นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า เด็กอายุ 1-14 ปี ร้อยละ 53.8 หรือ จำนวน 5,439,835 คนในประเทศไทย ได้รับการอบรมโดยวิธีการรุนแรง โดยมีเด็ก 3,902,930 คน หรือร้อยละ 38.6 ได้รับการอบรมโดยการลงโทษทางร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่เด็ก 101,112 คน หรือร้อยละ 1 ได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงในช่วงที่เก็บข้อมูล ที่น่าเป็นห่วงคือ แม่และผู้ดูแลเกือบ 2 ใน 5 เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเด็กเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทารุณกรรมต่อเด็กในครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้กำหนดถึงการคุ้มครองเด็กที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติเชิงวัฒนธรรม โดยต้องส่งเสริมให้ครอบครัวมีศักยภาพในการว่ากล่าวสั่งสอนเด็กแบบปราศจากความรุนแรง และมุ่งเน้นการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมการสร้างวินัยเชิงบวก เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก

อธิบดี ดย.กล่าวด้วยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่เสนอโดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุมและคณะ ในวันที่ 24 ก.ค. พ.ศ.2567 หากได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรก็จะเข้าสู่กระบวนการของการรับฟังความคิดเห็นต่อไปในอนาคต.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่