อรปรียา เซสาชน นักเรียนระดับอาชีวะวัย 17 ปี เข้ารับการฝึกงานที่ร้าน T-Time Café & Restaurant หลังจากถูกระบุว่าเป็นเยาวชนกลุ่มเสี่ยง NEET

เมื่อ อรปรียา เซสาชน ได้รู้จักกับอาหารอย่างไก่ผัดเม็ดมะม่วง ไข่ระเบิด หรือ ชีสเค้กมะขาม เป็นครั้งแรก ประตูสู่โลกใบใหม่ของเธอก็ถูกเปิดออก “หนูตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยได้ยินชื่ออาหารพวกนี้มาก่อนเลย” เธอเล่าถึงประสบการณ์การฝึกงานที่ร้านกาแฟ T-Time Café & Restaurant ในตัวเมืองอุดรธานี และได้รู้จักกับอาหารที่ฟังดูแสนจะธรรมดาสำหรับใครหลายคน ระยะเวลาสองเดือนของการฝึกงานในครัวร้านอาหารแห่งนี้เปรียบเสมือนประตูที่จะพาให้เธอเดินไปสู่ความฝันการเป็นเจ้าของร้านกาแฟของตัวเองในสักวัน

ย้อนกลับไปในหมู่บ้านของเธอในตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ ซึ่งห่างจากตัวเมืองอุดรธานีเพียงประมาณ 30 กิโลเมตร ชีวิตของเด็กๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้แตกต่างออกไป เด็กและเยาวชนอย่างอรปรียากำลังเผชิญกับความท้าทายในชีวิต หลายคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน ในขณะที่บางคนไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถ้าอยากจะเรียนต่อสายอาชีพ อรปรียาอาศัยอยู่กับพ่อเลี้ยง แม่ที่ป่วย และพี่ๆ อีกสามคน เธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้ เพราะรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเยาวชนกลุ่ม NEET ซึ่งหมายถึงเยาวชนที่ไม่อยู่ในการจ้างงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม

ญานิสา ศรีวาปีกำลังช่วยอรปรียาเสิร์ฟบราวนี่ที่เพิ่งอบเสร็จใหม่จากเตาให้กับแขกที่มาประชุมที่องค์การบริหารส่วนตำบาลนาพู่
ญานิสา ศรีวาปีกำลังช่วยอรปรียาเสิร์ฟบราวนี่ที่เพิ่งอบเสร็จใหม่จากเตาให้กับแขกที่มาประชุมที่องค์การบริหารส่วนตำบาลนาพู่

ปรากฏการณ์ NEET เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย และสถานการณ์แย่ลงไปอีกหลังวิกฤติโควิด-19 รายงานเชิงลึกที่เผยแพร่โดยยูนิเซฟเมื่อปี 2566 เปิดเผยว่า ปัจจุบันเยาวชนไทยเกือบ 1.4 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม NEET หลายคนต้องใช้เวลาหางานนานขึ้น โอกาสทางการศึกษาลดลง และถูกตัดจากสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าจังหวัดอุดรธานีมีประชากร NEET มากเป็นอันดับสองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วิลสา พงศธร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัยรุ่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ ชาติพันธุ์ ปัญหาสุขภาพ การศึกษาน้อย การขาดโอกาส การสนับสนุนที่จำกัด สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ดี และทักษะที่ไม่ตรงความต้องการของตลาด ทำให้คนหนุ่มสาวมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น NEET ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับสังคมสูงอายุเช่นประเทศไทย ที่จำเป็นต้องทำให้เยาวชนมีความสามารถและมีความพร้อมมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

องค์การยูนิเซฟ ได้ร่วมมือกับสศช. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ริเริ่มโครงการนำร่องในท้องถิ่นเพื่อนำเยาวชน NEET กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การฝึกอบรม หรือการทำงาน

หลังจากการฝึกอบรมระยะสั้น พีระพัฒน์ ศรีคำก็พร้อมให้บริการซ่อมแอร์และสร้างรายได้จากอาชีพดังกล่าว
หลังจากการฝึกอบรมระยะสั้น พีระพัฒน์ ศรีคำก็พร้อมให้บริการซ่อมแอร์และสร้างรายได้จากอาชีพดังกล่าว

โครงการนี้เริ่มครั้งแรกในปี 2566 ที่ตำบลนาพู่ จังหวัดอุดรธานี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ Reinforced Youth Warranty ของสหภาพยุโรป ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างแผนความต้องการของเยาวชนแต่ละคน การค้นหาเยาวชน NEET การเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วม และการนำเสนอโอกาสในการเสริมสร้างชีวิต ซึ่งในตอนแรกเยาวชนผู้เข้าร่วมบางคนลังเลที่จะเข้าร่วมการฝึกอบรม แต่ด้วยความช่วยเหลือขององค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เยาวชนที่ลงทะเบียนทั้ง 32 คนเริ่มมั่นใจว่าโครงการนี้จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ให้พวกเขา และตลอดระยะเวลาหนึ่งปี โครงการนี้สามารถนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ 28 คนกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานหรือการเรียนรู้เพิ่มเติมได้สำเร็จ

“เราพยายามกระตุ้นเยาวชนของเราในพื้นที่อยู่หลายปี” อำนวย อินทรธิราช นายกอบต.นาพู่ กล่าว ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมอบต.นาพู่จึงกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องในครั้งนี้

ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงกลยุทธ์ สศช. เชื่อว่าคนหนุ่มสาวเช่นอรปรียาและเยาวชนในตำบลนาพู่ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ “การเพิ่มขึ้นของเยาวชน NEET ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ” เธอชี้ให้เห็นว่าในระดับธุรกิจ ผู้ประกอบการจะมีโอกาสหาคนทำงานที่มีผลิตภาพสูงได้น้อยลง และส่งผลให้จำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง ในระดับประเทศ ภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยลง และอาจต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดสวัสดิการทางสังคมสำหรับกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความยั่งยืนทางการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

แม้ ญานิสา ศรีวาปี จะยังใหม่ในเรื่องตัดผม แต่เธอก็พร้อมจะให้บริการลูกค้าในละแวกบ้านแล้ว
แม้ ญานิสา ศรีวาปี จะยังใหม่ในเรื่องตัดผม แต่เธอก็พร้อมจะให้บริการลูกค้าในละแวกบ้านแล้ว

สำหรับอรปรียา โครงการนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ “มันทำให้หนูได้ค้นหาความชอบในการทำอาหาร” เธอพูดถึงการฝึกงานที่ร้านกาแฟ

เรื่องราวของอรปรียาสะท้อนถึงญานิสา ศรีวาปี วัย 19 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อในหมู่บ้านเดียวกัน เธอเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาและต้องพึ่งพาพ่อของเธอมาโดยตลอด เธอใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของร้านเสริมสวยมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นขอคำแนะนำจากหน่วยงานไหนและอย่างไร จนกระทั่งเธอได้รับเข้าร่วมกับโครงการริเริ่มดังกล่าว

ผศ.วรวัฒน์ ทิพย์จ้อย ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เล่าถึงความสำคัญของแนวทางการจัดหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของเยาวชนและอธิบายว่า “เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อจัดให้มีการฝึกงานและจัดหางาน” โดยเน้นย้ำถึงความพยายามในการเชื่อมแรงบันดาลใจของเยาวชนและความต้องการของอุตสาหกรรมในท้องถิ่น โดยธุรกิจที่เข้าร่วมและผู้ให้บริการฝึกอบรม ได้แก่ T-Time Café & Restaurant, บ้านสุขสบาย, วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ, สโมสรโรตารีอุดรธานี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่เสริมศักยภาพเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจด้วยการสร้างบุคลากรที่มีทักษะและแรงบันดาลใจพร้อมในการทำงาน

ธนมนญ์ ตัถย์วิสุทธิ์ เจ้าของร้านกาแฟ T-Time Café & Restaurant ได้เห็นถึงผลของการลงทุนกับเยาวชนอย่างอรปรียาโดยตรง “เรามองเห็นศักยภาพของน้องตั้งแต่ในช่วงการสัมภาษณ์” เธอกล่าว และเล่าถึงความประทับใจกับพัฒนาการของอรปรียาระหว่างการฝึกงาน แม้ต้องเจอกับความท้าทายกับการปรับตัวของทั้งสองฝ่ายในช่วงต้น แต่ความเชื่อมั่นของธนมนญ์ที่ต้องการให้โอกาสกับทุกคนทำให้แผนการฝึกงานครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี

“ไม่มีใครเคยถามเราว่าเราอยากทำอะไรหรือเรียนรู้อะไร แต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน” พีระพัฒน์ ศรีคำ วัย 17 ปี กล่าว เขามีรายได้จากรับจ้างทั่วไปเป็นครั้งคราวจึงมีเสี่ยงต่อการเป็น NEET เขาและเพื่อนๆ หลายคนต้องการเรียนรู้การซ่อมเครื่องปรับอากาศ จึงเลือกที่จะกลับเข้ารับการฝึกอบรมหลังจากหยุดเรียนไปสองปี

หนึ่งปีผ่านไป พีระพัฒน์พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมซ่อมเครื่องทำความเย็น ตอนนี้ญานิสาจบการฝึกอบรมการตัดผมแล้ว และอรปรียาได้ฝึกงานในครัว ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ได้กลับไปโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในขณะที่คนหนึ่งสำเร็จการอบรมด้านการดูแลคนสูงอายุระยะสั้นและจะทำงานในบ้านพักคนชรา พัฒนาการเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวแรกที่จะพาเยาวชนแต่ละคนบรรลุความฝันของตัวเอง

หลังจากหนึ่งปีของโครงการนำร่อง NEET จบลง เยาวชน 28 คนจากตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ อุดรธานี ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นเยาวชน NEET หรือกลุ่มเสี่ยงต่างกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมแล้ว
หลังจากหนึ่งปีของโครงการนำร่อง NEET จบลง เยาวชน 28 คนจากตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ อุดรธานี ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นเยาวชน NEET หรือกลุ่มเสี่ยงต่างกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมแล้ว

ความสำเร็จของเยาวชนทั้ง 28 คนนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการในอนาคต

“น้ำตาจะไหลตอนที่ได้เห็นว่าน้องๆ เปลี่ยนไปมากแค่ไหน” วิลสากล่าว เธอเห็นน้องทุกคนตั้งแต่วันแรกที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการหลังจากถูกระบุว่าเป็นเยาวชน NEET และกลุ่มเสี่ยงภายใต้โครงการ “พวกเขาดีใจที่มีคนถามว่าเขาฝันอยากเป็นอะไร หรืออยากทำอาชีพอะไร”

วิลสาชี้ให้เห็นว่ามันไม่ยุติธรรมที่เยาวชน NEET มักถูกมองว่าไม่มีแรงจูงใจ “โครงการนำร่องนี้แสดงให้เห็นว่าเยาวชน NEET ไม่ได้ขาดแรงบันดาลใจ แต่หลายคนขาดการเข้าถึงหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน และนี่เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องจัดหาความจำเป็นเบื้องต้นเพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21”

ทุกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการนำร่อง NEET นี้หวังว่าโครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นแสงสว่างแห่งความหวังในท้องถิ่น ในขณะที่ประเทศไทยมีการดำเนินการเพื่อลดจำนวนประชากรเยาวชน NEET โครงการริเริ่มเหล่านี้ไม่เพียงแต่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่ยังสร้างชุมชนที่เข้มแข็งที่มองเห็นคุณค่าความสามารถของเยาวชนทุกคน และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนพวกเขาเสมอ