ราว 20 ปีก่อน “ควายไทย” หรือที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า “กระบือ” เคยผ่านช่วงวิกฤติจากการถูกทดแทนด้วยรถไถนาที่เข้ามาช่วยผ่อนแรง แถมทำงานรวดเร็วกว่า เมื่อควายเหล็กเข้ามาดิสรัป (Disrupt) การเลี้ยงควายไว้ช่วยทำการเกษตรของครัวเรือนชนบทยุคเก่าจึงกลายเป็นภาระ ควายจำนวนมากมีจุดจบที่โรงเชือด จำนวนลดลงต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการสูญเสียทางพันธุกรรม จากการเลี้ยงดูตามมีตามเกิด ขาดการพัฒนาพันธุ์ ขณะที่ควายรูปร่างดีถูกขายให้ต่างประเทศ แทนที่จะเก็บรักษาไว้สืบทอดพันธุกรรม จนทำให้เกิดกระแสอนุรักษ์ควายไทยผ่านหลากหลายโครงการตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันนอกจากจะผ่านความเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลาแล้ว ควายไทยยังกำลังอยู่ในความนิยม โดยเฉพาะการเลี้ยงควายประกวด ด้วยคุณลักษณะที่ดีของควายปลักไทย (Thai Swamp Buffalo) มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลัก 10-20 ล้านต่อตัว จนฟาร์มระดับพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ เป็น 1 ในสินทรัพย์ยอดนิยมที่อาชญากรใช้ฟอกเงิน

แม้การประกวดควายโดยพิจารณาจากความสวยงามของร่างกายภายนอกจะแพร่หลายไปทั่ว มูลค่าของควายที่ชนะเพิ่มสูงขึ้นตามความสนใจ แต่ควายไทยยังต้องถูกพัฒนาต่อในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพและเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน

...

1 ในโครงการพัฒนาดังกล่าว ได้รับการถ่ายทอดผ่านหนังสือ “ความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566” (Buffalo SIRE and DAM Summary 2023) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ มาจากโครงการมูลนิธิเจริญ โภคภัณฑ์ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งริเริ่มช่วยเหลือเกษตรกรในภาคอีสานและใต้ ให้มีวัวและกระบือพื้นเมืองสายพันธุ์ไทยแท้ไว้ใช้ประโยชน์ด้านแรงงาน ผลิตปุ๋ยคอก สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ช่วงแรกระหว่างปี 2545-2556 ไถ่ชีวิตโค-กระบือจำนวน 2,240 ตัว พ่อพันธุ์ 28 ตัว มอบให้เกษตรกร 2,240 ครอบครัว สามารถขยายพันธุ์-ให้ลูกรวม 3,426 ตัว

ระยะที่ 2 ช่วงปี 2556-ปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนแนวทางจากอนุรักษ์เป็นผลิตเชิงธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการผลิตควายให้เป็นรายได้ สามารถชดเชยรายจ่ายบางอย่างให้กับเกษตรกร ภายใต้ชื่อใหม่ “โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย” จากเดิมมอบแม่พันธุ์ครอบครัวละ 1 ตัว เพิ่มเป็น 8 ตัว มีเป้าหมายส่งเสริมการเลี้ยงกระบือฝูงใหญ่, วิจัย พัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ และการบริหารฟาร์มแบบมาตรฐาน มีการบันทึกรายได้ประจำปีของเกษตรกร จัดทำฐานข้อมูลพันธุ์ประวัติ (Pedigree) ทดสอบสมรรถนะ (Performance Tests)

เพราะ “การทำเกษตรจะสำเร็จได้ ต้องเริ่มต้นที่พันธุ์ที่ดี” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พ.ศ.2566 -2571) ได้ร่วมกันปรับปรุง “ระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมกระบือแบบดั้งเดิม” (Conventional Buffalo Genetic Evaluation System) ยกระดับเป็น “ระบบการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของกระบือ” (Buffalo Genomic Evaluation System)เพื่อให้การประเมินความสามารถทางพันธุกรรมมีความแม่นยำ ไม่ลำเอียง จับคู่ผสมพันธุ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้การปรับปรุงพันธุ์กระบือไทยสำเร็จเร็วขึ้น

ทั้งนี้ การวัดความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ จากการเก็บข้อมูลพันธุ์ประวัติ (Pedigree) และสมรรถภาพการเติบโต (น้ำหนักและขนาดร่างกาย) กระบือไทย 1,652 ตัว จากการเลี้ยงดูของเกษตรกรโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย 42 ฟาร์ม (6 จังหวัด) เพื่อเสาะหากระบือชั้นเลิศ โดยใช้ค่าประมาณสามารถทางพันธุกรรม (Estimated Breeding Value–EBV) เป็นตัวชี้วัด ปรากฏรายชื่อ 5 พ่อพันธุ์กระบือชั้นเลิศภายใต้โครงการดังกล่าว โดยพ่อพันธุ์ที่โดดเด่นในหลายช่วงอายุ ได้แก่ “Hero” จากจังหวัดสุรินทร์ รองลงมาเป็น “เพชรปราสาท” จากจังหวัดสุรินทร์, “เพิ่มพูน” จากจังหวัดสุรินทร์, “คิงคอง” จากจังหวัดบึงกาฬ และ “รุ่งเรือง” จากจังหวัดสุรินทร์

...

ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ข้อสรุปว่า ขนาดร่างกายและน้ำหนักตัวที่อายุแรกเกิด, 240, 400, 600 และ 720 วัน ของกระบือปลักไทย ผันแปรไปตามปีเกิดและเพศ เพศผู้มีขนาดและน้ำหนักต่างจากเพศเมียอย่างมีนัยสำคัญเมื่ออายุมากกว่า 1 ปี ความแตกต่างของขนาดและน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับความแตกต่างในคุณภาพการเลี้ยง ในสัดส่วน 14.43% (วัดจากความยาวลำตัวตอนแจ้งเกิด) และ 62% (วัดจากความยาวรอบอกเมื่ออายุ 720 วัน)

จึงเป็นอีก 1 โอกาสสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือไทย ในการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ลูกที่มีคุณสมบัติดีกว่า ระยะห่างในการตั้งท้องสั้น คุณภาพซากสูง มีเนื้อมากกว่ากระดูก ซึ่งสะท้อนกลับไปเป็นผลตอบแทนทางธุรกิจที่เพียงพอและยั่งยืน.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม