โครงการคัดกรองความผิดปกติทางสายตาและการศึกษาความชุกของโรคทางจักษุในผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตชุมชนบางกอกน้อย

หนึ่งในโครงการต่อยอดจาก โครงการบางกอกน้อยโมเดล ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2561 ในการสำรวจสุขภาพของคนในชุมชนบางกอกน้อย นำไปสู่การจัดทำระบบฐานข้อมูลสุขภาพเพื่อวางแผนการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ฝ่ายบริการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการบางกอกน้อยโมเดล ดำเนินการไปแล้วในเฟสที่ 1-2 โดยการสำรวจสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มช่วงวัยรวมทั้งหมด 38,000 คน เฟสถัดไปเป็นการลงลึกสำรวจถึงภาวะโรคต่างๆ ซึ่งได้ค้นพบถึงโรคที่ตรวจพบเป็นอันดับต้นๆ คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases-NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ขณะเดียวกันยังพบการรายงานสุขภาพตนเองถึงการเป็นโรคภูมิแพ้ที่สูงเป็นอันดับต้นๆเช่นกัน เป็นข้อมูลที่แตกต่างจากการสำรวจสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ

...

“โรคทางตาเป็นอีกโรคที่ติดท็อปเทน เป็น 1 ใน 10 ของโรคที่พบได้ในเขตบางกอกน้อย ในฐานะที่เป็นจักษุแพทย์ จึงอยากจะสำรวจในเชิงลึกว่า ประชากรในเขตบางกอกน้อยมีโรคทางตาอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราเคยสำรวจพบโรคต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ เป็นโรคอันดับต้นๆที่พบได้ แต่ระยะเวลาผ่านไป ประเทศไทยมีความเจริญมากขึ้น มีการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น จึงต้องการศึกษาวิจัยว่าโรคทางตาของประชากรเขตบางกอกน้อยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ ข้อมูลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ในการนำไปเป็นแนวทางดำเนินนโยบายการดูแลสุขภาพตาของประชาชนในประเทศไทย ซึ่งการสำรวจความชุกของโรคจักษุ ไม่เฉพาะระบบสาธารณสุขไทยที่ให้ความสำคัญ แต่เป็นอุบัติการณ์ที่ทั่วโลกก็ให้ความสำคัญ โดยในปี 2020 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดว่า ทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงบริการทางจักษุวิทยา และไม่ควรตาบอดจากโรคที่สามารถป้องกันได้ จึงเป็นที่มาในการจัดทำ โครงการคัดกรองความผิดปกติทางสายตาและการศึกษาความชุกของโรคทางจักษุในผู้สูงอายุที่อยู่ในเขตชุมชนบางกอกน้อย ที่ต่อยอดจากโครงการบางกอกน้อยโมเดล” รศ.นพ.นริศ เผยถึงความเป็นมาโครงการ

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์

รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวด้วยว่า เนื่องจากโรคตาพบความชุกในกลุ่มผู้สูงอายุ การคัดกรองครั้งนี้จึงเน้นกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปในพื้นที่ชุมชนต่างๆเขตบางกอกน้อย ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเตรียมตัววางแผนการดูแลสุขภาพตาก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จึงขยายการคัดกรองลงไปถึงกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปด้วย ตั้งเป้าหมายคัดกรอง 2,000 คน จากจำนวนผู้สูงอายุในเขตบางกอกน้อยที่มีประมาณ 1.5 หมื่นคน ดำเนินการคัดกรองระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567 โดยได้รับ งบประมาณสนับสนุนโครงการจากทุนพัฒนาการวิจัยและทุนกิจกรรมเพื่อสังคมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมทั้งงบสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขระดับเขต จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานเขตบางกอกน้อย ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โดยเฉพาะภาควิชาจักษุวิทยาที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง รวมทั้งภาคเอกชนและบริษัทแว่นตาที่สนับ สนุนจัดหาแว่นสายตาให้กับผู้มีความจำเป็น

...

รศ.นพ.นริศ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา 10 ครั้ง ได้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมคัดกรอง 1,100 คน โรคตาที่พบมากที่สุดคือ ต้อกระจก ตามด้วยต้อเนื้อ ต้อลม ที่แปลกใจคือพบผู้เป็นต้อกระจกถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัดแล้วในสัดส่วนมากจำนวนหนึ่ง แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบ หรือไม่รู้ว่ากระทบต่อการมองเห็น บางคนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ จึงไม่เข้ารับการรักษา ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ถึงความรู้
ความเข้าใจเรื่องโรคตาของประชาชนคนไทยที่อาจจะยังได้รับไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ยังค้นพบผู้ป่วยที่เป็นต้อหินโดยไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งต้อหินเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวร หากเราค้นพบได้เร็วก็จะสามารถป้องกันภาวะตาบอดได้ เพราะฉะนั้นโครงการจะเน้นโรคสำคัญๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวร เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม เบาหวานขึ้นจอตา โรคกระจกตา เป็นต้น ข้อมูลสำรวจจะนำมาประมวลวิเคราะห์และเผยแพร่เป็นผลงานวิจัย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนนโยบายการดูแลสุขภาพตาของคนไทย ทั้งคาดหวังจะเป็นโมเดลที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกับชุมชนบางกอกน้อยซึ่งมีความเป็นชุมชนกึ่งเมือง นอกจากนี้จะมีการเผยแพร่ผลงานระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการอ้างอิงถึงอุบัติการณ์ความชุกโรคตาของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปในเขตชุมชนกึ่งเมือง

พญ.ศุภธิดา เจียมสวัสดิ์
พญ.ศุภธิดา เจียมสวัสดิ์

...

พญ.ศุภธิดา เจียมสวัสดิ์ และ พญ.ธัญชนิต เศวตรัตนเสถียร แพทย์ช่วยวิจัย ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงกระบวนการคัดกรองว่า แต่ละจุดที่ลงพื้นที่จะมีทั้งอาจารย์แพทย์ ทีมบุคลากรสาธารณสุขด้านจักษุวิทยา รวมถึงนักศึกษาแพทย์ร่วมคัดกรอง เริ่มจากลงทะเบียนซักประวัติ จากนั้นเป็นการตรวจร่างกายพื้นฐานโดยศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม ต่อด้วยขั้นตอนคัดกรองทั้งการวัดค่าสายตาอัตโนมัติ วัดการมองเห็น การคัดกรองด้วยเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา การคัดกรองโรคตาด้วยเครื่องที่มีความละเอียดมากขึ้นซึ่งตรวจโดยอาจารย์แพทย์ จะบ่งชี้ความเสี่ยงโรคตาต่างๆ ซึ่งหากพบปัญหาจะมีใบแจ้งเพื่อส่งตัวผู้รับบริการเข้ารักษาที่ รพ.ตามสิทธิ กรณีเป็นต้อหินหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงเป็นต้อหิน จะส่งใบนัดให้เข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่ รพ.ศิริราช

นาวาโทหญิงสมพิศ ลัดดาแย้ม
นาวาโทหญิงสมพิศ ลัดดาแย้ม

ด้าน นาวาโทหญิงสมพิศ ลัดดาแย้ม ประธานชุมชนปลายซอยจรัญสนิทวงศ์ 29 ฝั่งขวา ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นโครงการดีมากที่ลงสู่ชุมชน หลายคนไม่คาดคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง คิดว่าสายตาเปลี่ยนไปตามอายุขัย แต่เมื่อได้มาคัดกรองทำให้รู้ถึงความเสี่ยง ทั้งต้อเนื้อ ต้อกระจก โดยเฉพาะต้อหินซึ่งมีอันตรายที่ก่อให้เกิดตาบอดได้ การที่ศิริราชมาออกหน่วยลงพื้นที่เช่นนี้ ทำให้ประชาชนได้รับบริการและทราบผลทันที ขอบคุณ รพ.ศิริราชที่จัดโครงการดีๆเช่นนี้ และอยากให้โครงการนี้ขยายไปพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

...

ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการดีๆที่ลงสู่ชุมชน โดยเฉพาะการพาหมอไปถึงประชาชนในพื้นที่ เพราะนั่นคือการคัดกรองโรคตั้งแต่ต้นทาง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน ลดความแออัดในโรงพยาบาล

ที่สำคัญยังเป็นการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคที่ร้ายแรงในอนาคต.


ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่