ข่าวแจกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาคเอกชน “ปลาหมอคางดำ (สายสวยงาม)” ระบุข้อมูลต้นทางมาจากวงการปลาสวยงาม (ช่วงปี 2558–2559) พบว่า Blackchin Tilapia เป็นหนึ่งใน 17 กลุ่มปลาแปลก หรือ Exotic Freshwater Fish ที่นิยมเลี้ยงกันในต่างประเทศ

รวมถึงติดอันดับกลุ่มปลาที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นงานอดิเรก แม้แต่นักเล่นปลาสวยงามในไทยยังเคยโพสต์ถึงปลาตัวนี้ และติดแฮชแท็กว่า #โลกของปลาหมอ สายแท้ยังมีให้เล่นอีกเยอะ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีบริษัทไทยตอบสนองความต้องการในตลาดนี้?

อย่างน้อยก็ 11 บริษัทที่มีการส่งออกปลาตัวนี้ในช่วงปี 2556-2559 ไปถึง 17 ประเทศ ตามข้อมูลของ “กรมประมง”

เมื่อมีข้อมูลการ “ส่งออก” ปลาชนิดนี้อย่างชัดเจน จึงเป็นที่มาของการที่คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ได้เชิญ 11 บริษัทส่งออกปลาสวยงามมาชี้แจงในประเด็นการส่งออกปลาหมอคางดำ

ภายใต้ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron และชื่อสามัญ Blackchin tilapia ไปยัง 17 ประเทศ ระหว่างปี 2556-2559 ตามรายงานของกรมประมง เป็นจำนวนมากถึง 230,000 ตัว

ครั้งนี้..นับเป็นอีกครั้งที่ที่ประชุมมีความเคร่งเครียดในการหารือกันอย่างที่สุด

...

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงเคยชี้แจงไว้ว่า มีการส่งออกจริง แต่เป็นการส่งออกปลาชนิดอื่นและเกิดการกรอกเอกสารในระบบผิดพลาด ทำให้ในวันนั้นที่ประชุมได้ตั้งคำถามว่าเป็นการลงระบบผิดพลาดเหมือนกันหมดทั้ง 11 บริษัท และต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 ปี

รวมการลงระบบผิดถึง 212 ครั้ง...เป็นไปได้อย่างไร?

การเชิญ 11 บริษัทเข้าให้ข้อมูล แต่มาเพียง 5 บริษัท โดยทั้งหมดยืนยันว่าไม่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำ แต่เป็นการส่งออกปลาชนิดอื่น อาทิ ปลาหมอมาลาวี (ชื่อวิทยาศาสตร์ Protomelas taeniolatus) ปลาหลังเขียว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Sardinella gibbosa (Bleeker, 1849)) ปลาบู่หมาจู (ชื่อวิทยาศาสตร์ Brachy Gobius)

ซึ่งแต่ละชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์แตกต่างจากปลาหมอคางดำทั้งหมด การกล่าวอ้างว่าชิปปิ้งกรอกข้อมูลให้ปลาเหล่านี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron ชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อภาษาไทยว่า “ปลาหมอสีคางดำ” จึงดูไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธาน กมธ.อว. กล่าวว่า กรมประมงและบริษัทผู้ส่งออกปลาระบุว่าข้อมูลที่ผิดพลาดเกิดจากปลา 2 ชนิด (ปลาหมอมาลาวีและปลาหลังเขียว) ชื่อภาษาอังกฤษสะกดคล้ายกับปลาหมอคางดำ

อย่างไรก็ตาม กมธ.ยังติดใจการชี้แจงที่ว่านี้..จากกรณีที่เกษตรกรร้องเรียนการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จึงควรที่จะต้องตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชน..เพื่อหาสาเหตุให้รอบด้าน

ประเด็นสำคัญมีว่า..การนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศไทยแล้วเกิดแพร่ระบาดลุกลามขยายวงกว้างสร้างความเสียหายไปในหลายๆพื้นที่ จนกลายเป็น “อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม”

ข้อนี้จำเป็นต้องหาจุดเริ่มต้น จับต้นชนปลายให้ได้ เพื่อสาวให้ถึง “ต้นตอ” การแพร่ระบาด

ย้ำว่า “ราคา” ที่ต้องจ่ายจากหายนะ “ปลาหมอคางดำ” ในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศไทยเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังติดตาม เรื่องใหญ่อย่างนี้..ต้องมี “ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ” ตัวจริง

มหากาพย์เอเลี่ยนสปีชีส์ “ปลาหมอคางดำ” จึงยังคงไม่จบลงง่ายๆและเงียบๆ

ใคร? นำเข้าปลาหมอคางดำระบาดหนักจนเป็น “อาชญากรรม ทางสิ่งแวดล้อม” เลือดเนื้อผู้เดือดร้อนจงสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือสาปส่ง..“กรรมใดใครก่อ..กรรมนั้นคืนสนอง”

เพจ “BIOTHAI” ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำนับตั้งแต่ปลายปี 2554 และระบาดรุนแรงในปี 2559 กรมประมงได้ทำการสอบสวนและหาข้อมูลในเรื่องนี้ โดยผลการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2560 ไม่พบว่ามีการนำปลาหมอคางดำ มาผสมพันธุ์กับปลาหมออื่นๆที่เลี้ยงเป็นปลาสวยงามแต่อย่างใด

ตามเอกสารบันทึกของกรมประมงไปยังอธิบดีกรมประมง โดยกองควบคุมการค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กลุ่มควบคุมการนำเข้าส่งออก เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 เรื่อง..รายงานผลการประชุมหารือการส่งออกปลาหมอสีคางดำ (Sarotherodon melonotheron)

...

ผลการสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงปลาหมอสีมาลาวีและปลาครอสบรีด ถึงกรณีการมีการกล่าวอ้างว่ามีการนำ “ปลาหมอคางดำ” มาใช้ปรับปรุงพันธุ์

หนึ่ง..กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอครอสบรีด ประธานชมรมฯและสมาชิกให้ข้อมูลตรงกันว่า “ปลาหมอคางดำ” เป็นปลาในกลุ่มอมไข่ วิธีการเพาะเลี้ยงต่างจากปลาหมอครอสบรีด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาปรับปรุงพันธุ์ได้และลักษณะปลาหมอคางดำ ไม่มีจุดเด่นทั้งด้านรูปร่างและสีสันที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์

สอง..ผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอมาลาวีในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดนนทบุรี ให้ข้อมูลตรงกันว่าลักษณะปลาหมอคางดำไม่มีจุดเด่นทั้งด้านรูปร่างและสีสันที่จะนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ เนื่องจากปลาหมอมาลาวีเป็นกลุ่มปลาน้ำจืดที่มีสีสัน..ลวดลายสวยงามสะดุดตา มีรูปร่างและครีบดูสวยงาม...สวยกว่าปลาหมอคางดำ

จึงไม่มีความจำเป็นที่จะนำ “ปลาหมอคางดำ” มาผสมพันธุ์

ใคร? เล่นแร่แปรธาตุ..โบ้ยการแพร่ระบาด “ปลาหมอคางดำ” ให้เป็นเนื้อร้ายวงการปลาสวยงาม อีกทั้งข้อมูล..ตัวเลขการส่งออกปลาหมอคางดำในเว็บไซต์กรมประมง..ก็ยังมีข้อพิรุธน่าสงสัย? ปรับปรุงอัปโหลดข้อมูลแปลกๆ ชวนให้ติดตาม..เรื่องนี้จะทำให้ใครชอกช้ำระกำใจ.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม