ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เผยถึงปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำว่า สวก.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร งานวิจัยที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การศึกษาชีววิทยาปลาหมอคางดำให้ได้ความชัดเจน อาทิ วงจรชีวิตการสืบพันธุ์ อาหาร ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญต้องศึกษาปลาเอเลี่ยนไปผสมกับปลาท้องถิ่นหรือไม่ และการศึกษาพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่ถูกรุกรานและดำเนินการเร่งรวบรวมและเพาะขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่ถูกรุกรานเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เรื่องเหล่านี้เป็นงานวิจัยต้องทำในระยะเร่งด่วน

“ในส่วนของงานวิจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะต้องศึกษาวิธีการการตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำ โดยด้านวิทยาศาสตร์ปัจจุบันถูกพูดถึงกันหลายวิธี ทั้งการทำให้เป็นหมันในธรรมชาติ เป็นกลไกนึง รวมถึงการใช้สารเคมี นอกจากวิธีดังกล่าวทาง สวก.ขอแนะนำว่า ควรมีการศึกษาฟีโรโมนของปลาหมอคางดำ เนื่องจากการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำเหมือนกับแมลง สัตว์อื่น ซึ่งจะมีฟีโรโมนหรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดเพศเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรวมฝูง”

...

ผอ.สวก.กล่าวอีกว่า ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาฟีโรโมนของปลาหมอคางดำ เพื่อบริหารจัดการที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรใช้หลักการใช้ฟิสิกส์เข้าไปช่วย เรื่องของแสง เสียง เนื่องจากสัตว์น้ำมีความไวต่อแสงพอสมควร อย่างการรวบรวมฝูงหมึกด้วยแสงไฟล่อสีเขียว ต้องมีการศึกษาวิจัยแสง เสียงที่เหมาะสม ที่จะล่อให้ปลามาอยู่รวมฝูงกันเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วต่อการ บริหารจัดการ

“ปลาชนิดนี้อาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จากข้อมูลการผ่าท้องพบเคย ซึ่งเป็นอาหารอันดับต้นๆของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลากะตัก ปลาหลังเขียว ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์น้ำในห่วงโซ่ผลิต หากปลาหมอคางดำกินเยอะจนสามารถตัดวงจรของเคย ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติจะลดลงไปอย่างแน่นอน จึงควรมีมาตรการการติดตามการเฝ้าระวัง ที่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กันไปด้วย อาทิ ระบบ GIS ระบบดาวเทียม แอปพลิเคชัน สำหรับให้เกษตรกร ชาวประมง หรือผู้ติดตามเฝ้าระวังรายงานเข้ามากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.วิชาญ กล่าว.

...

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม