หลังเกษตรกรชาวสวนผลไม้ตะวันออกหลุดบ่วงพ่อค้าคนกลาง ที่ไม่เคยจับจอบให้น้ำพรวนดิน ชีวิตชาวสวนพลันดีขึ้นยิ้มระรื่นเมื่อสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สรุปภาพรวมไม้ผลระยอง จันท์ ตราด เมื่อเมษายนที่ผ่านมา...
“ทุเรียน” ราชาผลไม้คู่ราชินี “มังคุด” “เงาะ” และ “ลองกอง” มียอดรวม ว้าว! 1,114,070 ตัน จากปีก่อนที่มีเพียง 1,046,254 ตัน เพิ่มขึ้น 6.48% โดยมังคุดนำโด่ง 42% รองคือ...เงาะ 8% ลองกอง 3%
ทุเรียน...บ๊วยสุด 1%
แต่ชาวสวนทุเรียนระยองบางแห่งนอยด์ (กังวล) เรื่องภัยแล้ง ต้องหาแหล่งน้ำมาแก้วิกฤติผลผลิตทุเรียนกับบางอย่างจึงมีอันลดลง 10% สวนทางกับข้อมูลสรุปข้างต้นเล็กน้อย
ทว่า...บรรยากาศการซื้อขายผลไม้ของเมือง 3 อุตสาหกรรมระยอง คือนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองรองกลุ่ม 55 จังหวัด แต่...มีศักยภาพนครแห่งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกเครือข่ายฮับท่องเที่ยวเมืองพัทยา
และ...อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญคืออุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งชูโรงฤดูผลไม้ประจำปี มีการบริหารจัดการทันสมัยสู่ยุคโกลบอลไลเซชัน ใช้เครื่องมือดิจิทัลคิดบวกลบผลประกอบการแทนรางลูกคิดโบราณ
...
นักการตลาดด้านเกษตรกล่าวว่า “ชาวสวนปัจจุบันรู้วิธีการกระจายผลผลิตสู่กลุ่มผู้บริโภค เช่น ส่วนหนึ่งจัดเป็นโปรดักส์ส่งออกต่างประเทศผ่านล้งที่เหมาสวนแบบยื่นหมูยื่นแมว โดยชาวสวนไม่ต้องเหนื่อยตัดเก็บและรอรับเงินเหมือนเมื่อก่อน”
แต่อนาคตอดเป็นห่วงไม่ได้กับวิธีนี้ โดยเฉพาะจีนซึ่งครองตลาดผลไม้ไทยในจีนมากว่า 2 ทศวรรษ นิยมทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อยอดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังจีนนำทัวร์เที่ยวสวนชิมทุเรียนบ้านเรา ขณะจีนกำลังทดลองปลูกทุเรียนค่อนข้างได้ผล
แล้ววันหนึ่งเกิดได้ผลตามต้องการ...อะไรจะเกิดตามมากับผลไม้ไทยให้น่าคิด?
นักการตลาดชี้ว่า เวียดนามก็กำลังทดลองเหมือนกับจีน ไทยจึงไม่ควรประมาท...ปล่อยให้เข้ามาแบ่งตลาด เช่น จัสมินไรซ์ ที่ไทยกระทบในตลาดยุโรปอเมริกาจากเวียดนามยามนี้
“ไทยยังโชคดีที่ผลไม้ส่วนหนึ่งชาวสวนขยักไว้ขายตลาดในประเทศ อย่างที่เห็นจากตลาดผลไม้ตะพงระยอง พอนอกฤดูกาลตะวันออกอาจจะมีทุเรียนใต้ หรือทุเรียนภูเขาไฟอีสานผสมโรงบ้าง”
สุดท้ายคือผลไม้ที่ถูกเก็บไว้ขายกลุ่มทัวร์เชิงเกษตร วัชรพล สารสอน ผอ.ททท.สำนักงานระยอง บอกว่า เป็นกลยุทธ์เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสู่ระยอง ส่งเสริมต่อเนื่องทุกปีด้วยโครงการ “อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน” กว่า 1 ทศวรรษ เปิดโอกาสให้คนมาเที่ยวชมสวนชิมผลไม้โต๊ะบุฟเฟต์
“สนับสนุน...ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น”
สำหรับปีนี้...ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นเที่ยวกินผลไม้ในสวน 32 แห่ง ภายใต้โครงการ “ระยอง วอนเดอร์ ฟรุ้ต” ให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายผลไม้สดและแปรรูปหรือบริการในสวน
มูลค่าตั้งแต่ 500 บาท จะได้ส่วนลดคืนกลับ 100 บาททันที เพียงแต่ยืนยันตัวตนผ่านคิวอาร์โค้ด
แล้ว...ลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ 1 สิทธิ์ ผ่านรหัสโอทีพี 6 หลักเพื่อป้องกันการตุกติกเกินสิทธิ์
กิจกรรมที่ว่านี้เริ่มเมื่อเมษายนถึง 31 กรกฎาคม หรือเมื่องบประมาณจบตามเป้า ขณะนี้ผู้ใช้สิทธิ์แล้วจากสวน 32 แห่ง 5,000 สิทธิ์ สร้างกระแสเงินหมุนเวียน 4.5 ล้านบาท
พิชชานันท์ โพธิ์แก้ว เกษตรกรสาวแห่งสวนยายดา วัย 42 ปี เจ้าของพื้นที่ 42 ไร่ ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ยอมรับผลผลิตปีนี้ได้เพียง 50% เพราะอากาศไม่เป็นใจ ทุเรียนออกน้อยแต่กลับได้ราคาดี
อย่าง “หมอนทอง” กิโลกรัมละ 130 บาท เท่าตลาดผลไม้ตะพง ถ้าขายให้ล้งส่งออกตลาดจีนซึ่งเมืองจันท์ผูกขาดจะได้สูง 190 บาท
...
ส่วน “ชะนี” เนื้อหอมหวานกรอบเคี้ยวหนุบหนับจากต้นที่มีอายุ 50 ปี ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบแต่มีน้อยเพราะอากาศไม่อำนวย
ผลไม้อย่างอื่น...มังคุดให้ผลน้อยจากอากาศแปรปรวนชาวบ้านต้องซื้อมาบ่มเพิ่ม เงาะปีนี้ออกเยอะราคา 40 ถึง 50 บาท ออกหลังสุดคือลองกองติดน้อยเหมือนกัน
กระนั้น...เกษตรกรสาวเผยผลผลิตโดยรวม “เท่าที่ประเมินน่าจะได้ 10 ตัน รายได้ราวๆ 3-4 ล้านบาท สมน้ำสมเนื้อกับเงินลงทุนที่ครึ่งหนึ่งเป็นค่าปุ๋ย ค่าน้ำค่าแรงงานซึ่งคนไทยวันละ 500 ถึง 600 บาท
ถ้าแรงงานเก็บทุเรียนต้องจ้างต่างด้าวที่ไม่เกี่ยงงาน ค่าจ้างวันละ 300 ถึง 370 บาท พร้อมที่พักอาหารน้ำไฟฟรี”
โหมดการเปิดสวนส่งเสริมท่องเที่ยวรับฤดูกาลผลไม้ พิชชานันท์ บอกอีกว่า ใหม่ๆบุฟเฟต์ผลไม้ก็ดีอยู่หรอก ทำไปทำมาถึงพบปัญหาคือหนึ่งพฤติกรรมนักท่องเที่ยวคาดหวังผลไม้ต้องดี
“ชาวสวนเองก็คำนึงถึงเรื่องนี้ สองเมื่อทุเรียนออกน้อยต้องไปซื้อหามาเสริม ราคาแพงแถมไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ สามบางคนเสียเงินแล้วกินทิ้งกินขว้างมูมมามเสียจนอาเจียนก็มี บางรายพกพาเอายาลดกรดมาด้วย...หมายมั่นว่าต้องกินให้คุ้ม”
...
สำหรับ “ทัวร์จีน” ที่กระแสมาแรงยุคนี้ เกษตรกรสาวสั่นหัวก่อนตอบ.....
“เราปฏิเสธไม่ประสงค์รับทัวร์กรุ๊ปนี้ ถึงจะได้ปริมาณแต่ไร้คุณภาพไม่คุ้มกับความเสียหายต้องฟื้นฟูอยู่นาน”
เหตุผลสำคัญอยู่ตรงนี้...ปี 2563 โควิดระบาดขาดทุนจนต้องเลิกบุฟเฟต์ผลไม้ หันมากันพื้นที่สวนเฉพาะให้คนมาเที่ยว เก็บค่าเข้าชมเล็กๆน้อยๆและเลือกกินผลไม้จากต้นตามใจชอบ
หรือจะซื้อ...ชั่งนั่งกินในสวน กับชั่งแล้วหิ้วกลับบ้าน จากนั้นเปลี่ยนวิธีขายสู่ตลาดออนไลน์มีรายได้ปีละ 2 ล้านบาท
“พอๆกับจัดโต๊ะขายบุฟเฟต์ ข้อดีคือไม่ต้องเครียดกับปัญหาให้น่าปวดหัว”
พอมาปีนี้เมื่อ ททท.ระยอง คิดค้นโครงการ “ระยอง วอนเดอร์ ฟรุ้ต” ขึ้นมาแทนที่ พิชชานันท์รับได้กับคอนเทนต์นี้ ที่ให้โควตาแต่ละสวน 100 สิทธิ์ ขยายเป็น 200 และ 300 สิทธิ์
เพราะ...เคมีตรงใจ “นักท่องเที่ยว”
“ปีหน้า...น่าจะขยายวงเงินเป็น 800 บาท เพราะจะก่อให้เกิดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากพฤติกรรมการจับจ่ายเฉลี่ยคนละ 900 บาท เกินวงเงิน 500 บาท”
...
โจทย์นี้จึงพบคำตอบที่ว่า...นี่เป็นกลยุทธ์ย่อยช่วยสนับสนุนอีเวนต์ซอฟต์พาวเวอร์ 5 พันล้านบาท และกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวสู่ระยองปี 2567 สู่เป้าหมาย 80% ปีพีกท่องเที่ยว 2562 ก่อนถูกโควิดบูลลี่คือ...ก้าวกระโดด 6.4 ล้านคน ทำรายได้ แฮ่ม! 3 หมื่นล้านบาท...ชัวร์.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม