“แม้คนไทยจะตื่นตัวเรื่องคาร์บอนเครดิต และตั้งความหวังให้คาร์บอนเครดิตจะเป็นอีกตัวทำเงินให้กับเกษตรกรไทย อันถือเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ในความเป็นจริง บ้านเรายังมีปัญหาอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่แทบจะไม่มีใครเข้าใจถึงคาร์บอนเครดิตที่แท้จริงเลย โดยเฉพาะส่วนราชการ ปล่อยให้เกษตรกรเข้าใจและฝันว่าอยากจะได้เงินกับคาร์บอนเครดิตเยอะๆ ทำให้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งหลงเชื่อ ซ้ำร้ายยังอยากจะตั้งมาตรฐานเรื่องนี้เป็นของตัวเอง ที่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประเทศ ทั้งที่มาตรฐานที่โลกยอมรับ เขาก็มีอยู่แล้ว”
จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจค้าไม้ กรรมการบริหารอุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ ผู้คลุกคลีกับคาร์บอนเครดิตมานานหลายปี อธิบายให้รู้จักกับความหมายที่แท้จริงของคาร์บอนเครดิต...เริ่มจากเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์กับคาร์บอนเครดิต ที่หลายคนยังสับสน
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขอเรียกคาร์บอนฟุตพรินต์ว่า “แต้มบาป” เพราะไม่ว่ากิจกรรมใดที่ทำบนโลก จะเกิดร่องรอยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา มากน้อยว่ากันแต่ละกิจกรรม เช่น ขับรถไปซื้อของที่ตลาดก็ก่อให้เกิดคาร์บอนฯแต่ไม่มาก ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมบางอย่างก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์มาก
...
ทั้งนี้ ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นที่มาของแต้มบาปมีกลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟูไรด์ ซึ่งก๊าซก่อให้เกิดผลโดยตรงกับภาวะโลกร้อน เราเรียกรวมกันว่าก๊าซเรือนกระจก และมีหน่วยวัดเป็นคาร์บอนตัน Cabot oxide equivalent Co2e
ส่วนคาร์บอนเครดิตเรียกว่า “แต้มบุญ” แต่แต้มบุญไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้ายังไม่มีการรับรองตรวจสอบ โดยมีนักวิชาการมาตรวจสอบ กระทั่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่า กิจกรรมหรือโปรเจกต์ที่ลงมือทำ สามารถดูดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ และแปลงออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตตัน ซึ่งสามารถนำมาขายในตลาดได้ถ้าองค์กรที่ตรวจสอบเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก บริษัทที่ทำแต้มบาปไว้เยอะ สามารถชดเชยแต้มบาปตัวเองด้วยการหาซื้อแต้มบุญมา เพื่อให้เกิดความสมดุลในองค์กรตัวเอง หรือมุ่งสู่ carbon neutral ขององค์กร
ทั้งนี้ การปลูกต้นไม้เป็นทางเลือกที่ยั่งยืน เพราะโดยธรรมชาติต้นไม้มีการดูดคาร์บอนได ออกไซด์จากบรรยากาศ ไปสังเคราะห์แสง แล้วคายออกมาเป็นออกซิเจน นำคาร์บอนฯไปสั่งสมเป็นพลังงานสู่ลำต้น กิ่งก้าน สาขา ฉะนั้นต้นไม้ทุกต้นไม่ว่าจะเป็นล้มลุกหรือยืนต้น สามารถนำมาสร้างสมคาร์บอนเครดิตได้
เพราะพืชทุกชนิดจะมีหน้าที่กักเก็บคาร์บอนฯได้โดยธรรมชาติ และสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ขณะที่การรับรองคาร์บอนฯ ในไม้ยืนต้นสามารถรวบรวมได้ 10 ปี นับหนึ่งจากวันที่เริ่มพัฒนาโครงการ แม้จะปลูกมาก่อนกี่สิบปีก็นับเป็นปีแรก เมื่อครบ 10 ปี ต้นเดิมก็จะไม่ถูกนับคาร์บอนเครดิตอีก อยากขายอีกก็ต้องไปหาที่อื่นปลูกใหม่ ฉะนั้นการขายคาร์บอนเครดิตในไม้ยืนต้น จึงเสมือนทอง รอให้ราคาขึ้นก็เอาไปขาย หรือเทรดได้ ยิ่งกิ่งก้านสาขาเยอะเท่าไร ก็จะดูดคาร์บอนได้มากเท่านั้น ส่วนไม้ล้มลุกต้องขึ้นอยู่กับมาตรฐานว่าเขาสามารถรองรับได้หรือไม่ แต่ก็มีมาตรการอื่นรองรับ
...
“อันที่จริงการซื้อไม่ได้หมายถึงการลดคาร์บอน แต่ถือเป็นการกระจายรายได้ของคนที่ได้รับผลประโยชน์จากแต้มบาป จากการทำลายโลก ให้นำเงินส่วนที่ทำรายได้มาแชร์ให้กับคนที่พยายามทำความดี เพื่อให้โลกดีขึ้น เป็นการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายออกมา เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้าน เกษตรกร ปลูกต้นไม้มากขึ้น อันเป็นการช่วยโลกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นอยากให้ถือว่าคาร์บอนเครดิตคือโบนัส ไม่ใช่มุ่งหวังจะได้เงินมากๆอย่างที่ทำกัน ยิ่งกับมาตรฐาน ท้องถิ่นไทยยิ่งไม่ต้องคาดหวัง เพราะขายได้แค่ในท้องถิ่น ไม่สามารถขายราคาตลาดโลกได้ ฉะนั้นราคาต่ำแน่นอน เนื่องจากทั่วโลกไม่ยอมรับ แถมตอนนี้ยังแทบไม่เห็นการให้ถูกบังคับใช้ แต่ทำในรูปแบบสมัครใจ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกบังคับใช้กันแทบจะทั้งโลกแล้ว”.
กรวัฒน์ วีนิล
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม