สิ่งแวดล้อมไทยกำลังเผชิญกับ “การระบาดของปลาหมอคางดำระดับรุนแรง” ที่แพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 17 จังหวัดทั่วประเทศ และกำลังรุกรานขยายเผ่าพันธุ์ในน้ำทะเลอ่าวไทยลงสู่ “ทะเลสากล” มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายทางชีวภาพห่วงโซ่อาหารอีกไม่นานเกินรอนี้
กลายเป็นสถานการณ์วิกฤติ “ส่งผลกระทบทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในอีกไม่นาน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ บอกว่า ตามการศึกษาตำแหน่งการระบาดจาก “รอบฟาร์มวิจัยใน จ.สมุทรสงคราม” เริ่มสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงตั้งแต่ปี 2555-2560
กระทั่ง “เกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี” ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แล้วในปี 2561 “กรมประมง” ประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงสัตว์ 13 ชนิด ในจำนวนนี้มีปลาหมอสีคางดำด้วยแต่ก็ไม่อาจหยุดการระบาดได้ ยังคงแพร่ขยายพันธุ์ไปอีกหลายพื้นที่จนถึงทุกวันนี้
อย่างเช่น “ฝั่งตะวันออก” ที่รุกลามไปในเขตบางขุนเทียน กทม. และ จ.สมุทรปราการ ก่อนข้ามไปยัง จ.ระยอง และเขตคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี “ภาคใต้” ก็เลาะไปตาม จ.เพชรบุรี ยาวจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์
...
ต่อมาในปี 2565 เริ่มมีการศึกษาดีเอ็นเอให้ทราบแหล่งที่มา ก็พบว่า “การระบาดตั้งแต่เขตบางขุนเทียนยาวไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นปลาหมอคางดำมาจากแหล่งเดียวกัน” หลังจากนั้นในอีก 2 ปีถัดมาก็แพร่ระบาดลงไป จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี และตอนนี้ก็ได้ไปสุดที่แม่น้ำลำคลองแถว อ.ระโนด จ.สงขลา แล้ว
เช่นนี้ถ้าไม่แก้ไขให้ทันท่วงที “ปลาหมอคางดำ” มีโอกาสแพร่ระบาดข้ามไปประเทศมาเลเซียก่อนจะอ้อมลงมาประเทศสิงคโปร์วนกลับมายัง จ.ภูเก็ต แล้วจากนี้ไปอีก 10 ปีอย่างเร็วที่สุดก็จะไปถึงประเทศบังกลาเทศนั้น ก็แปลว่าความเดือดร้อนจะไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่จะกระทบต่อคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย
ตั้งแต่ประเทศเวียดนามยาวไปจนประเทศบังกลาเทศที่จะได้รับความเดือดร้อนจาก “ระบบนิเวศถูกทำลาย” โดยเฉพาะประเทศไทยอาจต้องสูญเสียความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญ กระทบต่อคนบางส่วนในโลกนี้
เพราะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ “ชายฝั่งของสามสมุทร และอ่าวไทยตอนบน” มีผลผลิตสัตว์น้ำส่งออกอย่างกุ้ง หอยแครง หอยแมงภู่ได้ปีละหลายหมื่นตันถูกส่งไปหล่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ รวมถึง สปป.ลาว และหลายประเทศทั่วโลก อันนำมาซึ่งจีดีพีเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากภาคประมงชายฝั่งไทยนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอน “ผลกระทบจากปลาหมอคางดำค่อนข้างรุนแรง” ด้วยเป็นสัตว์น้ำที่ระบาดร้ายแรงที่สุดในโลก สามารถแพร่ขยายพันธุ์เร็ว “อัตรารอดสูง” แถมตัวอ่อนในหนึ่งฝูงหลายพันตัวจะว่ายกระจายไปทั่วชายฝั่งอ่าวไทย เพราะเคยไปเที่ยวหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เห็นปลาชนิดนี้ว่ายเป็นฝูงในจุดที่ประชาชนเล่นน้ำด้วยซ้ำ
ส่วนหนึ่งมาจาก “ปลาหมอคางดำปรับตัวอยู่ได้ทุกน้ำ” ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย แม้แต่น้ำที่มีสภาพเน่าเสียอย่างบึงมักกะสัน กทม. ก็อยู่ได้แล้วที่น่ากลัวกว่าปลาอื่นคือ “ปรับตัวอยู่ในน้ำเค็มสูงได้ดี” สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจุบันให้ปลาหมอคางดำกระจายไปทั่วตามภูมิภาคที่สามารถว่ายน้ำไปถึงได้
หากมาดูข้อถกเถียงสาเหตุ “การระบาดปลาหมอคางดำ” ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยบริษัทเอกชนผ่านการอนุญาตของกรมประมงเข้ามายังศูนย์ทดลองในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม แต่ด้วยปลาขนาดเล็กอ่อนแอ “ทยอยตาย” จึงทำลายทิ้งฝังกลบแล้วแจ้งด้วยวาจาต่อ “กรมประมง” แถมไม่พบเอกสารการส่งตัวอย่างดังกล่าวด้วย
แต่ถ้าดูตั้งแต่ปี 2556-2559 “มีข้อมูลการส่งออกปลาถูกใส่ชื่อปลาหมอเทศข้างลาย 5 แสนตัวในราคาตัวละไม่กี่บาท” หากดูตามชื่อทางวิทยาศาสตร์ ปลาที่ถูกส่งออกนั้นกลับตรงกับ “ปลาหมอคางดำ” โดยกรมประมงลงบันทึกการขออนุญาตไว้เป็นเอกสารชัดเจน เพราะกระบวนการส่งออกสัตว์นั้นกฎหมายค่อนข้างเข้มงวด
...
อย่างการส่งออกสัตว์น้ำ “กรมประมง” ต้องทำเป็นเอกสารยืนยันต่อกรมศุลกากรว่าสัตว์น้ำนั้นไม่ผิดกฎหมายประมง หรือกฎหมายอื่นใด ดังนั้นจะเห็นว่าปลาหมอเทศข้างลาย 5 แสนตัวถูกบันทึกยืนยันส่งออกในปีนั้นจริงๆ ก่อนที่ปี 2561 มีประกาศห้ามนำเข้า-ส่งออก เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ทำให้การส่งออกปลาชนิดนี้สิ้นสุดลงไป
“ภาพรวมผลกระทบการระบาดปลาหมอคางดำเชื่อว่าเป็นความเสียหายระดับชาติสูงเป็นพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะปัญหาที่กำลังเกิดในจังหวัดชายฝั่งทะเลเสียหายอย่างหนัก ดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายกำจัดปลาหมอคางดำให้เหลือศูนย์ตัวโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะระบาดไปยังประเทศรอบข้างในเร็ววันนี้” ดร.ชวลิตว่า
ขณะที่ ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2560 ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประมงสมุทรสงครามเรื่องปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในปี 2553 “บริษัทเอกชนนำเข้า 2,000 ตัว” เพื่อนำมาทดลองเลี้ยงแล้วปลาทยอยตายใน 3 สัปดาห์ และทำลายด้วยการฝังกลบโรยปูนขาว
แล้วแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา “มิได้ทำรายงานเป็นทางการ และมิได้เก็บซากส่งตามเงื่อนไขอนุญาตของไอบีซี” คราวนั้น กสม.เสนอให้ตั้ง คกก.แก้ปัญหาการระบาดขึ้นมา “กรมประมง” ก็กำจัดปลาหมอคางดำ และทำแผนปฏิบัติการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นใช้งบไป 11 ล้านบาท เพียงแต่การแก้ไขปัญหาทำไม่ต่อเนื่อง
ต่อมาปี 2567 “เครือข่ายประมงสมุทรสงครามมาร้องเรียนอีกครั้ง” ทำให้ กสม.ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังตามรายงานเมื่อ 14 ปีก่อน “อาจต้องใช้เวลาตรวจสอบหาหลักฐาน” แต่ด้วยการระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่แล้วเดือน เม.ย.2567 “ชาวประมงก็ประชุมร่วมกับ กสม.” มีข้อเสนอแก้ไขเร่งด่วนเพื่อจะมีเงินเยียวยาอย่างไร
...
เหตุนี้จึงเสนอ “ใช้เงินสำรองราชการด้วยการประกาศภัยพิบัติ” แต่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชี้แจงว่า “ไม่เข้าเกณฑ์ตามเหตุฉุกเฉินฉับพลันเร่งด่วน” แม้แต่จะใช้เงินทาง จ.สมุทรสงคราม ก็ทำไม่ได้ ทำให้เสนอกรมประมงให้สอบถามกรมบัญชีกลางจะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างไรแต่ก็ไม่คืบหน้าใดๆ
สำหรับ “ความรับผิดชอบของบริษัทเอกชนและกรมประมง” เรื่องนี้ก็ได้เรียกประชุมหารือด่วนกับกรมประมงและบริษัทเอกชนผู้นำเข้า “เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้” ในส่วนกรณีกรมประมงมีการประกาศยกเว้นการใช้เครื่องมืออวนรุนเพื่อให้ชาวประมงเร่งจับปลาหมอคางดำ
ไม่เท่านั้นยังมีแผน “ปล่อยปลากะพงไปล่า” ทั้งมีหนังสือแจ้งผลประชุมให้แต่ละจังหวัดพูดคุยกันระหว่างชาวประมงในจังหวัด และสำรวจความเสียหายจากการระบาดแล้วคุยกันต่อว่า “จะมีมาตรการจูงใจใดให้ชาวประมงเร่งจับ” ด้วยสมัยก่อนภาครัฐรับซื้อ 5 บาท/กก.
อันเป็นอัตราค่อนข้างต่ำ “ไม่เป็นแรงจูงใจ” อาจกำหนดราคาสูงกว่าเดิมนำมาซึ่งการประชุม คกก.ระดับชาติ “เร่งทำแผนและงบประมาณ” เพราะเรื่องนี้มิใช่ภารกิจกรมประมงฝ่ายเดียวแต่เป็นภารกิจรัฐบาลด้วยที่ต้องประมวลสถานการณ์ของหน่วยงานรัฐและประสานภาคเอกชน รวมถึงสนับสนุนงบประมาณมาจากส่วนใดได้บ้าง
...
สุดท้ายนี้เวทีเสวนา “ปลาหมอคางดำทำลายสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทยใครรับผิดชอบ” จัดโดยสภาที่สาม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหยุดการระบาดปลาหมอคางดำ ทำลายให้สูญพันธุ์ ไม่ใช่ส่งเสริมการขาย เพราะมิได้ป้องกันการระบาดไปทั่วประเทศ “กรมประมง” ต้องสืบค้นให้สิ้นสงสัยหากทำลายพันธุ์ปลา 50 ตัวไปแล้ว
เหตุใดยังคงมีปลาหมอคางดำหลายสิบล้านตัวกระจายไปทั่วประเทศ “จึงต้องเปิดข้อเท็จจริงให้สังคมกระจ่าง” ในส่วนบริษัทนำเข้าได้ชื่อว่ามีธรรมาภิบาล ควรแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ “มิใช่แค่ 5 มาตรการ” ที่ สนับสนุนภาครัฐ แก้ปัญหาที่เป็นการแสดงความจริงใจมากกว่าปัดความรับผิดชอบ
ย้ำข้อเสนอว่า “ประชาชน” คาดหวังต่อรัฐบาลผลักดันให้เรื่องนี้ “เป็นวาระแห่งชาติ” แล้วตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจริงจังเร่งด่วน.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม