นับเป็นกระแสที่ยังอยู่ในความสนใจของสังคม “การระบาดปลาหมอคางดำ” ที่กำลังลุกลามแพร่กระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ 17 จังหวัด และบางส่วนหลุดรอดลงแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ปลา ปู ไล่ล่ากินจนเกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และชาวประมงต้องยุติประกอบอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน

ท่ามกลางการระบาดนี้ “สังคม” มุ่งตั้งข้อสงสัยจุดเริ่มต้นการระบาดยัง “ศูนย์ทดลอง” ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามโดยในปี 2553 “บริษัทเอกชน” นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานาใช้เวลาเดินทาง 35 ชม. แล้วลูกปลาตาย คัดแยกเหลือรอด 600 ตัวก่อนนำลูกปลามีชีวิตลงบ่อเลี้ยง ทยอยตายจนเหลือ 50 ตัว

ทำให้บริษัทเอกชนตัดสินใจยกเลิกโครงการ ทำลายลูกปลาทั้งหมดนำฝังกลบโรยปูนขาวไปแล้ว

ก่อนที่ไม่นานนี้ “ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ” จัดเสวนาเรื่องหายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหายฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพได้นำข้อมูล และภาพต่างๆที่ถูกอ้างเป็นสถานที่ในฟาร์มยี่สารมาเปิดเผยต่อสาธารณชนโต้ข้อมูลดังกล่าวอีกแง่มุมตามที่เป็นข่าว

ในประเด็นการระบาดปลาหมอคางดำ “ทีมข่าวสกู๊ป” ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 “สำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ CPF” ส่งจดหมายเอกสารชี้แจงกรณีนำเข้าปลาหมอคางดำตามสกู๊ปหน้า 1 นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 6 ส.ค.2567

...

ได้นำเสนอเรื่อง “หลักฐานปลาหมอระบาด เชื่อมโยงต้นกำเนิดปัญหา” ซึ่งใช้ข้อมูลจากกลุ่ม NGO ที่บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป หลังพบการใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงนำมาซึ่งความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรดังที่บริษัทได้แถลงต่อสาธารณะไปตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2567 แล้วนั้น

เหตุนี้การนำเสนอข้อมูลดังกล่าว “คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง” โดยเฉพาะเนื้อหาเอกชนผู้ขออนุญาตนำเข้าลูกปลาถูกต้องเพียงรายเดียวนั้นเป็นต้นตอปัญหาการแพร่กระจายปลาหมอคางดำ “เป็นข้อมูลเท็จ” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน กอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรซีพีเอฟ ชี้แจงว่า

ในช่วงที่ผ่านมาและในวันที่ 26 ก.ค.2567 มีการใช้รูปภาพ และข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะที่เป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท โดยมีตัวอย่างภาพเท็จ และข้อมูลเท็จบางส่วนดังนี้

ภาพแรก... “เป็นภาพสร้างความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก” เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สารซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำปี 2554-2557 และกล่าวอ้างว่าเลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553-2560 ซึ่งขอชี้แจงว่าเป็นการใช้ภาพ และข้อมูลเท็จ

เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และหลังจากการตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการ และยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือน ม.ค.2554 “ได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว” บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆเกี่ยวกับปลานี้อีกเลย ดังนั้นการอ้างว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จเสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคมต่อองค์กร

ถัดมาภาพที่สอง...“เป็นภาพที่กล่าวอ้างการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ” เพื่อนำไปขยายพันธุ์ และผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร ความเป็นจริงแล้วสถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และกิจกรรมดังปรากฏในภาพนี้ ไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท

ภาพสุดท้าย...“เป็นภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์ม” โดยมีการระบุผังของฟาร์มซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ กล่าวคือ “กรอบสีแดง” ไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาตามที่กล่าวอ้าง แต่ความเป็นจริงเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง

ขณะที่กรอบสีเหลืองที่ระบุว่า “เป็นบ่อผสมพันธุ์ปลา และบ่ออนุบาลปลา” ตามที่กล่าวอ้างนั้นความจริงคือเป็นบ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล

...

นอกจากรูปภาพที่บิดเบือนบางส่วนที่นำมาแสดงในวันนี้ “บริษัทอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อความบิดเบือนอื่นๆ” เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยผู้ที่ให้รูปและข้อมูลที่เป็นเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริงควรต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ร่วมกับผู้ที่ใช้ข้อมูล และรูปภาพดังกล่าวในการสื่อสารในเวทีสาธารณะต่างๆด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทเห็นด้วยว่า“ควรมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางสังคมเพิ่มเติมในเรื่องนี้” เนื่องจากมีหลายบริษัทที่ซีพีเอฟไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กลับมีกิจกรรมค้าขายปลาชนิดนี้ในช่วงที่ผ่านมา

จึงขอให้สังคมให้ความเป็นธรรม และควรมีการสอบหาเหตุอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เพื่อนำข้อเท็จจริงมาร่วมกันพิจารณาหาแนวทางร่วมมือแก้ไขปัญหา ตลอดจนหาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายในระยะยาว

ส่วนสำหรับ “โครงการความร่วมมือสนับสนุนการแก้ปัญหา 5 โครงการนั้น” มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่วมมือสนับสนุนกรมประมงที่มีกิจกรรมการจับปลา และปล่อยลูกปลากะพง พบว่า บางพื้นที่มีปริมาณปลาลดลงอย่างมาก ล่าสุดได้เข้าร่วมกิจกรรมจับปลา และมอบปลากะพงเพิ่มเติมกับประมง จ.สมุทรสงคราม

นอกจากนั้นยังได้รับการติดต่อแสดงความจำนงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2-3 แห่ง ในการร่วมมือการทำวิจัย ทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และการวิจัย เพื่อหาแนวทางควบคุมประชากรปลาในระยะยาว

ย้ำทิ้งท้ายว่า “บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ในการสอบหาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างสุจริต ขณะเดียวกันต้องขอปกป้องชื่อเสียงองค์กรจากการใช้ข้อมูล และหรือรูปภาพกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด

ดังนั้น “ผู้ที่ให้ข้อมูล และหรือรูปภาพเหล่านั้น” รวมทั้งผู้ที่ใช้ข้อมูล และรูปภาพดังกล่าว ประกอบความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะหรือสื่อต่างๆ “ควรรับผิดชอบ” ในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น โดยจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

...

นี่ก็เป็นอีกแง่มุมของข้อชี้แจงจาก “บริษัทเอกชน” ที่งัดนำ หลักฐานข้อมูล และภาพถ่ายออกมาเปรียบเทียบโต้แย้งเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดตามที่ถูกกล่าวอ้างอยู่ในขณะนี้ แต่ว่าเรื่องทั้งหมดนี้ยังสรุปไม่ได้ประชาชนคงต้องติดตามกันต่อไป...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม