การแก้กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี และถือครองอสังหาริมทรัพย์ห้องชุด 75% ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นประเด็นร้อน แม้ที่ผ่านมา “ฝ่ายค้านเคยตั้งกระทู้ถามกลางที่ประชุมสภาฯในการเร่งแก้กฎหมาย” แต่ก็ไร้ซึ่งคำตอบที่ชัดเจน ทำให้คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคประชาชนออกมาคัดค้านนโยบายนี้
ชี้ให้เห็นผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรจาก รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา บอกว่า หากรัฐบาลต้องการกระจายหรือปฏิรูปการเข้าถึงโครงสร้างที่ดินควรตระหนักถึงผลประโยชน์พี่น้องคนยากคนจนที่ยังไร้ซึ่งโอกาสการเข้าถึงในที่ดิน และไร้ซึ่งโอกาสเข้าถึงถิ่นที่อยู่อาศัยก่อน
ดังนั้นการออกนโยบายนี้ที่อ้างว่าต้องการให้ต่างชาติมาซื้อหรือถือครองอสังหาริมทรัพย์กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น “ผู้ได้รับประโยชน์เป็นคนไทยอยู่ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากหรือไม่” เพราะตอนนี้รัฐบาลกำลังอ้างเหตุเคลือบแคลงเต็มไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองด้วยซ้ำ
เช่นนี้อยากให้ “รัฐบาลควรตระหนักผลประโยชน์ของคนไทยเป็นหลัก” เพราะการจะขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จต้องสร้างความเป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก่อนเป็นสำคัญ แต่ว่านโยบายให้ต่างชาติมาเช่าที่ดิน 99 ปี กลับกำลังถูกวิจารณ์เกี่ยวกับประโยชน์โพดผลที่อาจจะไปตกอยู่ในมือผู้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางคนแทน
ด้วยเหตุจากการยึดโยงความสัมพันธ์กับ “กลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองในรัฐบาล” จึงทำให้ประเด็นนี้สังคมไทยจำเป็นต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไป
...
ทว่าเรื่องนี้ก็มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น “ในประเทศไทย” หากย้อนวิกฤติช่วงทศวรรษปี 2540 ก็เคยประสบปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองได้อำนาจรัฐมาแล้วกำหนดนโยบายดูเหมือนคล้ายจะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และประชาชน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกพ้องตัวเองเต็มไปหมด
แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านมา 20 กว่าปีในเชิงวิชาการก็กำลังเห็นปรากฏการณ์การทุจริตทางการเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า “การยึดครองรัฐ” อันเป็นรูปแบบการขยายอิทธิพลของตัวแสดงที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองในรัฐบาลเท่านั้นกลับยังมีกลุ่มทุนธุรกิจภายนอกเข้ามามีส่วนพัวพันในทางใดทางหนึ่งกับกลไกของภาครัฐ
“ตัวแสดงนี้มีทั้งผู้สนับสนุนกลไกออกกฎหมาย ออกระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อก่อให้เกิดการยึดครองรัฐแบบไม่ผิดกฎหมายโดยผ่านกระบวนการตั้งแต่นโยบายในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยมีข้าราชการคอยทำเอกสารรองรับนำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา และตราเป็นกฎหมายในที่สุด” รศ.ดร.โอฬารว่า
ถ้าพิจารณาในเชิงนิติศาสตร์ “กระบวนการนี้ไม่ผิดกฎหมายทุกรายมาตรา” อันเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 “ในเอเชียกลาง” นับแต่เปลี่ยนการปกครองระบบสังคมนิยมก้าวสู่ระบบทุนนิยมมาจนถึงวันนี้ ดังนั้นสังคมต้องช่วยจับตาการยึดครองรัฐแบบใหม่จากตัวแสดงภายนนอกของทุนธุรกิจการเมืองที่มีอิทธิพลเหนือรัฐนี้
เช่นเดียวกับ ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า ก่อนหน้านี้ได้ร่วมประชุม กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ทำให้เห็นอีกมุมมองจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ต่างมีความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาจากนโยบายนี้เช่นกัน
ทำให้ต่างพยายามนำเสนอ “ข้อจำกัด และเงื่อนไข” ที่จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี หรือถือครองห้องชุด 75% ได้อย่างไร “อันมีระบบราชการพร้อมสนองนโยบาย” ในส่วนรายละเอียดเนื้อหาค่อนข้างดูดีอย่างเช่น “การเก็บภาษีนำเงินมาตั้งกองทุน” เพื่อใช้ในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่คนยากคนจน
สุดท้ายกลายเป็นว่า “ต่างชาติครอบครองยึดทั้งอาคาร” จึงเสนอให้จัดการกับนอมินีให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วค่อยขยายเป็น 75% เพราะข้ออ้างเปิดให้ต่างชาติครอง 75% จะไม่มีอำนาจเหนือคนไทย 25% นั้นในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นนโยบายนี้ไม่สมเหตุสมผลจนถูกมองเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และนโยบายขายชาติหรือไม่
ตอกย้ำด้วยปัจจุบันนี้ “ห้องชุดในประเทศไทย” ที่ปรากฏมีต่างชาติถือครองถึง 49% มีน้อยมากอยู่ที่ประมาณ 20% เท่านั้น ในส่วนการปล่อยให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีถือเป็นการให้สิทธิ์มากเกินไปโดยไม่มีประเทศใดในโลกทำกัน ทำให้มีคำถามการขยายถือครองอสังหาริมทรัพย์ 75% และเช่าที่ดิน 99 ปี ทำเพื่ออะไร และทำเพื่อใคร...?
...
ด้วยที่ผ่านมา “ระบบราชการ” กลับบอกพร้อมสนองนโยบายโดยไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ทำให้ถูกสังคมมองว่านโยบายนี้เพื่อช่วยเหลือพรรคพวกระบายของในธุรกิจห้องชุดอสังหาริมทรัพย์ของนายทุนด้วยซ้ำ
ขณะที่ เมธา มาสขาว ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตย บอกว่า การแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินเคยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ โดย ครม.สมัยนั้นมีมติขยายให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดคอนโดมิเนียมจากร้อยละ 49 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 แต่ถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก
ต่อมาปี 2565 ก็มีการผลักดันเตรียมแก้กฎกระทรวงให้คนต่างชาติที่ลงทุนเกิน 40 ล้านบาทในประเทศสามารถซื้อบ้านเนื้อที่ไม่เกิน1ไร่ได้ “ขณะนั้นกลุ่มผูกขาดคนไทยต่างออกมาสนับสนุนเห็นด้วย” สุดท้ายก็ถูกสังคมออกมาคัดค้านเกรงถูกนายทุนยึดครองจนไม่เหลือให้คนไทยอาศัยอยู่จนนโยบายนี้ก็ถูกตีตกเช่นกัน
ดังนั้นนโยบายขยายเวลาให้ต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยาวขึ้นนั้นต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วนำมาสู่รัฐบาลปัจจุบัน และมีคำสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการศึกษาในการแก้ไขกฎหมาย จนกลายเป็นข้อครหาสุ่มเสี่ยงเป็นภัยต่อบ้านเมืองและเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
...
เรื่องนี้อยากเรียกร้องให้ “นายกฯ” ออกมาตอบคำถามต่อประชาชนโดยเฉพาะในรัฐสภาฯ ที่มีกลุ่มฝ่ายค้านรัฐบาลตั้งกระทู้ถามมาตลอดแต่กลับไม่เคยได้รับคำตอบอย่างชัดเจนเลยด้วยซ้ำ
นี่เป็นเสียงสะท้อน “ภาคประชาชน” คัดค้านการแก้กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี และขยายถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ห้องชุด 75% กลัวจะเปิดช่องให้กลุ่มทุนภายนอกเข้ามามีอำนาจเหนือทางการเมือง ออกนโยบายและกฎระเบียบจนสุ่มเสี่ยงเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและแผ่นดิน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม