ทีแคส 68 ใกล้เปิดฉากขึ้นแล้ว จากการตีฆ้องร้องป่าวโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ได้ประกาศปฏิทิน TCAS68 ออกมาเรียบร้อยแล้ว ในงาน อว.แฟร์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
“ทีมการศึกษา” ขอสรุปหลักการและแนวคิดของ ระบบ TCAS ซึ่งย่อมาจาก Thai University Central Admission System หรือ ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 หลักการคือ นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียน 1 คนมี 1 สิทธิเท่าเทียมกัน โดยมีการ บริหารจัดการสิทธิเข้าศึกษา หรือเรียกกันว่า การเคลียริงเฮาส์ Clearing House ครบทุกรอบ ทำให้แต่ละคนมี 1 สิทธิเท่าเทียมกัน และ นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ซึ่งที่ผ่านมาการวิ่งรอกสอบทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ทั้งบางครั้งหนึ่งคนวิ่งรอกสอบหลายแห่ง เหนื่อยทั้งตนเองและครอบครัว เมื่อสอบติดหลายที่ ส่งผลให้เกิดการกันที่นั่งผู้อื่น เพราะสุดท้ายแล้ว 1 คน ก็สามารถเรียนได้เพียงแห่งเดียว เป็นการกันสิทธิผู้อื่นและทำให้สุดท้ายมหาวิทยาลัยที่ไม่ถูกเลือก ต้องมีที่นั่งว่างไปโดยเปล่าประโยชน์
...
สำหรับ การสมัครคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบ TCAS กำหนดไว้ 4 รอบการคัดเลือก ดังนี้ รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงานหรือ Portfolio เน้นคนที่มีความสามารถโดดเด่น ใช้แฟ้มผลงาน ไม่มีการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการหรือสอบปฏิบัติ แต่อาจใช้คะแนนวัดความถนัดทั่วไปหรือ TGAT คะแนนความถนัดทางวิชาชีพ TPAT และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย GPAX รอบที่ 2 โควตา เน้นคนในพื้นที่ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะหรือโรงเรียนในเครือข่าย จะใช้คะแนนสอบ TGAT/TPAT/A-Level และ GPAX หรือคะแนนสอบที่มหาวิทยาลัยจัดสอบเอง โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะประมวลผลกันเอง รอบที่ 3 แอดมิชชัน เน้นกลุ่มคนทั่วไป ใช้คะแนนสอบ TGAT/TPAT/A-Level หรือ GPAX หรือคะแนนสอบที่มหาวิทยาลัยจัดสอบเอง แต่จะประมวลผลร่วมกันในระบบกลาง และ รอบที่ 4 รับตรง เน้นคนที่ยังไม่มีที่เรียน โดยมหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์คัดเลือกอย่างเป็นอิสระ
ส่วนการสอบจะแบ่งการสอบออกเป็น 1.การสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ TGAT (Thai General Aptitude Test) เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสารภาษาอังกฤษ และสมรรถนะการทำงานในอนาคต 2.การสอบความถนัดด้านวิชาชีพ หรือ TPAT (Thai Professional Aptitude Test) ได้แก่ TPAT 1 วิชาเฉพาะทางการแพทย์, TPAT 2 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์, TPAT 3 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์, TPAT4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์, TPAT5 ความถนัดครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และ 3.การสอบ A–Level Applied Knowledge Level หรือการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ ตามหลักสูตร ม.ปลาย ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาต่างประเทศ
...
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบทีแคสของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบทีแคส 68 ว่า “นักเรียนที่จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาปีการศึกษา 2568 หรือ TCAS68 จะต้องสมัครเข้าระบบ Mytcas.com โดยระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งในระบบจะมีข้อมูลของนักเรียนแต่ละคนทุกคนก็ต้องตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว โรงเรียน เกรดเฉลี่ย ทั้งถ่ายรูปประจำตัวเข้าเก็บไว้ในระบบเพื่อใช้ยืนยันตัวตน ทั้งใช้สมัครสอบ TGAT/TPAT/A-Level และใช้สำหรับการสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรอบต่างๆ ตามที่ต้องการ โดยการสมัครสอบ TGAT/TPAT จะเริ่มจากสมัครสอบ TPAT1 วิชาเฉพาะ กสพท. วันที่ 1-20 ก.ย.2567, สมัคร TGAT/TPAT 2-5 วันที่ 29 ต.ค.-5 พ.ย.2567, สมัครสอบ A-Level วันที่ 28 ม.ค.-6 ก.พ.2568 โดย การสอบ A–Level จะเป็นปีแรกที่นักเรียนเมื่อสอบเสร็จ จะสามารถนำข้อสอบกลับบ้านได้ทุกวิชา แปลว่าข้อสอบจะได้รับการเปิดเผย และ ทปอ.จะประกาศเฉลยคำตอบวันที่ 20 มี.ค.2568 โดยจะเฉลยเฉพาะข้อที่ถูกเท่านั้น โดยไม่มีคำอธิบายและไม่แสดงวิธีทำ และเป็นปีแรกที่ ทปอ.เปิดระบบรับข้อโต้แย้งเฉลยคำตอบ วันที่ 21–28 มี.ค.2568 ซึ่งหมายความว่า นักเรียนที่เห็นเฉลยคำตอบแล้ว มีความเห็นไม่ตรงกับ ทปอ.ก็สามารถโต้แย้งได้ผ่านระบบ Mytcas.com การเปิดระบบรับข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นมิติใหม่ในการลดปัญหาการแก้คะแนนภายหลัง โดย ทปอ.จะรวบรวมข้อโต้แย้งแต่ละวิชา ส่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาข้อโต้แย้งว่ามีมูลหรือไม่ จะต้องเปลี่ยนคำเฉลยหรือไม่ เมื่อกรรมการตัดสินไปในทิศทางใดจะถือเป็นข้อยุติ วิธีดังกล่าวเป็นการช่วยกันทำให้คะแนนที่ประกาศออกมาในวันที่ 17 เม.ย.2568 มีความนิ่งและถูกต้องที่สุด เพราะ ทปอ.ได้รับฟังข้อโต้แย้งหมดแล้ว และพิจารณาตัดสินเรียบร้อยแล้ว
...
สำหรับคำแนะนำการสมัครคัดเลือกในรอบที่ 3 แอดมิชชัน ซึ่งมีผู้สมัครให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งยังมีการเลือกคณะมากถึง 10 อันดับนั้น รศ.ดร.ชาลี ให้คำแนะนำว่า นักเรียนต้องค้นหาและเลือกหลักสูตรที่เราสนใจเรียนก่อน จากนั้นก็ศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกอย่างละเอียด และนำคณะที่ต้องการเรียนมากที่สุดไว้อันดับที่ 1 จากนั้นเรียงลำดับลดหลั่นกันไป โดยสามารถใช้โปรแกรมการคำนวณคะแนนที่ระบบ Mytcas.com มีอยู่ ที่ผ่านมาเราพอจะคาดเดาได้ว่า ผู้ที่สอบติดคณะที่เลือกอันดับที่ 1 คือผู้ที่สมหวัง โดยมากก็จะเรียนจนจบหลักสูตร แต่สำหรับคนที่ติดอันดับท้ายๆ ก็อาจจะไม่อยากเรียนและลาออกมาสอบคัดเลือกใหม่หรือที่เราเรียกว่า เด็กซิ่ว ซึ่งก็พอมีตัวเลขให้เห็นว่า ยอดเด็กซิ่ว เพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2562 มีร้อยละ 12 ปี 2564 เพิ่มเป็นร้อยละ 18 ปี 2566 เพิ่มเป็นร้อยละ 21 ปี 2567 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 การที่มีเด็กซิ่วเพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะได้หลักสูตรที่ไม่ถูกใจ จึงอยากสอบใหม่ แต่ถือเป็นความสูญเสียทรัพยากรทางการศึกษาของประเทศ ผู้เรียนเองก็เสียเวลา 1 ปี คำแนะนำจาก ทปอ.คือ ขอให้ศึกษาหลักสูตรที่เราอยากสมัคร โดยอาจจะคุยกับรุ่นพี่เรียนอยู่ คุยกับคนที่ทำอาชีพนั้น ไปร่วมกิจกรรมเปิดมหาวิทยาลัย ก็จะได้เข้าใจหลักสูตรและอาชีพนั้นได้ดีขึ้น โอกาสซิ่วก็จะน้อยลง
...
ทีมการศึกษา ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ นักเรียน ม.6 ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สนามสอบและคัดเลือกทีแคส 68 อันเข้มข้น ตอนนี้คงถึงเวลาเริ่มต้นที่น้องๆจะต้องค้นหาตัวตน ดูความชอบควบคู่กับประเมินความสามารถตนเอง วางเป้าหมายในอนาคตให้ชัดเจน ทั้งศึกษาข้อมูลหลักสูตรต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ จะได้เลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ในสาขาที่ชื่นชอบและตรงใจมากที่สุด
เพื่อลดความสูญเสียทั้งเวลา ทรัพยากรของชาติ และสำคัญสุดคือ โอกาสทั้งของตนเอง และสังคมส่วนรวม.
ทีมการศึกษา
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่