“ปลิงขาว” (Holothuria scabra) มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีนและคอลลาเจน จึงนิยมนำมาปรุงอาหารบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม

สำหรับประเทศไทยมีการจับปลิงขาวจากธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมาก ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ

แม้กรมประมงจะสามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่ปี 2551 เพื่อปล่อยเพิ่มปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพ พร้อมขยายการเลี้ยงสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมประมงได้ประชุมเสวนาในหัวข้อ “ผลสัมฤทธิ์โครงการขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยงปลิงขาวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์” เพื่อหนุนสร้างเครือข่ายและขยายผลการเพาะเลี้ยงให้เกษตรกรในวงกว้าง เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจร้านอาหาร-โรงแรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

หลังจากได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงให้เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย พังงา กระบี่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช จำนวน 3 หลักสูตร ไปเมื่อปีที่แล้ว

และจากการติดตามผลการเพาะพันธุ์ อนุบาล และเลี้ยงปลิงขาวของเกษตรกรที่เข้ารับการถ่ายทอดความรู้ ปรากฏว่า หลักสูตรที่ 1 เทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงขาวระยะว่ายน้ำ (auricularia) ในโรงเพาะฟักมีเกษตรกร 1 ราย สามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงขาวได้

หลักสูตรที่ 2 เทคนิคการอนุบาลลูกปลิงขาวระยะก่อนลงเกาะ (doliolaria) จนได้ปลิงขาวระยะวัยรุ่นในโรงเพาะฟัก มีเกษตรกร 5 ราย สามารถอนุบาลลูกปลิงขาวจากระยะก่อนลงเกาะ จนได้ลูกปลิงขาวระยะวัยรุ่น

และหลักสูตรที่ 3 เทคนิคการเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดิน มีเกษตรกร 5 ราย สามารถเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดิน จนได้ปลิงขาวน้ำหนัก 100-300 กรัม

...

จากผลสำเร็จของโครงการ กรมประมงเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเกษตรกรไทย จะสามารถเร่งผลักดันให้เกิดการเลี้ยงปลิงขาวสู่เกษตรกรในเชิงพาณิชย์ได้ในไม่ช้า และจะส่งผลให้ “ปลิงขาว” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ในอนาคตได้อย่างแน่นอน.

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม