มหากาพย์เอเลี่ยนสปีชีส์ “ปลาหมอคางดำ” ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง...ยิ่งสาวก็ยิ่งเจอ “มูลนิธิชีววิถี” เฟซบุ๊กเพจ “BIOTHAI” แชร์โพสต์ “พิกัดปลาหมอคางดำปี 60” (Joey Kanis)

มีรายงานข่าวจากผู้สื่อข่าวท้องถิ่นว่า ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าพญา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยอ้างถึงจุดแรกที่เคยพบปลาไม่ทราบชนิดพันธุ์ แต่เข้าใจกันเองว่าเป็นปลาหมอเทศ คือ บริเวณคลองที่ไหลผ่านด้านหลังฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งของบริษัทยักษ์ใหญ่

เมื่อปี’60 พบปลาชนิดเดียวกัน ในคลองที่เชื่อมต่อถึงกันอีกหลายคลองจนกระทั่งปี 2565 ชาวบ้านระบุว่า พบปลาชนิดนี้หนาแน่นใน “บ่อบำบัดน้ำเค็ม” 183 ไร่ ของโครงการชลประทานน้ำเค็ม ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลังจากนั้น กรมประมงเข้าตรวจสอบและระบุว่าเป็น “ปลาหมอคางดำ” ก่อนหน้านี้ จุดนี้เคยเต็มไปด้วยปลาหลายชนิด เช่น ปลากระบอก ปลาหมอเทศ และปลาประจำถิ่นอื่นๆ รวมถึงกุ้ง...แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรเลย

...

นี่คือสถานการณ์ที่เริ่มพบมาตั้งแต่ปี 2560

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจมีอีกว่า “วิกฤติปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia)” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน “ประเทศไทย” เท่านั้น

รายงานการค้นพบปลาหมอคางดำ สัตว์รุกรานทั่วโลก ...จากพื้นที่แหล่งถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก...พื้นที่ชายฝั่งและเมืองต่างๆ หลายประเทศในแถบนั้น ล้วนพบการแพร่พันธุ์ รุกราน มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 หรือกว่า 70 ปีก่อน เช่น กานา แคเมอรูน กินี และเซเนกัล

นอกจากนั้น...การรุกรานขยายพันธุ์ จากการค้นของประชาชน ยังพบในแถบนั้นมากขึ้น เช่น ไลบีเรีย แกมเบีย เซียร์ราลีโอน

ถัดมาในราวๆ ปี 1959 พบการแพร่พันธุ์ที่หลายเมืองของแหลมฟลอริดา ทั้งที่ปากแม่น้ำ และทะเลสาบน้ำกร่อยริมชายฝั่ง คูคลอง และปากลำธาร ทำให้ปลาพื้นเมืองและปลาชนิดอื่นๆมีจำนวนลดลง

อีกทั้ง “ฮาวาย” ก็เป็นอีกที่ที่พบการระบาด ซึ่งชาวพื้นเมือง เรียกว่า “ปลานิลน้ำเค็ม” เนื่องจากสามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ได้ในน้ำทะเล โดยเฉพาะที่เกาะโออาฮูและเมาอิ

มาที่ฝั่งเอเชีย พบที่ฟิลิปปินส์ แต่ไม่มีบันทึกว่าปลาหมอคางดำ ถูกนำเข้าสู่แหล่งน้ำของประเทศฟิลิปปินส์ได้อย่างไร แต่เชื่อกันว่าในช่วงต้นปี 2015 อาจมาจากการค้าสัตว์น้ำ และหลุดรอดสู่ธรรมชาติ ในแหล่งน้ำใกล้จังหวัดบาตาน และบูลากัน

อ่าวมะนิลาเป็นพื้นที่หลักสำหรับการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญของการดำรงชีวิตในฮาโกนอย บูลากัน การแนะนำพันธุ์สัตว์รุกรานจึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตและระบบนิเวศในฟิลิปปินส์

ส่วนทั้งที่แอฟริกา สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และไทย ประเทศไหนพบการระบาดและผลกระทบมากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่า... “ประเทศไทย” ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ

โดยมีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญถึงปัจจัยที่อาจทำให้การขยาย พันธุ์รุกรานคือ...การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเกิดขึ้นในแนวเขตภูมิภาคอากาศและทะเลอบอุ่น ทั้งเหนือ...ใต้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งห่วงโซ่อาหาร อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสม

ป.ล.อย่างนี้ ไม่เรียกว่าวิกฤติ แล้วจะเรียกอะไร... หายนะ?

ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า “Joey Kanis” ยังพุ่งเป้าเชื่อมโยงไปถึงช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหา “ปลาหมอคางดำ...ใครพลาดอะไร”

“ไม่ว่า...มาจนถึงวันนี้ปลาหมอคางดำจะแพร่กระจาย รุกราน ขยายเผ่าพันธุ์ไปแล้วกี่จังหวัด ... แทบไม่ต้องไปควานหากันแล้วครับ...กระจายขยายพันธุ์ไปแล้ว ทั้งในน้ำกร่อย น้ำคลอง น้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทย... ขึ้นอยู่กับว่า จะไปที่ชายฝั่งกัมพูชา... มาเลเซียหรือยัง... คาดการณ์ว่าอีกไม่นาน”

...

“ปลาหมอคางดำ” หรือที่ใครยังเรียก “ปลาหมอสีคางดำ” อาจกลายเป็นวิกฤติหายนะด้านอาหารอีกเรื่องนึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอีกไม่นานเกินรอ?

ระยะเวลา 14 ปี ตั้งแต่เริ่มมีผู้นำเข้ารายแรกและเป็นรายเดียวที่ขออนุญาตอย่างเป็นทางการในเงื่อนไขของการอนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ที่มีต่อบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) ระบุไว้หลายข้อ หลายมาตรการ

เพื่อควบคุมการศึกษาวิจัย สัตว์ต่างถิ่น มีอะไรบ้าง คำถามสำคัญมีว่า...ได้ทำตามนั้นหรือไม่?

นับตั้งแต่...กำหนดให้ลักษณะพื้นที่วิจัยต้องเป็นระบบปิด เช่น การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์หรือ “เลี้ยงในบ่อดิน” ก็ได้ แต่น้ำต้องเป็นระบบปิด คือ สูบน้ำเข้าจากคลองธรรมชาติได้ และการปล่อยน้ำออก ต้องมีกระบวนการจัดการน้ำ ไม่ให้สายพันธุ์ปลาต่างถิ่นหลุดลงสู่คลอง ธรรมชาติ

ถัดมา...กำหนดเงื่อนไขการวิจัยว่า ผู้วิจัยต้องเก็บครีบและตัวอย่างนำส่งกรมประมง และเมื่อวิจัยแล้วเสร็จต้องแจ้งผลวิจัย โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบาด

...

หากวิจัยไม่สำเร็จจะต้องรายงานและเก็บซากปลาให้กับกรมประมง

ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ยังไม่ได้รับความกระจ่าง เปิดเผยชัดเจนว่าได้ดำเนินการอย่างไรนะครับ (24 ก.ค. 67) มีเพียงชี้แจงต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ทำลายซาก ดองซากปลา 50 ตัว ใส่โหลไปให้กรมประมงแล้ว ซึ่งรายงานด้วยวาจา...

มาดูฝ่ายกรมประมงบ้างว่า ได้ทำอะไรไปบ้าง ... ก็ไม่ปรากฏว่า ได้ดำเนินการใดบ้าง ระหว่างที่มีการศึกษาวิจัย เช่น ไปตรวจสอบฟาร์ม, ไปดูขั้นตอนการเลี้ยงว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ หรือติดตามผลการเลี้ยงหรือไม่... และติดตามซากปลาหมอคางดำ

เมื่อยังไม่มีหลักฐานใดๆจากทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องนี้จึงควรมีผู้ต้องรับผิดชอบเพื่อให้นำหลักฐานไปแสดงต่อศาลครับและก็อาจเป็นหน้าที่ผู้เสียหายที่ต้องเรียกร้องการดำเนินคดีอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมและการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ป.ล.น่าจะถึงเวลาแล้ว

ถ้าไม่เอา #บรรษัทไร้ธรรมาภิบาล ที่ก่อ #อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม มาลงโทษ เราจะเจอ #ซุปเปอร์ปลาหมอคางดำ ที่เลวร้ายยิ่งกว่า?...ระบบนิเวศย่อยยับขนาดไหน ผลกระทบเศรษฐกิจเท่าไหร่ ฟื้นฟูอย่างไร และฟ้องคดีแบบใดให้ชนะ ชวนให้ติดตามกันแบบยาวๆ ที่เฟซบุ๊กเพจ “BIOTHAI” #ปลาหมอคางดำ

...

ซื้อ #ปลาหมอคางดำ กิโลละ 15 บาท ขายเป็นปลาป่นกิโลละ 40-50 บาท แถมไม่โดนคดี ไม่ต้องชดเชยเยียวยาหมื่นล้าน สุดยอดบรรษัทธรรมาภิบาล! ทำลายอาชีพชาวประมง....

ที่แน่ๆ ไม่ควรใช้เงิน “ภาษีประชาชน” แม้แต่บาทเดียว มาแก้ปัญหา “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม