โค้งสุดท้ายสำหรับ “ปลายฤดูฝนปี 2567” อันเป็นช่วงที่ฝนตกชุกหนาแน่นที่สุดในรอบปี แถมมีโอกาสสูงจะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน “ประเทศไทย” ขณะเดียวกัน “ภัยแล้ง” ก็จะเกิดขึ้นจากปริมาณฝนรายปีที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ปัญหามีว่าน้ำท่วม-น้ำแล้งจะเกิดที่ใด รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ IPCC บอกว่า ตั้งแต่เริ่มฤดูฝนปีนี้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ฝนตกเฉลี่ยยังน้อยกว่าปกติ “ยกเว้นภาคใต้” แต่เข้ากลางฤดูฝนเดือน ก.ค. เริ่มตกมากขึ้นทั่วทุกภาคโดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ถ้าดูภาพรวมเริ่มฤดูฝนจนถึงตอนนี้ “ปริมาณฝนตกสะสมยังน้อยกว่าปกติ 9%” แต่นับจากเดือน ส.ค.- ต.ค. “อันเข้าปลายฤดูฝนจะตกหนักมากขึ้น” ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสานตอนล่าง และภาคใต้ เพราะร่องมรสุมเลื่อนพาดผ่านบริเวณนี้ทำให้เป็นช่วงครึ่งปีหลังที่ต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

ทว่าทางกลับกัน “ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนฝนจะลดลง” หากดูน้ำต้นทุนภาคเหนืออย่าง “เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์” มีน้ำใช้การได้ 19% (ข้อมูล 3 ส.ค.2567) ส่วนภาคอีสานอย่างเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้ได้ 15%

...

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในปี 2567 “ปริมาณน้ำกักเก็บสะสมน้อย” โอกาสจะเกิดน้ำเหนือทะลักลงลุ่มเจ้าพระยาไหลบ่าลงมาทับถมก่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเหมือนปี 2554 “เป็นไปได้ยาก” เพราะเงื่อนไขยังไม่ครบแต่อาจจะเป็นลักษณะน้ำท่วมรอการระบายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ กทม.สถานการณ์อาจไม่ต่างไปจากปี 2565

ดังนั้นช่วงปลายฝนปีนี้ “ภาคตะวันออก ภาคอีสานตอนล่าง ภาคใต้” มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำรอการระบายจากฝนตกหนัก หรือน้ำท่วมจากอิทธิพลพายุจรในระยะ 1-2 สัปดาห์ก็จะแห้งเป็นปกติ

ในส่วน “ภาคกลาง” ที่มักเป็นพื้นที่รับน้ำทุกปี แถมมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน แม้ว่าปริมาณน้ำเหนือจะน้อยแต่ระดับน้ำยังสูงกว่าปี 2554 “ต้องระวังน้ำท่วมเช่นกัน” เพราะเคยล้น คันกั้นน้ำมาแล้วในปี 2564-2565 สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินในหลายพื้นที่ที่ต้องติดตามประเมินสถานการณ์น้ำแบบเวลาจริงอีกครั้ง

ปัญหามีอยู่ว่า “พื้นที่ใดเสี่ยงเกิดน้ำท่วม” เรื่องนี้ประชาชนต่างต้องการทราบมาโดยตลอด “อันเป็นช่องว่างจากการขาดการประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงในพื้นที่” ทำให้เกิดกรณีอย่างในช่วงวันที่ 19-21 ก.ค.2567 “เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงใน จ.ตราด” สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านอย่างหนัก

เนื่องจาก “ไม่คาดคิด และไม่ได้รับข้อมูลเตือนอย่างทันท่วงที” โดยปริมาณฝนตกประมาณ 8 วัน ปริมาณมากถึง 2,100 มม. หรือคิดเป็น 70% ของปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 3,000 มม. “อันไม่เคยเจอในรอบ 30 ปี” แต่หากมีการวิเคราะห์จากปริมาณฝนรายเดือน ก.ค.2567 พบว่าเป็นเหตุการณ์ในรอบกว่า 100 ปีด้วยซ้ำ

สาเหตุที่ผ่านมา “เผชิญกับเอลนีโญ 2 ปีติดต่อกัน” ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้ำทะเลร้อนขึ้น “ก่อเกิดชายทะเลมีความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นผิดปกติตั้งแต่ต้นปี” รอปัจจัยลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ร่องมรสุม พายุ เพื่อมารวมตัวก่อเป็นเมฆกลุ่มก้อน และเปลี่ยนสภาพเป็นฝนตกหนักอย่างที่เห็นนั้น

ดังนั้นแม้ปี 2567 “อยู่ในโหมดลานีญา” แต่ฝนตกหนัก จ.ตราดก็ไม่เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ที่ลานีญายังอยู่ค่าปกติและจะยกระดับสูงใน เดือน พ.ย. ที่บวกกับชั้นบรรยากาศยังมีความชื้นเยอะ จึงเป็นช่วงต้องระวังใกล้ชิด

เช่นนี้ตามหลักการ “รัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าไปดูแล ท้องถิ่นได้” เพราะไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ท้องถิ่นนั้น แต่ควรเข้าไปสร้างให้ท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการสนับสนุนเติมเต็มช่องว่างการประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงในพื้นที่ ด้วยการให้อุปกรณ์ ความรู้ และงบประมาณให้บริหารจัดการภัยพิบัติเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ

แม้หากให้ข้าราชการที่ย้ายเข้ามา ประจำในท้องถิ่นก็ทำไม่ได้ เพราะมาอยู่ไม่นานแล้วก็ไปเหมือนเป็นผู้เช่าบ้าน ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นด้วยเขาเป็นเจ้าของบ้าน “เพียงแต่ปัญหาว่าตอนนี้ส่วนกลางไม่กระจายอำนาจ” เพราะต้องการควบคุมงบประมาณการอนุมัติอันเชื่อมโยงกับฐานคะแนนอยู่

...

ทว่าในเรื่องนี้เราได้พัฒนาเครื่องมือร่วมกับ ESRI “เพื่อใช้จัดการน้ำท่วมเมือง” ผลจากการทำ Downscaling และ Bias-correction อย่างละเอียดสามารถประเมินฝนอนาคต 5,10,30,50,80 ปี ตามเมืองต่างๆ พบปัญหาอุปสรรคโครงสร้างต่างๆ “ขัดขวางการระบายน้ำ” รวมทั้งพื้นที่เปราะบางต่างๆ...เตรียมพร้อมรับสถานการณ์

ย้ำว่า “ปลายฤดูฝน” โดยเฉพาะเดือน ต.ค.ฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติ 10% คาดว่า “พายุจะเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก 15 ลูก” โอกาสเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก...มีความเสี่ยงต่อ “ภัยแล้งในปี 2568” ส่งผลให้น้ำต้นทุนใน “ภาคเหนือ” อย่างเช่นเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ “มีน้ำเข้ากักเก็บน้อย”

เพราะปัจจุบันน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ใช้การได้เพียง 19% หรือ 3 พันล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 3 ต.ค.2567) แต่ปกติเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องใช้น้ำ 8 พันล้าน ลบ.ม. สำหรับข้าวนาปรัง 8 ล้านไร่ ดังนั้น 3 เดือน คงต้องหาน้ำอีก 5 พันล้าน ลบ.ม. อันเป็นไปได้ยากเท่ากับว่าปีนี้น้ำที่มีอยู่จะพอใช้กับข้าวนาปรังไม่เกิน 4 ล้านไร่เท่านั้น

...

ถัดมาในส่วน “ภาคอีสาน” ปีที่แล้วเผชิญน้ำท่วมหนักได้น้ำมาก แต่ตอนนี้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์กลับมีน้ำใช้การได้ 15% แต่โชคยังดีในช่วง 3 เดือน ยังได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่มีฝนตกชุกมาก

อย่างล่าสุด “หน่วยงานใน จ.ขอนแก่นได้ปรึกษาจะระบายน้ำระดับใด” เพื่อรองรับน้ำที่จะเข้ามาใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพราะเกรงจะเกิดน้ำท่วมจึงแนะนำหากปล่อยน้ำมากช่วงนี้ “ปีหน้าจะเหนื่อย” เพราะหลังเดือน พ.ย. “ฝนตอนบนประเทศจะลดลง” ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องหวังน้ำจากเขื่อน หรือน้ำจากอ่างเก็บน้ำเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลวันที่ 3 ส.ค. น้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ 2 ล้าน ลบ.ม./วัน และระบายน้ำออก 19 ล้าน ลบ.ม./วัน ถ้าเทียบกับวันเดียวกันปี 2566 “น้ำใช้งานได้ 23%” มีน้ำเข้าใหม่ 7 ล้าน ลบ.ม.ระบายออก 15 ล้าน ลบ.ม.

สุดท้ายย้ำว่าลานีญารอบนี้จะจบลงกลางปี 2568 เปลี่ยนไปสู่เอลนีโญอีกครั้งไปจนปี 2569 “ประเทศไทยอาจเจอภัยแล้งรุนแรง” ดังนั้นทางรอดเดียวรัฐบาลควรสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกันให้ท้องถิ่นด้วยการเติมปัจจัยงบประมาณ เครื่องมือ และคน เพื่อให้เขาจัดการภัยภัยพิบัติได้ด้วยตนเองดีที่สุด.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม