สภาทนายความรับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือจาก น.ส.พีเชอ กาเยะกู่ ชาวเขาเผ่าอาข่า ผู้พิการทางสายตา อาชีพขายลอตเตอรี่ย่านซอยนิมิตรใหม่ ท้องที่ สน.มีนบุรี

การที่คนตาบอดต้องออกมาเดินขายของริมถนน นับว่าลำบากพอควรอยู่แล้ว? แต่ดันมาเจอโจรชั่ว 2 คนทำทีมาเลือกซื้อหวย สบโอกาสกระชากกระเป๋าหลบหนีไป ทำให้สาวตาบอดผู้น่าสงสาร ต้องเสียทั้งโทรศัพท์มือถือและเงินสดต้นทุนการค้าขายไปกว่า 6 หมื่นบาท

งานนี้โจรที่ก่อเหตุนับว่าเลวระดับเอบวก เพราะทำกับเหยื่อทุพพลภาพ!

ปกติสังคมไทยให้ความสำคัญกับคนพิการ คนชรา สตรีมีครรภ์ มีทั้งช่องทางเดินพิเศษ มีลิฟต์ตามสถานีรถไฟฟ้า มีห้องน้ำเฉพาะ เป็นต้น

ไม่เว้นแม้แต่การออกกฎหมาย หลายฉบับเพื่อปกป้องคนพิการไม่ให้ถูกรังแก อาทิ กฎหมายอาญามาตรา 285/2 เขียนว่า การกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ถ้าทำกับบุคคลซึ่งไม่สามารถป้องกันตนเองได้เนื่องจากทุพพลภาพ มีจิตบกพร่อง ป่วยเจ็บ คนชรา สตรีมีครรภ์ ต้องรับโทษหนักขึ้น 1 ใน 3

จะเห็นว่ากฎหมายอาญาพัฒนาให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ คนหลากหลายมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น เพิ่มโทษหนักขึ้นเพราะเกรงว่าจะมีคนเลียนแบบ เพราะเห็นว่าเหยื่อด้อยกว่า ปกป้องตนเองไม่ได้

แต่ควรเพิ่มโทษปรับ หรือชดใช้ค่าสินไหมทางแพ่งให้เข็ดหลาบด้วย ทำให้สังคมรู้สึกว่า กฎหมายชัดเจน การบังคับคดีเด็ดขาด บ้านเมืองจะน่าอยู่ ต่างชาติมั่นใจเข้ามาลงทุน?

กฎหมายอาญามาตราโบราณที่ยังใช้อยู่ก็ควรจะปรับปรุงให้ทันสมัย เช่น มาตรา 335 มีเหตุฉกรรจ์กับคนกระทำว่า ถ้าทำกับทรัพย์ที่ใช้ในการกสิกรรม โค กระบือ หรือวรรคอื่น เช่น ถ้าลักทรัพย์ในวัด ที่สักการะบูชาวัตถุโบราณ ต้องรับโทษหนัก ซึ่งเป็นบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องกับสังคมยุค พ.ศ.2470-2480

คดีคนร้ายชิงทรัพย์ น.ส.พีเชอ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เข้าไปช่วยเหลือแล้ว แต่ถึงเวลาหรือยังที่สภาทนายความควรผลักดันแก้กฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ให้มีโทษหนักขึ้น!

...

อย่าให้โจรมันนำหน้าผู้ใช้กฎหมาย?!

สหบาท

คลิกอ่านคอลัมน์ “ส่องตำรวจ” เพิ่มเติม