วันพรุ่งนี้ 28 กรกฎาคม 2567 วันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ข้าพระพุทธเจ้า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน พระพุทธเจ้าข้า

ในวันมงคลนี้มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติมากมาย แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่พสกนิกรสามารถเก็บไว้เป็นที่ระลึกคือ “ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ชนิด ราคา 100 บาท จำนวน 10 ล้านฉบับ ซึ่งเป็นธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อให้พสกนิกรเก็บไว้เป็นที่ระลึก และจัดทำ “แผ่นพับสำหรับธนบัตรที่ระลึก” อีก 2 ล้านชุด จำหน่ายในราคาชุดละ 10 บาท รายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมด จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านไปฟังที่มาของธนบัตรที่ระลึกฉบับนี้ ซึ่ง วารสารพระสยาม BOT Magazine ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปี 2567 ได้บันทึกไว้ในคอลัมน์ “Behind the Banknote ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยลงในธนบัตร” ผมจึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง “ธนบัตรที่ระลึกรัชกาลที่ 10” มีที่มาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทีมงานออกแบบธนบัตร ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เวลานานกว่า 2 ปี ในการออกแบบและจัดทำจนพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกมูลค่า 100 บาท ฉบับนี้ออกมา

เริ่มจาก คุณพรทิพย์ ไทยถิ่นงาม นักประวัติศาสตร์ประจำโรงพิมพ์ธนบัตร เล่าว่า โจทย์ของธนบัตรที่ระลึกฉบับนี้ ต้องการให้มีความสวยงามและสมพระเกียรติ จึงเน้นไปที่ความสง่างามของพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แวดล้อมไปด้วยองค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงกับพระองค์ เช่น โทนสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระบรม ราชสมภพ ดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ ดอกราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ ดอกพิกุล ที่เปรียบเสมือนดอกไม้จากสวรรค์ที่เป็นมงคลและสื่อถึงความรุ่งเรือง เมื่อนำดอกพิกุลมาจัดวางไว้ในช่องใสรูป 8 เหลี่ยม ก็จะสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองที่แผ่กระจายไปทั้ง 8 ทิศ

...

ผู้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหน้า คือ คุณโอม ชนิตราภิรักษ์ บอกว่า ความท้าทายของงานนี้ คือ จะต้องเขียนลายเส้นแบบไหนให้พระบรมสาทิสลักษณ์มีความสง่างาม มีรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เทคนิคการทำงานตอนนี้ได้เปลี่ยนจากการแกะสลักโลหะด้วยมือแบบเดิม เป็นการเขียนลายเส้นด้วยโปรแกรมดิจิทัล ซึ่งมีรายละเอียดการทำงานที่แตกต่างกัน ส่วน ผู้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหลัง คือ คุณวิระศักดิ์ มนต์แก้ว บอกว่า กว่าจะได้งานที่สมบูรณ์ปรับแก้กันหลายรอบ เนื่องจากการนำงานเขียนไปพิมพ์ อาจจะไม่ได้งานที่ตรงกับที่เขียน

คุณธีธัช สุขสว่างผล ผู้ออกแบบลายไทยและลายประกอบด้านหน้าและด้านหลัง กล่าวถึงความท้าทายในการออกแบบธนบัตรที่ระลึกฉบับนี้ว่า เมื่อมีโอกาสได้ออกแบบธนบัตร เราต้องรู้ว่าธนบัตรควรบรรจุสิ่งใดลงไป เพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่านี่คือธนบัตรไทย จึงนึกถึงลายไทยเป็นอันดับแรก เพราะมีความสวยงามและโดดเด่น แต่ความยากคือ โดยพื้นฐานศิลปะแล้วเราใช้ศาสตร์เดียว เราต้องการความสวยงามเหมือนกัน แต่วิธีการต่างกัน การออกแบบธนบัตรมีสิ่งที่เราคิดว่ามันมีกรอบบางอย่างอยู่ คือ ความงามกับความถูกต้องไปในทางเดียวกัน เพราะธนบัตรเปรียบเสมือนพงศาวดารที่เราถือไว้ในมือ

เมื่อพิศดูแล้วก็เห็นจริง ธนบัตรไทยแต่ละฉบับบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย

เบื้องหลังการออกแบบ “ธนบัตรที่ระลึกรัชกาลที่ 10” ได้จัดทำเป็นวิดีโอไว้ด้วย ท่านที่สนใจสามารถชมได้ใน YouTube เรื่อง “Behind Banknote ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยลงในธนบัตร” ท่านที่ต้องการธนบัตรเก็บไว้เป็นที่ระลึก แลกได้ที่ธนาคารทุกแห่งครับ.


“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม