การทุจริตคอร์รัปชันในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้การทุจริตมีช่องทางซิกแซ็กหลายรูปแบบและแนบเนียนขึ้น ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับสกัดคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเอกสารวิชาการเรื่อง “ข้อเสนอและแนวทางพัฒนานวัตกรรมในการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการป้องกันการทุจริตภาครัฐ ในยุค Digital Disruption” ที่นักศึกษา นยปส.รุ่นที่ 15 นำเสนอบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะถึง ป.ป.ช. ซึ่ง ดร.อธิโชค วินทกร ประธานรุ่น 15 แชร์มาให้ผมอ่านเพิ่มพูนความรู้ ก็ได้ตั้งประเด็นนี้ไว้เป็นหัวข้อสำคัญ นอกเหนือจากการปลุกสำนึกไม่ทนต่อการโกงตั้งแต่วัยเรียนตามที่ผมเขียนไว้ฉบับเมื่อวาน

ปัจจุบันภาครัฐในหลายประเทศเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาประยุกต์ใช้ตรวจสอบการทุจริต เนื่องจาก AI มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งยังสามารถสร้างแบบจำลองการทุจริต ระบุแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น ระบุพฤติกรรมที่น่าสงสัย วิเคราะห์ธุรกรรมและพฤติกรรมเสี่ยง
ทุจริต สร้างรายงานและแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบทุจริตมีหลายแขนง อย่างเช่นเทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP) มีความสามารถในการทำความเข้าใจและประมวลผลข้อมูลที่เป็นภาษาธรรมชาติ นำไปประยุกต์ใช้กับเอกสารที่ต้องการตรวจสอบ เช่นรายงานการสืบสวน รายงานทางการเงิน เอกสารจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาและค้นหารูปแบบที่บ่งชี้ถึงการทุจริต

เทคโนโลยี Machine Learning (ML) สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้จากข้อมูลในอดีต เพื่อปรับปรุงความแม่นยำในการตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น ตรวจหาธุรกรรมการเงินที่มีจำนวนผิดปกติ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เปรียบเทียบการเสนอราคาที่คล้ายคลึงกัน ตรวจสอบความผิดปกติของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล เช็กพฤติกรรมที่อาจส่อทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปจนถึงสร้างแบบจำลองทำนายความเสี่ยงเกิดการทุจริตในโครงการต่างๆจากข้อมูลที่มีอยู่

...

เทคโนโลยี Data Analytics วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาความสัมพันธ์และรูปแบบที่ซับซ้อน ช่วยเจาะข้อมูลสำคัญ ตัวแปรๆต่างทางสถิติ และสร้างรายงานที่มีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบ เช่น ดูความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าสัญญากับจำนวนครั้งที่ชนะการประมูล ทำนายความเสี่ยงทุจริตในสัญญาใหม่ ตรวจหาสาเหตุของมูลค่าสัญญาที่สูงผิดปกติ อาจจะประเมินจากการเปลี่ยนสเปกสัญญา หรือแนวโน้มการให้สินบน

เทคโนโลยี Automation ใช้ระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ลดภาระงานที่ต้องทำด้วยมือ โดยสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งและหลายระบบ จัดการข้อมูลซ้ำซ้อนให้มีความพร้อมใช้งานอย่างรวดเร็ว ตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ เช่น การโอนเงินมูลค่าสูงผิดปกติ หรือการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างรายงานและแดชบอร์ดทั้งภาพรวมและรายละเอียดของข้อมูลสำคัญ ไม่เพียงลดเวลาและทรัพยากรในการตรวจสอบ ทั้งยังวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำขึ้น

นักศึกษา นยปส.รุ่นที่ 15 เห็นว่า การบูรณาการ AI มาใช้ในลักษณะ Digital Bird Eyes จะทำให้การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ทุจริต ถือเป็นมาตรการเชิงรุก ตามแนวทาง “ป้องนำปราบ”

ข้อเสนอแนะในเอกสารวิชาการฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์กรที่มีงบประมาณเยอะ และจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก ผู้บริหารองค์กรอาจจะลองพิจารณานำไปปรับใช้ดูได้.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม