สถานการณ์เด็กทั่วโลกกำลัง เผชิญกับ "วิกฤติมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศรุนแรง" กลายเป็นภัยคุกคามเสี่ยงอันดับสองต่อสุขภาพ และการเสียชีวิตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง “รับสารพิษตั้งแต่อยู่ในครรภ์” ซึ่งเป็นช่วงปอด ร่างกายและสมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่อันเป็นผลร้ายตลอดชีวิตตามรายงาน Health Effects Institute (HEI) ร่วมมือกับยูนิเซฟ มีการศึกษาผลกระทบมลพิษทางอากาศในปี 2564 เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 8.1 ล้านคนทั่วโลก และอีกหลายล้านคนเป็นโรคเรื้อรัง
แล้วยิ่งในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี “มีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศพิเศษ” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้านทั้งการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย โรคหอบหืด โรคปอด และเสียชีวิต 7 แสนคน โดยเด็ก 5 แสนคนเสียชีวิตจากมลพิษอากาศในครัวเรือนจากการทำอาหารใช้เชื้อเพลิงอย่างในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชีย
ทั้งยังทำการศึกษาวิเคราะห์ภาระโรคทั่วโลก แสดงให้เห็นว่ามลพิษอย่าง PM 2.5 มลพิษทางอากาศในครัวเรือน โอโซน (O3) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคนทั่วโลก 200 ประเทศ ที่กำลังหายใจเอามลพิษระดับไม่ดีต่อสุขภาพเข้าสู่ร่างกายแล้ว 90% ของการเสียชีวิตหรือ 7.8 ล้านคนมีสาเหตุจาก PM 2.5
...
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาในอนาคตโดย ดร.เอเลนา คราฟต์ ประธาน HEI ให้ข้อมูลมลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง และชีวมวลในภาคส่วนต่างๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนกระทบต่อกลุ่มเปราะบางได้รับความเดือดร้อนที่สุด
ถ้าดูรายงานในปี 2564 “การสัมผัสโอโซนนานๆ” ก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 4.8 แสนคนทั่วโลก อย่างสหรัฐฯมีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเกี่ยวกับโอโซนเสียชีวิต 1.4 หมื่นคน ฉะนั้นอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้พื้นที่ที่มีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มักมีระดับโอโซนที่สูงอันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับ ดร.ปัลวี พันท์ หน.ฝ่ายสุขภาพทั่วโลก HEI ก็ชี้ให้เห็นมลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพเด็กรุนแรงจาก “ความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศกระทบได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์” ด้วยเด็กหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และดูดซับสารมลพิษในระหว่างปอด ร่างกาย สมองยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
สาเหตุให้เด็กเล็กเป็นปอดบวมเสียชีวิต 1 ใน 5 คนทั่วโลก แล้วโรคหอบหืดพบบ่อยในเด็กโต ยิ่งกว่านั้นการเสียชีวิตในเด็กต่ำกว่า 5 ปีในแอฟริกาตะวันออก ตะวันตก กลาง และใต้ สูงกว่าประเทศมีรายได้สูง 100 เท่า
แม้ตอนนี้จะมีความก้าวหน้าในด้านสุขภาพของแม่และเด็กก็ตาม แต่ว่าในแต่ละวันก็ยังคงมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 2,000 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศนี้อยู่ตลอด
ในส่วน วราภรณ์ รักษาพราหมณ์ เจ้าหน้าที่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ตามรายงานมลพิษทางอากาศนี้เป็นข้อมูลใกล้เคียงสถานการณ์ในไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาได้สักพักใหญ่แล้ว กระทบต่อสุขภาพเด็กไทยไม่ต่างจากทั่วโลก
สาเหตุเพราะ “เด็กมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศ” มีการดูดซับมลพิษเข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ผลกระทบนั้นเกิดได้ตั้งแต่ในครรภ์อันนำมาซึ่งการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักเด็กน้อย และมีความเสี่ยงโรคหอบหืด และโรคปอด สุดท้ายก็กลายเป็นผลกระทบในระยะยาวไปจนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ
สำหรับปัจจัย “ก่อเกิดมลพิษทางอากาศในไทย” โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 มักเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือปัญหาฝุ่นข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนไทยอย่างภาคเหนือมีความรุนแรง เช่น จ.เชียงใหม่ มลพิษทางอากาศสูงติดอันดับ 1 ของโลก
สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อ “เด็กกลุ่มเปราะบาง” โดยเฉพาะโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศช่วยกรองฝุ่นในห้องเรียนและเด็กอยู่ในครอบครัวยากจน เด็กในชนบท เด็กพิการ เด็กย้ายถิ่นฐาน มีแนวโน้มรับผลกระทบมากที่สุด
ประเด็นคือ “มลพิษทางอากาศกระทบต่อเด็ก” เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเด็กค่อนข้างมาก เพราะถ้าดูตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กกำหนดไว้ 54 ข้อ ในจำนวนนี้มีคำมั่นจะปกป้องสิทธิเด็ก 4 ข้อ คือ
ข้อหนึ่ง...“สิทธิเด็กจะมีชีวิตรอด” ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เกิดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมสะอาดปลอดภัยและเติบโตมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ดังนั้น การมีมลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ข้อสอง..."สิทธิเด็กได้รับการปกป้องคุ้มครอง" ควรได้รับการคุ้มครองจากสารพิษ มลพิษ มลภาวะต่างๆทุกพื้นที่
...
ข้อสาม...“สิทธิเด็กได้รับการพัฒนา” ในการรับการสนับสนุนการศึกษา ความเป็นอยู่ โภชนาการที่เหมาะสม ทั้งส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย และจิตใจให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดี ข้อสี่...“สิทธิเด็กได้มีส่วนร่วม” เพราะด้วยมลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อเด็กเป็นหลักควรมีสิทธิมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้น ในปี 2566 คกก.สิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติให้ข้อคิดเห็นทั่วไป General Comment no.26 ด้านสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม “เน้นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” อ้างอิงเสียงเด็กเยาวชนในชุมชนรับผลกระทบตรงจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรฐานการปกป้องสิทธิเด็กจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนี้
ทว่าสำหรับ “ประเทศไทย” ก็ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนี้มา 30 ปีแล้ว ทำให้มีพันธกิจในการคุ้มครองเด็กให้อยู่อย่างปลอดภัยจากมลพิษ หรือสารพิษ ซึ่งห้วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจริงจัง เช่น การผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด...เพื่อดำเนินนโยบายคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น
...
เบื้องต้นในเดือน ม.ค.2567 “รัฐสภา” ก็ลงมติเห็นชอบรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ ในวาระที่ 1 จากนั้นแต่งตั้ง กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.พิจารณาสู่วาระที่ 2 เพื่อเรียงมาตราเข้าสู่วาระที่ 3 ให้ความเห็นชอบต่อไป
สะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลไทยมีความพยายามแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ” ด้วยการออกกฎหมายกำหนดแนวทางปฏิบัติภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯอันเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะมีกฎหมายกำจัดปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ทั้งการบริหารจัดการ ควบคุมกิจกรรม การบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เกิดมลพิษในทุกมิติ
แต่ระหว่างนี้ “การสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยจากมลพิษทางอากาศ” มีความจำเป็นโดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เราเผชิญกันมาต้องให้รู้หลักการปฏิบัติการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ประการถัดมานอกจาก “เด็กไทย” ได้รับผลกระทบจากมลพิษอากาศแล้วยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรืออากาศร้อนจัดเกิดการปนเปื้อนแหล่งน้ำ การแพร่เชื้อโรค ความไม่มั่นคงทางอาหาร สิ่งนี้เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ พัฒนาการ ความเป็นอยู่เด็กทั้งทางตรง และทางอ้อม
ตามรายงานยูนิเซฟเมื่อปี 2563 เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนกว่า 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของเด็กทั่วประเทศต้องเผชิญคลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ฉะนั้นหากยังไม่มีการดำเนินการจริงจัง “เด็กเกือบทุกคนในประเทศไทย” อาจได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยยาวนานขึ้นในปี 2593 ดังนั้นในด้านนโยบายที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องให้ความสำคัญกับเด็ก คำนึงถึงความต้องการของเด็ก และเยาวชนเป็นสำคัญ
...
ทั้งต้องส่งเสริมให้ตระหนักรู้ทักษะให้แก่ “เด็ก” เข้าใจกำลังได้รับผลกระทบความเสี่ยง และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการป้องกันที่มีประสิทธิผลให้เด็กกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึง และปฏิบัติตามได้ง่ายๆ
สุดท้ายขอย้ำว่า “ทุกคน และทุกภาคส่วนของสังคม” ล้วนมีบทบาทสามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ “เพื่ออนาคตของเด็กในวันนี้” ด้วยการให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน ให้เขาได้หลุดพ้นจากภัยคุกคามอันเลวร้ายนี้ เพื่อจะเติบโตอย่างแข็งแรงนำกำลังไปพัฒนาประเทศต่อไป.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม