การซื้อ-ขายปริญญา แบบ “จ่ายครบจบแน่” !

ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกยุคสมัยสำหรับคนที่ต้องการปริญญาแบบทางลัด โดยไม่ต้องเรียน เพื่อนำใบปริญญาไปใช้เป็นใบเบิกทางสู่สังคม

การซื้อ-ขายปริญญาส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะแวดวงการศึกษา แต่ยังลุกลามไปถึงเกือบทุกภาคส่วน ล่าสุดมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกขายวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนจะพบว่ามีขบวนการซื้อขายเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายรวมถึงคนในมหาวิทยาลัย

จากปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งรับผิดชอบระบบการอุดม ศึกษาของประเทศไทยและมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ได้เร่งแก้ปัญหาและสอบสวนข้อเท็จจริงทันทีตั้งแต่เกิดเหตุการณ์

เริ่มตั้งแต่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.สั่งการให้ปลัดกระทรวง อว.ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 1 ชุด ซึ่งได้ลงพื้นที่ค้นหาความจริงเพื่อเร่งไขความจริงให้ปรากฏแก่สังคมรวมถึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการสภาที่กระทรวง อว.แต่งตั้งในสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้กระทรวง อว.ทราบเป็นระยะ

...

“การซื้อขายปริญญาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลกระทบต่อสังคมและความเชื่อมั่นต่อระบบอุดมศึกษาของประเทศ กระทรวง อว.จึงต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สังคมคลางแคลงใจหรือมองว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจและหากพบว่ามหาวิทยาลัยทำผิดจริง ก็พร้อมจะใช้มาตรการเด็ดขาดตามกฎหมาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้อำนาจกระทรวง อว. เข้าไปควบคุม ดำเนินคดี จนถึงการยกเลิกใบอนุญาตในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการยกเลิกใบอนุญาตมหาวิทยาลัยที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาแล้ว” น.ส.ศุภมาส ยืนยันถึงการเอาจริงของกระทรวง อว.ในการจัดการมหาวิทยาลัยที่ไร้ธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ การทำวุฒิการศึกษาปลอมยังถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ผู้ปลอมมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ผู้ซื้อและผู้ประสานงาน อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ส่วนมหาวิทยาลัย หากรับเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาไว้โดยรู้ว่าผู้จ่ายเงินไม่มีเจตนาที่จะศึกษาตามหลักสูตร เป็นการรับเงินที่ขัดกับ พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน มาตรา 75 และเป็นความผิดตามมาตรา 115 มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยการฝ่าฝืนมาตรา 75 ยังเข้าข่ายที่อาจถูกควบคุมได้ตามมาตรา 86 (2) แห่ง พ.ร.บ. เดียวกันนี้ด้วย

น.ส.ศุภมาส ยังอธิบายถึงขั้นตอนในการดำเนินการตามกฎหมายต่อว่า ขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือระดับที่ไม่ต้องควบคุมตามมาตรา 84 ซึ่งเป็นกรณีที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนดโดยให้ กกอ.ออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงแก้ไข หากมหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการให้ รมว.อว. โดยคำแนะนำ กกอ. มีอำนาจสั่งให้ 1.งดรับนักศึกษา 2.เพิกถอนการรับรองวิทยฐานะ และ 3.เพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่ระดับที่ต้องควบคุมตามมาตรา 86 ซึ่งหากพบว่ามหาวิทยาลัยฝ่าฝืนมาตรา 86 (2) พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รมว.อว. โดยคำแนะนำของ กกอ. สามารถสั่งให้มหาวิทยาลัยอยู่ในความควบคุมของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. และแต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัย และเมื่อคณะกรรมการควบคุมเห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ควรดำเนินกิจการต่อไป กระบวนการก็จะดำเนินไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกส่วนการวางมาตรการป้องกันหลังจากนี้

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้ออกประกาศกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ.2566” โดยในหมวด 3 ได้ระบุให้มหาวิทยาลัยจัดส่งข้อมูลของผู้เรียน เช่น รายชื่อนักศึกษา เลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาหรือผู้ได้รับปริญญาบัตรมาให้กระทรวง อว. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ที่มีชื่อสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาบัตรมาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่น เพิ่งมีชื่อสมัครเข้าเรียนปีนี้ แต่ปีหน้าได้รับปริญญาเลย แบบนี้ถือว่าผิดปกติแน่นอน

...

“การลงดาบมหาวิทยาลัยที่นอกลู่แบบนี้ ถือเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยที่ไม่มีธรรมภิบาลกล้าทำเช่นนี้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือทำลายความเชื่อมั่นในระบบอุดมศึกษาของไทยต่อไปอีก แต่ขณะเดียวกันปัจจุบันกระทรวง อว. ก็ได้เดินหน้าพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกวันนี้ ที่ต้องทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นพื้นที่แห่งโอกาส ที่ไม่จำกัดเฉพาะการผลิตหลักสูตรหรือจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเท่านั้น แต่ต้องรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่นอกจากระดับปริญญาแล้ว ยังมีหลักสูตรระยะสั้นในระดับประกาศนียบัตรต่างๆที่ให้คนทุกช่วงวัย ทุกลุ่มอาชีพ เข้ามาพัฒนาและเพิ่มทักษะได้ตลอด” รมว.อว.กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกด้วยว่า จริงๆ วันนี้ระบบอุดมศึกษาเปลี่ยนไปมากแล้ว จากปริญญาไปสู่การศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งสามารถใช้ความรู้ที่ได้เป็นใบเบิกทางได้ โดยไม่ต้องไปซื้อปริญญา

ทีมข่าวอุดมศึกษา เห็นด้วยกับการแก้ปัญหา ตลอดจนมาตรการป้องกันและตรวจสอบของกระทรวง อว. เพราะการซื้อ-ขายปริญญาส่วนใหญ่ทำกันเป็นขบวนการและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เพื่อสกัดกั้นการกัดเซาะคุณภาพการศึกษาของชาติ

...

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากคือการซื้อ-ขายปริญญา เพื่อตัดวงจร “จ่ายครบจบแน่” ต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่ลูบหน้าปะจมูกหรือไฟไหม้ฟาง

เพื่อหยุดขบวนการคอร์รัปชันทางการศึกษา ก่อนที่จะลุกลามเป็นวิกฤติศรัทธาและความไม่เชื่อมั่นกับสังคม.

ทีมข่าวอุดมศึกษา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่