“ปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศพูดกันมานานเป็น 20 ปี ถึงภัยคุกคามและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อสัตว์ต่างถิ่นถูกนำเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่เคยมีพวกเขามาก่อน อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่อาจรุนแรงมากหรือน้อย ใช้เวลาให้เห็นผลกระทบช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับจำนวนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่ ฉะนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่บ้านเราควรให้ความสำคัญและกำหนดกฎเกณฑ์ และมาตรการเกี่ยวกับเรื่องการนำเข้าทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง มีการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพราะถ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสามารถตั้งรกรากอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งได้แล้ว โอกาสที่จะกำจัดให้หมดไปคงเป็นไปได้ยาก”

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย (ARRI Chula) บอกในเวทีเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 24 “ระดมคิด พลิกวิกฤติคางดำ” ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปลาหมอคางดำเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการจัดการกับการแพร่ระบาด ตัวอย่างเช่น บอกว่าปลาหมอคางดำไม่เหมาะเป็นอาหารมนุษย์ ไข่ปลาตากแดดไว้ 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้ นกกินไข่ปลาเข้าไป ถ่ายออกมาแพร่พันธุ์ได้ ปลานิลกลายพันธุ์ผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำ กลายเป็นปลานิลคางดำ ฯลฯ

...

หรือแม้แต่กรณีของการสื่อสารออกไปคลาดเคลื่อนว่า ปลาหมอคางดำในประเทศเรามีดีเอ็นเอเหมือนกันหมด หรือฟันธงว่ามาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ความจริงแล้วไม่สามารถระบุได้เช่นนั้น เพราะขาดตัวอย่างลูกปลาที่เคยนำเข้ามาในอดีตมาวิเคราะห์เทียบเคียง แต่ยังมีความหวัง ด้วยการนำเอาลำดับดีเอ็นเอของปลาหมอคางดำในประเทศไทยมาวิเคราะห์เทียบกับปลาหมอคางดำในประเทศอื่นๆ จะเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นถึงที่มาของการแพร่ระบาดว่าเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศใด

ขณะที่ ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองว่าวิธีการจัดการด้วยการใช้ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพในการยุติการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำที่กำลังวิกฤติในขณะนี้

ในต่างประเทศที่เผชิญกับการรุกรานของปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ มีการใช้ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เช่น การจัดการด้วยเรือช็อตไฟฟ้า เครื่องช็อตไฟฟ้าแบบสะพายหลัง และตะแกรงช็อตไฟฟ้า เพราะเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทิ้งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว เมื่อไม่มีปลาหมอคางดำแล้ว จะสามารถสร้างระบบนิเวศสัตว์น้ำขึ้นมาได้ใหม่ โดยการปล่อยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำคืนตามธรรมชาติ

...

ด้าน ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล อาจารย์ประจำภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนออีกทางเลือกหนึ่งในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำทางชีวภาพสามารถทำได้โดยการปรับแต่งจีโนม (genome editing) เป็นเทคนิคที่แก้ไขรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งที่ต้องการอย่างจำเพาะ และไม่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) เพราะไม่มีสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตอื่น เทคนิคนี้สามารถใช้เปลี่ยนเพศปลาได้ มีการใช้เทคนิคนี้สร้างระบบ gene drive ที่ควบคุมประชากรยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การใช้ระบบนี้จะเป็นการปล่อย GMO สู่สิ่งแวดล้อม จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปรับแต่งจีโนมเพื่อเปลี่ยนเพศ ร่วมกับการนำระบบ gene drive มาใช้ในการจัดการการระบาดของปลาหมอคางดำ แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งในด้านเทคโนโลยี และแนวทางในการป้องกันหรือลดทอนผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกอย่างน้อย 2-3 ปี.

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม