สถานการณ์ระบาดปลาหมอสีคางดำ “ในประเทศไทย” ได้รุกลามแผ่ขยายออกไปอย่างน้อย 17 จังหวัดในภาคตะวันออก และภาคใต้ยาวจนถึงอ่าวตัว ก. ที่ยากจะกำจัดให้หมดสิ้นกลายเป็นเผือกร้อนให้หลายภาคส่วนหันมาสนใจกับผลกระทบต่อระบบหวงโซ่อาหารทางน้ำนับวันจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยปัจจัยสภาพอากาศไทยเหมาะ “ขยายพันธุ์ปลาหมอคางดำ” ทำให้ระบาดอย่างรวดเร็วจนมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาหายนะสิ่งแวดล้อมปลาหมอคางดำ : ชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ในการระบาดปลาหมอคางดำกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง วินิจ ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บอกว่า ข้อมูลทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ “ปลาหมอคางดำ” แม้จะอยู่ในน้ำจืด 0 parts per thousand (PPT) ถึงน้ำเค็ม 45 PPT ได้ แต่ปลามักชอบอยู่น้ำกร่อยชายฝั่งตื้นความเค็ม 10-15 PPT มากกว่า

ทำให้พบปลาในน้ำจืดหรือน้ำเค็มน้อยตามปากแม่น้ำ ป่าชายเลนอุณหภูมิ 18-33 องศาฯ “เหตุนี้จึงไม่แปลกใจทำไมปลาหมอคางดำมักระบาดตามชายฝั่งใน 17 จังหวัด” แม้แต่ในต่างประเทศที่พบการระบาดมาก อย่างเช่น รัฐฟลอริดา ฮาวาย สหรัฐฯ และอ่าวมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ก็ระบาดในน้ำกร่อยเช่นกัน

...

ทว่ากรณีเจอปลาหมอคางดำในทะเลอ่าวไทยอาจเป็นไปได้ว่า “ปลาหลุดรอดไป” สุดท้ายก็จะเข้ามาอยู่ตามชายฝั่งน้ำกร่อยเช่นเดิม “เพื่อผสมพันธุ์วางไข่ในอุณหภูมิ 24 องศาฯ ขึ้นไป” เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าระดับ 20-23 องศาฯ “ระบบสืบพันธุ์จะไม่ทำงาน” สังเกตจากในฟลอริดาช่วงฤดูหนาวปลาจะหยุดวางไข่ทำให้ระบาดไม่มาก

แตกต่างจาก “ประเทศไทยที่การระบาดอยู่ในระดับรุนแรง” เพราะสภาพอากาศเหมาะสมกับการขยายพันธุ์โดยเฉพาะบริเวณ “อ่าวไทยรูปตัว ก.”อันมีความพร้อมทั้งความเค็มน้ำ และอุณหภูมิในการผสมพันธุ์แล้ว “ปลาตัวเมีย” จะวางไข่ออกมาประมาณ 300-600 ฟอง ปล่อยให้ “ปลาตัวผู้” อมเก็บไว้ในปาก 14 วันฟักเป็นตัว

ในระหว่างนี้จึงเกิดปัญหาระบาดผ่าน “นกที่โฉบมาจับปลาตัวผู้อมไข่หรือคนพาไปแหล่งน้ำอื่น” ทำให้กระจายไปอีกหลายพื้นที่โดย “ตัวอ่อน” มักอาศัยอยู่เป็นฝูง กินแพลงก์ตอน เนื้อสัตว์ เมื่อตัวโตจะดูดกินโคลนดินมีไดอะตอมเศษซากอินทรียวัตถุ และชอบออกหากินกลางคืนเป็นฝูงในน้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร และดินเป็นกรดก็อยู่ได้

ตอกย้ำว่า “ปลาหมอคางดำกินดุ” แต่โตช้าได้เนื้อปลาน้อย อย่างปลา 1 ตัว กินอาหาร 5 กก. จึงจะได้เนื้อขนาด 1 กก. แถมเนื้อกลับไม่มีคุณภาพทำให้การนำไปทำปลาป่นก็จะไม่มีคุณภาพเหมือนกับปลาที่ได้จากทะเล

ปัญหามีว่า “ปลาหมอคางดำมักกินสัตว์พื้นถิ่น” ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือฟาร์มเพาะสัตว์น้ำ “อันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ” แต่ด้วยตัวปลาหมอคางดำกลับขายได้เพียงกิโลกรัมละ 15 บาท เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงอาชีพประมงโดยตรง

ถ้าย้อนดูปี 2561 “มีการสำรวจความเสียหายใน จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี” คราวนั้นใน จ.สมุทรสงครามมีฟาร์มเลี้ยงกุ้ง 501 แห่ง ในเนื้อที่ 4.8 หมื่นไร่ “พบปลาหมอ 1.4 ล้าน กก.” ส่วน จ.เพชรบุรี มีฟาร์ม 74 แห่งในเนื้อที่ 4 พันไร่ “พบปลาหมอ 1.5 แสน กก.” ถ้าคิด 20 ตัวต่อ กก.ก็เท่ากับมีปลาหมอคางดำ 30 ล้านตัวใน 2 จังหวัดนี้

กลายเป็นก่อความเสียหายต่อ “เกษตรกร” เดิมเคยมีรายได้ 9 พันบาท/ไร่ก็ลดลงเหลือ 4,500-6,300 บาท/ไร่ ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายใน 2จังหวัดอยู่ที่ประมาณ 150-350 ล้านบาท จากจำนวนผลผลิตของสัตว์ที่หายไป

ยิ่งกว่านั้นปลาหมอคางดำยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและนิเวศชุมชนมาตั้งแต่ปี 2559-2561 โดยปี 2559 เสียหายต่อรายได้ของชุมชนลดลง 5% ปี 2560 รายได้หายลดลง 10% ปี 2561 ลดลง 15% ปัจจุบันคาดว่าความเสียหายต่อรายได้ไม่ต่ำกว่า 90% ด้วยเฉพาะชุมชนแพรกหนามแดงชุมชนเดียวก็มีมูลค่า 100 ล้านบาท

หากดูข้อมูลงานวิจัยจากกรมประมงทำการทดลองไว้เมื่อปีที่แล้ว “พฤติกรรมการล่าเหยื่อของปลาหมอคางดำในห้องปฏิบัติการ” สามารถเข้าไล่ล่ากุ้งได้ภายใน 15-60 วินาที โดยไล่กัดระยางค์ส่วนหัวก่อน และมีการไล่กัดกุ้งทีละตัวแล้วรุมแทะเป็นฝูง กัดกินกุ้งไม่เหลือซาก และการไล่กัดอาจกินเวลาต่อเนื่องได้ถึง 3-4 ชม.

เช่นนี้หากปลาหมอคางดำระบาดหลุดเข้าฟาร์มเพาะเลี้ยงนั้น “สัตว์น้ำยังไงก็ต้องหมด” โดยเฉพาะฟาร์มระบบเปิดที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดแม้แต่ “ฟาร์มแบบปิด” มีระบบกรองน้ำเข้าบ่ออย่างดีก็ไม่รอด เพราะอย่าลืมว่านกสามารถนำพาปลาหมอคางดำที่มีไข่หลุดเข้ามาลงบ่อเลี้ยงก่อเกิดการระบาดได้เช่นกัน

...

แต่ถ้าดูจากการระบาดในพื้นที่ 17 จังหวัดตามข้อมูล มีผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ 2 หมื่นฟาร์มในพื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ แยกเป็นเลี้ยงกุ้ง 71.9% เลี้ยงหอย 18.3% เลี้ยงปลา 9.1% เลี้ยงปู 0.7% มีผลผลิตเฉพาะการเลี้ยงกุ้งอยู่ที่ 2.5 แสนตัน/ปี มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท แต่การระบาดปลาหมอคางดำน่าจะกินกุ้งเลี้ยงไปแล้ว 10% สร้างความเสียหาย 4 พันล้านบาท

ส่วนประเด็น “ชาวประมงพบปลาหมอคางดำในทะเล” ความจริงเรื่องนี้จับได้เพียง 1-2 ตัวต่อเรือ 1 ลำ ในระยะ 1-3 ไมล์ทะเล ก่อนนำตัวอย่างส่งให้กรมประมงอันมีความเป็นไปได้ว่า “คลื่นซัดปลาออกไป” เพราะแม้ปลาหมอคางดำปรับตัวในน้ำเค็มได้ “แต่ก็ไม่ชอบอยู่” ดังนั้นอุณหภูมิและความเค็มน้ำจะเป็นตัวจำกัดการระบาดได้

จริงๆแล้ว “ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ” ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนต้องมานั่งแก้ไขปัญหานี้ด้วยซ้ำ “แต่บุคคลใดก่อก็ควรเป็นผู้จัดการเอง” เพราะชาวบ้านไม่มีเครื่องมือ ไม่มีกฎหมาย แม้แต่กรณีให้ออกไปจับปลายังต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน แต่ว่าภาครัฐกลับไม่สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรใดๆเลย

...

ฉะนั้นเมื่อการระบาดรุกรานของปลาหมอคางดำใน 17 จังหวัด “เป็นวาระแห่งชาติ” เช่นนี้รัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากรบุคลากร อย่างเต็มที่ต่อเนื่อง เพื่อขจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศแหล่งน้ำ และจำกัดพื้นที่การระบาดให้ลดลงมากที่สุดในระยะเวลาที่ชัดเจน 4-5 ปีนี้

ทั้งเยียวยาลดความเสียหายให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง เพื่อให้มีอาชีพในการยังชีพกลับมา ด้วยการกำหนดชดใช้ค่าเสียหาย “บนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” แล้วนำเทคโนโลยี Environmental DNA (eDNA) ที่พัฒนาขึ้นมากราคาถูกมาช่วยตรวจพบปริมาณที่ผิดปกติแต่เนิ่นๆ หรือควบคุมกำจัดได้ทันเวลา

เพียงแต่การแก้ปัญหาตอนนี้ที่ “ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติก็อาจเกิดขึ้นได้ชาติหน้า” เพราะไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการดำเนินการใดๆออกมาไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรด้วยซ้ำ

“ปลาหมอคางดำเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่กำลังสร้างความเสียหายหนักต่อระบบนิเวศทางน้ำประเทศชัดเจน เพราะถูกปล่อยปละละเลยมานานเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับปลาเยอะขนาดนี้เราควรต้องออกแอ็กชันอะไรบางอย่าง หรืออาจจะเริ่มจากฟ้องร้องค่าเสียหายในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักโดยตัวเองก็พร้อมจะช่วยเหลือเรื่องนี้” วินิจว่า

...

เช่นเดียวกับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว บอกว่า ที่ผ่านมาเราเคยเผชิญกับเอเลี่ยนสปีชีส์มามากมายแม้แต่ตอนนี้ก็กำลังเจอกันอยู่ “แต่ก็ไม่เคยเจอปลาหมอคางดำอันเป็นซุปเปอร์เอเลี่ยนสปีชีส์แบบนี้มาก่อน” ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมุ่งกำจัดเหมือนดั่งในประเทศที่มีการระบาดนั้น

โดยรัฐบาลต้องช่วยจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ “เพื่อจัดกลุ่มคนออกไล่ล่าอย่างต่อเนื่องให้ปลาหมอคางดำกลายเป็นศูนย์” ควบคู่กับการฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำลำธารชายฝั่งด้วย “แต่มิใช่สักแต่จะปล่อยสัตว์น้ำ”ควรต้องสร้างบ้าน และแหล่งอาหารให้เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำได้อยู่อย่างปลอดภัยยั่งยืน

นี่คือสถานการณ์ระบาด “ซุปเปอร์เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศร้ายแรงที่สุด “อันเป็นบทเรียนราคาแพง” ต้องถอดบทเรียนหาทางแก้ปัญหาจริงจังก่อนทุกอย่างจะสายไปมากกว่านี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม