การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างมีทิศทาง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยต้องเดินไปข้างหน้าร่วมกันแบบบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านต่างๆ เหมือนเช่นที่มีการสำรวจพบว่าเด็กปฐมวัยปัจจุบันมีพัฒนาการล่าช้าด้านการใช้ภาษาสูงถึง 74.8% ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ว่าด้วยเรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” สสส. จึงได้สานพลังกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมผลักดันนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ด้วยการชู “นวัตกรรม 366-Q KIDS” โปรแกรมส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรดูแลเด็กปฐมวัย สู่การถอดบทเรียน และมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลในระดับประเทศมากยิ่งขึ้น

3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย

สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ว่าด้วยเรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดขึ้นจากการประสานการร่วมมือกันของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมด้วยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการ นักวิชาการ ครูปฐมวัย ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย บุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยจากหน่วยงานทุกสังกัด ตลอดจนผู้ปกครอง เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันขบคิด และหาแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยอย่างมีทิศทาง

โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการในบทบาทของผู้ผลักดันการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการทำแผนขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้เว็บไซต์ “ปฐมวัยไทยแลนด์” เป็นสื่อกลางการค้นคว้าข้อมูล รวมถึงสร้างการประสานการร่วมมือกันของ 4 กระทรวงหลัก ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ขณะเดียวกันก็ยังมีคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย และภาคเอกชน ทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดของสังคม กับการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกวิธี ด้วยแคมเปญน่าสนใจ อาทิ “เพิ่มเวลาคุณภาพ เล่นเป็น กอดเป็น เล่าเป็น” และ “งดจอก่อนสองขวบ ร่วมสร้างวินัย ไม่ใช้ความรุนแรง”

ทั้งนี้ นโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในครั้งนี้ คือ “3 เร่ง” อันได้แก่ 1. เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม 2. เร่งจัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 3. เร่งเสริมศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก สำหรับ “3 ลด” ได้แก่ “ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง งดใช้ก่อนวัย 2 ขวบ 2. ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย 3. ลดการใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วน “3 เพิ่ม” ได้แก่ 1. เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ผ่านการเล่นหลากหลาย ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย งานบ้าน งานครัว งานสวน 2. เพิ่มการเล่า หรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ และ 3. เพิ่มความรัก ความเอาใจใส่ และเวลาคุณภาพของครอบครัว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังได้เน้นย้ำด้วยว่า แนวทาง 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม จะบรรลุผลได้ก็ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงหน่วยงานเกี่ยวข้อง สถานศึกษา แต่ยังรวมถึงครอบครัวอีกด้วย

นวัตกรรม 366-Q KIDS สอดรับไปกับ 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม

สสส. ในฐานะที่มีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างสุขภาวะประชากรทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเด็กปฐมวัย ยังได้แสดงความพร้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อน นโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย โดยนำเสนอนวัตกรรม “366-Q KIDS” โปรแกรมส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรดูแลเด็กปฐมวัย ที่ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งผ่านการถอดบทความสำเร็จอย่างน่าสนใจ เพื่อให้นำไปสู่การขยายผลในระดับประเทศอย่างครอบคลุมมากขึ้น

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้เข้าไปสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564-2570 โดยได้พัฒนาเว็บไซต์ปฐมวัยไทยแลนด์ ecd.onec.go.th เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาวะเด็กปฐมวัย รวมถึงเสริมทักษะความเป็นพ่อแม่ ผ่านแนวทางของ สสส. ที่มุ่งเสริมสร้างสุขภาวะประชากรทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มเด็กปฐมวัย พร้อมกันนั้นยังได้ขับเคลื่อนต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนานวัตกรรม “366-Q KIDS” อันเป็นโปรแกรมส่งเสริมศักยภาพครูและบุคคลากรดูแลเด็กปฐมวัยขึ้น โดยดำเนินตามแนวทาง “3 ตัวช่วย” คือ 1. เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ 2. ทีมวิชาการพี่เลี้ยง 3. ชุดความรู้พร้อมใช้ ในรูปแบบ “6 กิจกรรมเรียนรู้” กับระยะเวลา “6 เดือน” เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กที่เข้าร่วม สามารถยกระดับพัฒนาการเด็กปฐมวัย รวมถึงสร้างให้เกิดเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ เริ่มดำเนินโครงการครั้งแรกในปี 2565 จนปัจจุบันได้สร้างต้นแบบไปแล้วกว่า 51 แห่ง

“366-Q KIDS ถือเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่เกิดจากการคิดนอกกรอบ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับชุมชน หรือพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะการเรียนรู้ร่วม ไม่ใช่การบรรยายให้ความรู้ การเรียนรู้ร่วมคือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นเป้าหมาย ความสำคัญ และแนวทางของสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ ตลอดจนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างมีทิศทาง ขณะเดียวกัน 366-Q KIDS ยังเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ที่ออกแบบมาให้ครอบคลุมในหลากหลายส่วนที่ช่วยเสริมศักยภาพการทำงานของครูและบุคลากรปฐมวัยได้ด้วย อาทิ การมี Learrning Tools มีใบความรู้ แบบบันทึกประเมินคุณภาพ เกณฑ์คะแนนมาตรฐานที่ 1-3 เป็นต้น”

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและสร้างมาตรฐานใหม่ของสถานศึกษาในระดับปฐมวัยจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องอาศัยเวลา แต่เชื่อว่าการที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นเป้าหมายร่วมกันมากขึ้น ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเช่นกัน โดยเน้นย้ำว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้สำหรับประเด็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างมีทิศทาง คือ การร่วมสร้างแนวคิดใหม่ให้กับผู้ปกครอง และสังคมว่าการฟูมฟักเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและควรต้องเอาใจอย่างมาก เพื่อสร้างเยาวชนของชาติที่มีความพร้อมสำหรับโลกแห่งอนาคต ทั้งนี้นวัตกรรม “366-Q KIDS” โปรแกรมส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรดูแลเด็กปฐมวัยนี้ นับได้ว่าเป็นเครื่องมือทางวิชาการพื้นฐานที่น่าสนใจ และด้วยความที่สอดรับกับนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาเชิงรุกมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ว่าด้วยเรื่องการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” ครั้งนี้ นอกจากจะมี สสส. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อชูนวัตกรรม “366-Q KIDS” สู่การขับเคลื่อนต่อเนื่องต่อไปในอนาคตแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการจากอีกหลายหน่วยงาน ภายใต้สังกัด สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

พร้อมกันนั้นยังมีเวทีเสวนาวิชาการ “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” นำโดย คุณกุลธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมด้วย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร เพื่อร่วมกับขบคิดและขับเคลื่อนให้การพัฒนาด้านการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย อยู่ในความสนใจอันดับต้นๆ ของสังคม สร้างการรับรู้ ขยายความสำคัญ และขับเคลื่อนร่วมกันอย่างมีทิศทาง เพราะพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ดีหมายถึงอนาคตของชาติด้วยเช่นกัน