ปัญหาการแผ่ขยายเผ่าพันธุ์ “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังกระจายไปในหลายจังหวัด กลายเป็นประเด็นร้อนกระตุ้นสังคมลุกขึ้นมา “ค้นหาข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับที่มาเส้นทางการระบาดของปลาชนิดนี้ที่เป็นต้นกำเนิดปัญหา ถูกนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
อันเป็นการไขปริศนาที่อาจจะเป็นกุญแจสำคัญ “ในการสืบเสาะต้นตอของการระบาดปลาหมอคางดำ” ที่จะนำไปสู่การจัดการกับตัวการปัญหาเพื่อให้มารับผิดชอบสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้โดย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี อดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) ให้ข้อมูลว่า
จริงๆแล้วปัญหาการระบาดปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ความอ่อนแอของกฎหมาย และการบังคบใช้กฎหมายเป็นสาเหตุก่อเกิดหายนะด้านสิ่งแวดล้อมให้เห็นอยู่ทุกวันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนผู้นำเข้า” อันเป็นต้นเหตุสำคัญของการระบาดที่มีหลักฐานทั้งในเชิงประจักษ์และหลักฐานที่ยังมองไม่เห็น “แต่กลับโยนความรับผิดชอบให้แก่บุคคลอื่น” ทำให้เราต้องออกมาเรียกร้องต่อความรับผิดชอบจากบริษัทผู้นำเข้า และกลไกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในครั้งนี้
...
ถ้าย้อนดู “การนำปลาหมอคางดำเข้ามาครั้งแรก” ตามหลักฐานกรมประมงถูกขอนำเข้าในปี 2549 ด้วยชื่อว่า “ปลาตระกูลเดียวกันกับปลานิล” แล้วทดลองเลี้ยงในปี 2553 “ในชื่อปลาหมอเทศข้างลาย” ส่งผลให้ชิปปิ้งเกิดปัญหาไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับชื่อทางวิทยาศาสตร์ “ปลาหมอคางดำได้” ในการนำเข้าเพื่อปรับปรุงพันธุ์นั้น
ต่อมาปี 2560 “เกษตรกรร้องเรียน คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)” ภายหลังบริษัทเอกชนก็ยกเลิกการทําวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการทําลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กำหนด “เจ้าหน้าที่กรมประมง” ลงพื้นที่ตรวจสอบได้รับรายงานว่าบริษัททำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบตามที่กรมประมงแถลงปรากฏในสื่อต่างๆ
ด้วยบริษัทอ้างว่า “เจ้าหน้าที่ประมง” รับตัวอย่างที่ใช้วิจัยไป 50 ตัวอย่างแล้วให้นำมาตรวจ DNA ตรงกับปลาหมอคางดำระบาดขณะนี้หรือไม่ แต่กรมประมงตรวจสอบในสมุดลงทะเบียนตั้งแต่นำเข้าถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างแต่อย่างใดและในปี 2561 กสม.ก็ระบุว่าบริษัทเอกชนละเมิดข้อกำหนดความปลอดภัยทางชีวภาพ
แต่ระหว่างชาวบ้านเดือดร้อนนั้น “บริษัทรายนี้” ในปี 2555 ก็ขอนำเข้าปลาเก๋าหยกเพาะพันธุ์เลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลาในระบบปิดน้ำเชิงพาณิชย์ในปี 2565 โดยผ่านมติ IBC อนุญาตเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
แล้วทำในพื้นที่ที่ “กรมประมงอนุญาต” ห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด ในส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยการตลาดให้จำหน่ายเป็นผลผลิตแบบไม่มีชีวิต
ต่อมาปรากฏพบว่า “บริษัทเอกชน” ละเมิดเงื่อนไขการอนุญาตของกรมประมง “โปรโมตปลาเก๋าหยก” มีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ทำนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่เสนอต่อ “กรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต” ทั้งยังทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบด้วย
สิ่งนี้สะท้อนพฤติการณ์ไม่เคารพกฎหมายโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบอันมาจาก “ความอ่อนแอของกฎหมายและการบังคับใช้” แต่ระหว่างที่เราเห็นความอ่อนแอของกฎหมายที่ไม่อาจนำผู้ก่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมมาลงโทษได้ “ภาครัฐกลับประกาศรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม” เมื่อไม่นานมานี้
เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรสามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างปลอดภัย และจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเหมาะสม ในการส่งเสริมการแข่งขันภาคการเกษตร รองรับวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นความเสี่ยงก่อเกิดปัญหาที่ซับซ้อนเหมือนกรณีมะละกอจีเอ็มโอตามมาก็ได้
เรื่องนี้มิใช่เพียงกระทบทางระบบนิเวศเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศด้วย เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับอันจะเป็นปัญหาใหม่ตามมามากมาย เช่น กรณีข้าวตัดแต่งพันธุกรรมที่ไม่มีการยอมรับเมื่อ 20 ปีก่อนก็อยู่ในนิยามการพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมด้วยจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนให้ดีๆเสียก่อน
...
สรุปอย่างนี้ว่าในช่วง 10 ปีแรก “เราไม่มีกฎหมาย” ที่มีบทลงโทษผู้นำเข้าสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมมาในระบบนิเวศก่อเกิดผลกระทบระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะกลไกความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น NBC TBC และ IBC ก็ไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนการบังคับใช้กฎระเบียบ และกฎหมายโดยหน่วยงานของรัฐก็อ่อนแอ
ทำให้บริษัทเอกชนนำเข้าเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่เคารพระเบียบ และกฎหมายทั้งก่อนมีบทลงโทษ และเมื่อปรับปรุงกฎหมายแล้วผ่านพ้นมา 10 ปี “บริษัทเอกชน” ก็ละเมิดกฎระเบียบตามกฎหมายเช่นเดิม “แถมผลักดันของบริษัทเอกชน และบรรษัทข้ามชาติ” เพื่อเปิดให้นำสิ่งมีชีวิต และพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GeneEditing) อีกต่างหาก
อันจะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ “ในประเทศไทย” รวมถึงปลาที่จะนำมาใช้กำจัดปลาหมอคางดำด้วย
ถัดมาประเด็นภายใต้การระบาดปลาหมอนี้ “ประชาชนล้วนเชื่อสิ่งที่บริษัทเอกชนให้ข้อมูล” ในการนำเข้าลูกปลาในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron 2,000 ตัว มาจากประเทศกานาในเดือน ธ.ค.2553 แล้วลูกปลาตายคัดแยกเหลือรอด 600 ตัวก่อนนำลูกปลามีชีวิตลงบ่อเลี้ยง
เนื่องจากปลาไม่แข็งแรง “ลูกปลาทยอยตายจนเหลือ 50 ตัว” ทำให้ตัดสินใจยกเลิกโครงการทำลายลูกปลาทั้งหมดนำฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวแล้วได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีน 50 ตัวให้เจ้าหน้าที่กรมประมงรายหนึ่งโดยที่ไม่ลงเอกสารอันเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอย่างมากเหมือนกัน
...
ทว่าในสถานการณ์ที่ “สังคมถูกทำให้เชื่อว่าปลา 2,000 ตัวตายหมดใน 16 วัน” ถูกฝังกลบแล้วสร้างตึกทับพื้นที่แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสงคราม ทั้งการส่งตัวอย่างปลา 50 ตัวให้กรมประมงตั้งแต่เดือน ม.ค.2554 จนกลายเป็นว่ากรมประมงถูกกดดันตกเป็นเป้าว่า “ทำตัวอย่างปลาหาย” แต่ระหว่างนี้ก็มีหลักฐานอื่นขึ้นมาใหม่
เช่น บริษัทเอกชนนำเข้าปลารายเดียวตามใบขออนุญาต 448 รายการ อนุญาต 381 รายการ ไม่อนุญาต 60 รายการ ชะลอนำเข้า 7 รายการ และกสม.ระบุว่าบริษัทนั้นละเมิดระเบียบความปลอดภัยทางชีวภาพ
นอกจากนี้ กรมประมงก็ชี้ชัดว่า “การระบาดเริ่มมาจากคลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน คลองผีหลอก” อันเป็นเอกสารรายงานประกอบทางกฎหมายที่ถูกส่งให้หน่วยงานต่างๆช่วยตรวจซึ่งเป็นหลักฐานในการระบาดปลาหมอคางดำมาจากฟาร์มเอกชนผู้นำเข้ารายเดียว
ยิ่งในรายงานทางวิชาการการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเขตชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากรพบว่าการระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน และไม่ได้นำเข้ามาหลายครั้ง
ตอกย้ำด้วยข้อมูลภายในจาก “อดีตเจ้าหน้าที่ในฟาร์ม” ที่เริ่มทำงานครั้งแรกก่อนนำเข้าปลาหมอคางดำในปี 2553 บอกว่าไม่ต้องไปขุดหาปลาหมอคางดำ เพราะปลานำมาไม่ได้ตายแบบที่เป็นข่าว แต่ปลาขนาดใบมะขามถูกเลี้ยงจนกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ “เพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น” โดยเคาะไข่นำฟักทุกๆ 7 วันเลี้ยงมาต่อเนื่อง
...
ไม่เท่านั้นนอกจาก “เลี้ยงปลาหมอคางดำ และปลาไฮบริด (คางดำผสมปลานิล)” แล้วยังเลี้ยงปลาแปลกๆ อย่างเช่นปลาหยก และจะละเม็ดครีบสั้นด้วย ในส่วนระบบน้ำในฟาร์มจะทำระบบปิด “น้ำเสีย” จะวนไปบำบัดในบ่อใหญ่เวียนกลับมาใช้ใหม่ ถ้าน้ำในระบบหายไปเยอะก็จะดึงน้ำจากคลองธรรมชาติเข้าไปเติม
สำหรับปลาในระบบหลุดอยู่ในบ่อบำบัดในคลองส่งน้ำต่างๆ นานา ในฟาร์ม แล้วก็จะมีการเข้ามาเคลียร์บ่อเก็บน้ำบ่อบำบัดด้วยการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม เพื่อเคลียร์ปลาในบ่อในคลองส่งน้ำในฟาร์ม ตรงนี้แหละที่ปลาอาจจะหลุดไปในคลองธรรมชาติ ดังนั้นหวังว่าหลักฐานทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นี่เป็นจุดเริ่มการระบาดถูกเปิดในวงเสวนาหายนะสิ่งแวดล้อมปลาหมอคางดำ : ชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศ ปฏิรูปความปลอดภัยทางชีวภาพ สะท้อนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเฉพาะหน้าไม่ได้ ถ้าตราบใดที่หาผู้รับผิดชอบทำให้เกิดปัญหานี้ไม่ได้ก็อาจนำพาวิกฤติใหญ่กว่านี้กลับมาอีก.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม