุฒิบัตรการประกอบอาชีพ ขอย้ำว่า "เด็กปักษ์ใต้มีทักษะ มีวิสัยทัศน์ แต่ต้องเติมเต็มเรื่องความกล้าแสดงออกและการนำเสนอ