สภาทนายความเล็งฟ้องแพ่งบริษัทและหน่วยงานรัฐ เรื่องความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรับผิดชอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ขณะที่พบปลาหมอคางดำระบาดลงทะเล ชาวประมงพื้นบ้านริมทะเลชุมพรโอด ปลาหมอคางดำมาปลาพื้นถิ่นหายเกลี้ยง ในเมืองมีโรงงานแห่งเดียวที่รับซื้อทำปลาป่น กก.ละ 6 บาท จวกรัฐหละหลวมไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี ปล่อยให้มีการนำเข้าจนมาสู่การระบาด

จากกรณีเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำ ปลาต่างถิ่นที่เข้าไปกัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่นและกุ้งหอยปูปลาในบ่อเลี้ยง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร รวมถึงระบบนิเวศเสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้ตัวแทน 14 เครือข่ายจากจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ ยื่นหนังสือถึงสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร้องเรียนขอให้แก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ เร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธุ์ปลาเข้ามาในประเทศให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ สภาทนายจัดตั้งคณะทำงานลงตรวจพื้นที่และข้อเท็จจริง หาคนมารับผิดชอบกรณีต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำและการทำลายปลาหมอคางดำว่าเหตุใด มีการแพร่กระจายพันธุ์ได้ จากนั้นจะฟ้องร้องเพื่อหาค่าชดใช้เยียวยาให้ประชาชนที่เดือดร้อน

ต่อมาวันที่ 27 ก.ค.มีรายงานข่าวว่า สภาทนายความฯจะแถลงข่าวถึงความคืบหน้า หลังจากตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะดำเนินการฟ้องทางแพ่งบริษัทเอกชนและฟ้องหน่วยงานรัฐเรื่องความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรับผิดชอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ส่วนรายละเอียดเรื่องค่าเสียหายและหน่วยงานใดของรัฐที่จะโดน ฟันเอาผิด ขอให้รอติดตาม วันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

...

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานรัฐตั้งทีมระดมจับปลาหมอคางดำร่วมกับชาวบ้าน อาทิ ที่สระน้ำกลางวัดสว่างอารมณ์ หมู่ที่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เนื้อที่กว้างราว 2 ไร่ พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผู้บังคับการปราบปราม รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจน้ำ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำกว่า 50 นาย ร่วมกับฝ่ายปกครอง อ.บางบ่อ และชาวประมงพื้นบ้าน ช่วยกันใช้อวนล้อมจับปลาหมอคางดำและปลาหมอมายัน ใช้เวลาจับประมาณ 1 ชั่วโมง ได้ปลาหมอคางดำ ปลาหมอมายัน ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม

นายชัยณรงค์ เดชด่านสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ กล่าวว่า บ่อนี้อยู่กลางวัด หลังมีข่าวการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทำให้ทีมงานสมาคมประมงคลองด่านและชาวประมงพื้นบ้านนำแหมาทอดได้ปลาหมอคางดำ ขออนุญาตเจ้าอาวาส พร้อมประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำ ฝ่ายปกครองและชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันลงมือจับ ส่วนสาเหตุที่ปลาหมอคางดำเข้ามาอยู่ในสระน้ำกลางวัดได้นั้น สันนิษฐานว่าเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูงท่วมถนนหน้าวัด แล้วไหลทะลักเข้ามาในสระน้ำด้านใน อาจนำพาปลาหมอคางดำเข้ามาด้วย ทำให้ขยายพันธุ์อยู่ในสระน้ำกลางวัดแห่งนี้ ที่จับขึ้นมาได้เพียงบางส่วน ประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม น่าจะยังมีเหลืออยู่อีกมาก

เช่นเดียวกับที่คลองบางบ่อ ม.1 ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม นส.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผช.รมว. กระทรวงเกษตรฯ นำคณะไปติดตามการลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำ อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้สำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม ผ่อนผันให้ใช้ “อวนทับตลิ่ง” ขนาดตาอวน 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ความยาวของอวนไม่น้อยกว่า 50 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร และใช้สารเบื่อเมาประเภทกากชา (ซาโปนิน) ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ อยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม และสำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม อย่างใกล้ชิด การลงแขกลงคลองด้วยการใช้ “ดักอวนทับตลิ่ง” หัวและท้ายคลองความยาว 500 เมตร โรยกากชาเพื่อไล่ปลาหมอคางดำมายังท้ายอวนแล้วใช้สวิงตักขึ้น ได้ปลาหมอคางดำตัวเล็ก ขนาด 2-3 นิ้ว หรือประมาณ 60 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 170 กิโลกรัม จะนำไปทำปุ๋ยชีวภาพแจกเกษตรกรในการออกหน่วยคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ของจังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงแขกลงคลองครั้งนี้ ปลาที่จับได้ล้วนเป็นปลาหมอคางดำไม่มีปลาพื้นถิ่นชนิดอื่นติดอวนเลย คาดว่าน่าจะถูกปลาหมอคางดำกินเป็นอาหารจนหมด

ทั้งนี้ กรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย รับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกร กิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับ จ.สมุทรสงคราม กำหนดจุดรับซื้อที่สถานีพัฒนาที่ดิน จ.สมุทรสงคราม เลขที่ 99/9 ม.5 ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในสวนยางพาราและส่งเข้าโรงงานทำปลาป่น จ.สมุทรสงคราม มีจุดผลิตน้ำหมักชีวภาพ 3 จุด คาดว่าจะรับซื้อปลาหมอคางดำได้เดือนละ 8.9 ตัน สามารถผลิตปุ๋ยได้ 24,000 ลิตรต่อเดือน จะเริ่มดำเนินการในเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป

ส่วนที่ จ.ชุมพร มีรายงานว่าที่คลองอีเล็ตและคลองท่าตะเภา ในตำบลท่ายาง ตำบลปากน้ำชุมพร อ.เมืองชุมพร ชาวประมงเรือเล็กที่เคยออกวางอวนจับสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง ปู ปลา รวมถึงเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อขาย ต่างระบุตรงกันว่าช่วง 2 ปีหลังมานี้ สังเกตว่าหาสัตว์น้ำได้น้อยลง จับได้แต่ปลาหมอคางดำ นายสง่า คงศิริ อายุ 57 ปี ชาวประมงริมคลองอีเล็ต เปิดเผยว่า สัตว์ท้องถิ่นที่เคยหาจับปัจจุบันแทบจะไม่เหลืออยู่ มีแต่ปลาหมอคางดำเท่านั้นที่จับมาได้ ส่วนสัตว์น้ำอื่นไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาสายพันธุ์ต่างๆ เรียกได้ว่าสูญหายไปจากคลองแห่งนี้หมดแล้ว ตอนนี้แทบจะเป็นอาชีพหลักของชาวประมงในการจับปลาหมอคางดำขาย แต่ในพื้นที่มีเพียงโรงงานเดียวที่รับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น นำไปทำปลาป่น ส่วนโรงงานอื่นๆไม่รับซื้อ บอกว่าปลาหมอคางดำมีแต่ก้างเนื้อน้อย แต่ก็ต้องทำเพราะยึดอาชีพประมงมานานไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรได้อีกแล้ว

...

เช่นเดียวกับนางทิพยรัตน์ ทิพย์มงคล ชาวบ้านตำบลบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่ออกมาช่วยจับปลาหมอคางดำกล่าวว่าในพื้นที่ หมู่ 8 ตำบลบางสน เมื่อหลายปีมาแล้วในช่วงหน้าฝน น้ำจะไม่ไหลลงทะเล ปลาและสัตว์น้ำจะเข้ามาวางไข่ในคลองบางเสียบ หมู่ 8 ตำบลบางสน มีทั้งปลากระสาก ปลาดอกไม้ ปลากะพงแดง ปลากระบอก และสัตว์น้ำท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ตนจะไปจับปลาในช่วงตอนเช้าแต่ละครั้งได้จำนวนมาก ตอนนี้ทุกอย่างในคลองมีแต่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเต็มไปหมด ลูกปลาเล็กลูกปลาตัวน้อยที่ไปอยู่บริเวณหน้าปากคลอง ปากอ่าว เพื่อรอวันเจริญเติบโต รวมถึงกุ้งกุลา ปลากระบอก และกุ้งเคย ที่อยู่ตามริมคลอง ริมอ่าวในทะเลก็ไม่มีเหลือแล้ว ถูกปลาหมอคางดำกินหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะหน่วยงานราชการหละหลวมไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี ปล่อยให้มีการนำเข้าจนมาสู่การระบาด แล้วมาตามแก้ปัญหาภายหลัง คงเป็นเรื่องยากมาก

ด้านนายจิรวุฒิ คำภิโรจน์ เจ้าหน้าที่ชำนาญการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชุมพร เปิดเผยว่า ตอนนี้ใน จ.ชุมพร พบว่ามีการระบาดอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือทั้งพื้นที่ในคลองและในทะเล ทางศูนย์จะนำตัวอย่างของปลาหมอคางดำที่พบในทะเลรอบนี้ ไปผ่าพิสูจน์เพื่อดูว่าในท้องปลาหมอคางดำได้จับสัตว์น้ำชนิดใดกินเป็นอาหารบ้าง รวมถึงการเก็บข้อมูลเรื่องขนาดความยาวและน้ำหนักตัว และจะนำไปพัฒนาในการจับและกำจัด ช่วงนี้มีการพบเจอปลาหมอคางดำมากขึ้นในทะเล หลังจากที่มีข้อมูลว่าชาวบ้านได้ออกไปวางอวนทำประมง สามารถจับปลาหมอคางดำได้ในเขตระยะห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 500 เมตร

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่