โครงการตามพระราชดำริใน "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ" สร้างน้ำ-เพิ่มป่า-พัฒนาชีวิตแบบพอเพียง เป็นต้นแบบการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน และสร้างประโยชน์ในทุกมิติ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 67 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยมิทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยาก แม้หนทางจะทุรกันดารเพียงใด หวังเพียงให้พสกนิกรชาวไทยได้มีอาชีพ มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว และพึ่งพาตัวเองได้ ทรงนำงานศิลปะพื้นบ้านและงานหัตถศิลป์อันงดงามหลากหลาย ซึ่งเป็นฝีมือชาวบ้านมาส่งเสริมให้เป็นอาชีพ จนเกิดโครงการศิลปาชีพที่ช่วยให้ราษฎรมีอาชีพ มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมายมาจวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังทรงให้ความสำคัญกับปัญหา ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ แนวพระราชดำริให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาเกื้อกูลกัน สะท้อนให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในการรักษาป่าไม้เพื่อส่งต่อให้แก่ลูกหลานไทย จึงเป็นที่มาของโครงการป่ารักน้ำ ที่ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี 2525 โดยมีพระราชดำริ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำคำจวงบ้านถ้ำติ้ว ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร พร้อมกับพระราชทานเงินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และเงินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อจัดตั้งกองทุนอาชีพสำหรับโครงการป่ารักน้ำ และขยายโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ผืนป่าให้คงความสมบูรณ์
...
ต่อมาในปี 2543 เกิดโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริขึ้นแห่งแรกที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ รวม 18 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 8 แห่ง จ.เชียงราย 4 แห่ง จ.น่าน 3 แห่ง และอีก 3 แห่ง ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.พะเยา และ จ.กำแพงเพชร มุ่งเน้นการทำแปลงสาธิตด้านการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการขาดความรู้ทางการเกษตรที่เหมาะสม กับสภาพพื้นที่สูงของราษฎร ทรงส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ประโยชน์สูงสุด ลดการใช้สารเคมีพร้อมกับฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่จะสร้างแหล่งอาหารให้ราษฎรในขณะเดียวกัน ก็ให้ปลูกฝังความรู้เห็นความสำคัญของป่าไม้ ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อให้ป่าคงความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่โครงการสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศนำรายได้สู่ชุมชนเพิ่มเติมอีกด้วย
โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ เป็นอีกโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาความยากลำบากของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยชนเผ่า จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "ฟาร์มตัวอย่าง" ขึ้น สำหรับเป็นแหล่งจ้างงาน และฝึกอาชีพด้านการเกษตรที่ถูกต้อง โดยจัดตั้งขึ้นแห่งแรกที่บ้านขุนแตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์พื้นเมืองชนิดต่างๆ ปลูกพืชผักเมืองหนาวที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีแหล่งอาหารโปรตีน และขยายโครงการไปทุกภาคของประเทศกว่า 56 แห่ง อาทิ บ้านแม่ตุงติง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่, บ้านแม่ต๋ำ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง, บ้านหนองหมากเฒ่า อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร, บ้านโคกปาฆาบือซา อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส, บ้านทุ่งคลองชีพ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง, ฟาร์มทะเลตัวอย่าง ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และฟาร์มตัวอย่างบ้านบ่อหวี ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นต้น
โครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่พระราชทานไว้นั้น เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา ต่อยอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขยายผลในการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาที่เอื้อต่อราษฎรทุกหมู่เหล่า โครงการต่างๆ ได้นำพาความผาสุกร่มเย็นไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในทุกวันนี้และสืบไป
...