นายกฯติวเข้ม กทม.รับมือฤดูน้ำหลากป้องเขตเศรษฐกิจและชุมชนเปราะบาง ขณะที่สถานการณ์น้ำป่าเขาใหญ่ไหลหลากท่วมชุมชนตลาดเก่ากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี จมมิดถึง 1 เมตร ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำเข้าออกบ้าน ด้านชายแดนแม่ระมาด จ.ตาก เจอฝนน้ำป่าถล่มหมู่บ้านกลางดึก ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน แม่น้ำแม่สะงาเอ่อท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 1,000 ไร่ ด้าน จ.เชียงใหม่ ฝนกระหน่ำดินอุ้มน้ำไม่ไหวสไลด์ลงมาขวางถนนบนดอยสุเทพ 3 จุด ขณะที่ชาวสวนเมืองจันท์โอดน้ำท่วมหลายวัน หวั่นทุเรียนยืนต้นตายยกสวน
หลายจังหวัดยังเผชิญกับฝนตกน้ำท่วม สถานการณ์เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ จ.ตาก เกิดฝนตกหนักในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะบริเวณชายแดน อ.แม่ระมาด พายุฝนเทกระหน่ำตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 195 มิลลิเมตร กระทั่งกลางดึกที่ผ่านมาเกิดน้ำป่าไหลบ่าลงลำห้วยแม่ระมาดเข้าท่วมชุมชนใจกลางเมืองแม่ระมาดพื้นที่หมู่ 2 ต.แม่ระมาด ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ส่วนใหญ่ชาวบ้านกำลังหลับนอนต่างตกใจตื่น รีบอุ้มผู้สูงอายุและผู้ป่วยไปอาศัยบนที่สูง ทำให้ขนข้าวของเครื่องใช้ในบ้านไม่ทันจมน้ำเสียหายหมด ขณะที่น้ำท่วมขังอยู่ไม่กี่ชั่วโมงก็เริ่มระบายลงที่ต่ำและค่อยลดระดับลงเรื่อยๆ
กระทั่งเช้าสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทิ้งไว้แต่ร่องรอยดินโคลนซากความเสียหาย ปรากฏว่าระหว่างชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาดบ้านล้างทรัพย์สินภายในบ้าน จู่ๆฝนตกหนักเหมือนฟ้ารั่วและน้ำป่าถล่มรอบสอง กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากชาวบ้านต้องหนีน้ำกันอีกรอบ หลังเกิดเหตุทหารหน่วยเฉพาะกิจราชมนูร่วมกับทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 ตำรวจและฝ่ายปกครองระดมกำลังเข้าไปช่วยชาวบ้านอพยพหนีน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายอีกหลายตำบล เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนภัยทุกหมู่บ้านเสี่ยงภัยพิบัติน้ำท่วมและดินโคลนถล่มตลอด 24 ชม.
...
ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดฝนตกหนักเมื่อคืนวันที่ 31 ก.ค.ต่อเนื่องเกือบถึงเช้า ทำให้น้ำป่าไหลหลากลงแม่น้ำแม่สะงาเอ่อล้นตลิ่งท่วมนาข้าวบ้านกุงไม้สัก หมู่ 2 ต.ปางหมู และ ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เสียหายกว่า 1,000 ไร่ นอกจากนี้สวนผลไม้ได้รับผลกระทบอีกกว่า 60 ไร่ ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวสะพานซูตองเป้น้ำท่วมสูง เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าและอาหารต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำไปไว้บนที่สูงกันจ้าละหวั่น ขณะที่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังเกิดเหตุนายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกับร.ท.สุรชาติ ปัญญาเทพ หน.ชป.กร.307 กองกำลังนเรศวร และหน่วย ฉก.สิงหนาท ร้อย.ร.1743 เข้าช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำปายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช้านี้วัดได้ 1.98 เมตร อีกทั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำใน อ.ปาย อ.ปางมะผ้า และ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้ แม่น้ำสาขาสายต่างๆไหลบ่าลงสู่แม่น้ำปาย คาดว่าจะเอ่อท่วมพื้นที่เกษตรที่ส่วนใหญ่ปลูกงาริมสองฝั่งแม่น้ำ บริเวณบ้านปางหมู บ้านทุ่งกองมู และบ้านสบสอย ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน
ส่วน จ.เชียงใหม่ ฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ดินบนดอยสุเทพอุ้มน้ำไม่ไหวสไลด์ลงมาขวางถนนบนดอยสุเทพ 3 จุด หลังเกิดเหตุ นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบดินและต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มขวางถนนเส้นทางระหว่างบ้านภูพิงค์และบ้านม้งดินปุย จุดที่สองบริเวณใกล้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และจุดสุดท้ายใกล้บริเวณน้ำตก ป.ป.ป. ระหว่างบ้านดอยสุเทพกับบ้านภูพิงค์ เจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านนำอุปกรณ์ไปช่วยเคลียร์เส้นทางกวาดดินโคลนและตัดต้นไม่ให้นักท่องเที่ยวสัญจรได้ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายจากการเดินทาง เนื่องจากมีฝนตกลงมาไม่ขาดสายอาจเกิดเหตุดินสไลด์และต้นไม้ล้มได้ตลอดเวลา
ด้าน จ.จันทบุรี หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาไม่หยุด โดยเฉพาะ อ.นายายอาม ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล และ อ.ท่าใหม่ ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมคลองวังโตนด น้ำเอ่อท่วมสวนทุเรียนเสียหายนับพันไร่ นางบุญรัตน์ บุญสิงห์ ชาวบ้านหมู่ 13 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ เผยว่าบ้านถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากหมู่บ้านเป็นพื้นที่รับน้ำเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด หลังอ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ.แก่งหางแมว ที่อยู่พื้นที่ตอนบนเร่งระบายน้ำลงสู่คลองวังโตนด ตอนนี้น้ำยังท่วมเฉลี่ย 50-120 เซนติเมตร ที่น่าวิตกกังวลมากคือต้นทุเรียนไม่สามารถทนกับสภาพน้ำท่วมขังได้นานเกิน 5 วัน หากสถานการณ์ ไม่ดีขึ้นมีหวังต้นทุเรียนคงยืนต้นตายหมดสวนแน่นอน
ที่ จ.กาญจนบุรี นายสกล อักษรธนาวัฒน์ ผู้อำนายการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ มีหนังสือประกาศแจ้งการระบายช่วงวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค. หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำแควน้อยตั้งแต่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.ไทรโยค เริ่มลดลง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เขื่อนวชิราลงกรณมีความจำเป็นต้องระบายน้ำ เพื่อเตรียมรับน้ำจากพายุฤดูฝนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ระบายน้ำ 5 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 1 ส.ค. ระบายน้ำ 10 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 2 ส.ค. ระบายเพิ่มอีก 15 ล้าน ลบ.ม. ส่วนระดับน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีฝนตกเหนือเขื่อนใน อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี ล่าสุดวันที่ 1 ส.ค.ระดับน้ำอยู่ที่ 148.66 ม. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณน้ำกักเก็บ 6,589.27 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73.97% ปริมาณน้ำไหลเข้า 37.15 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออก 5 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับได้อีก 2,306.68 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนที่ จ.ปราจีนบุรี เกิดฝนตกหนักในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำให้น้ำป่าไหลลงคลองวังมืด ลำน้ำใสน้อยและใสใหญ่ไปรวมกันที่คลองลำพญาธารก่อนไหลลงแควหนุมานบริเวณชุมชนตลาดเก่าเทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี ประกอบกับน้ำจากแควพระปรงและแควพระสะทึง จ.สระแก้ว ไหลมาสมทบเอ่อล้นท่วมในชุมชนตลาดเก่าสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำเข้าออกบ้านด้วยความลำบาก น้ำยังท่วมอาคารเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 สูงประมาณ 10 ซม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
...
ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง กทม. เวลา 13.30 น.วันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมหารือ นายเศรษฐา กล่าวว่า ปีนี้ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้ฝนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้น้ำจะไหลลง กทม.ช่วง ส.ค.-พ.ย. รัฐบาลและ กทม.ต้องเตรียมป้องกันผลกระทบกับประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่ชุมชนแออัดเปราะบาง ต่อมานายกฯเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมเขตมหานคร และเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากนั้น นายกฯเปิดเผยว่า มาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องเขื่อนกั้นน้ำใน จ.ปทุมธานี ที่ยังไม่มีการสร้างได้สั่งให้ทีมงานไปดูว่าเอางบฯตรงไหนมาทำได้บ้าง
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่