ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2567 (เม.ย.-มิ.ย.2567) หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
“สาขาพืชหดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จากผลกระทบของเอลนีโญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 มาจนถึง เม.ย.2567 ทำให้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่ประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยและไม่สมบูรณ์” นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ลำไย และทุเรียน
สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ
สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 0.6 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
...
สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากฟาร์มสุกรมีมาตรฐานการผลิตที่มีความปลอดภัยมากขึ้น สามารถควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ได้ แต่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรรายย่อยขยายการผลิตมากนัก ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความ ต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาค การท่องเที่ยวที่ขยายตัว
สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ มีการปรับสมดุลผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยปรับลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และ น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายเลิกกิจการหรือมีการปรับลดจำนวนโคที่เลี้ยง รวมถึงการเปลี่ยนไปเลี้ยงโคเนื้อแทน
สาขาประมงหดตัวร้อยละ 4.6 กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่การเพาะเลี้ยงและชะลอการปล่อยลูกกุ้ง สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ปลานิลและปลาดุก ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารปลาที่อยู่ในระดับสูง เกษตรกรชะลอการเลี้ยง
สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวร้อยละ 1.0 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้ง แล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช ประกอบ กับภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง
สาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 2.7 ไม้ยางพารา เพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า ตลาดจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รังนก เพิ่มขึ้นเนื่องจากรังนกของไทยมีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ครั่ง ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของครั่ง รวมถึงมีการส่งออกไปยังประเทศอินเดียลดลง
...
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.2-1.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือภาวะเอลนีโญที่สิ้นสุดลง ทำให้มีปริมาณฝนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม