ดังที่เกริ่นไว้ใน “เสาร์สารพัน” เมื่อวานนี้ว่า วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 นั้น เป็นวัน “เข้าพรรษา” จะมีการจัดงานใหญ่เฉลิมฉลองเทศกาลงานบุญขึ้นทั่วประเทศ...จึงขออนุญาตหยิบยกมาเขียนเพิ่มเติมเป็นพิเศษในวันนี้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่มีความประสงค์จะออก เดินทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อไปร่วมงานเข้าพรรษาของจังหวัดต่างๆได้ใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจว่าจะไปไหนดี เพราะยังมีเวลาอีก 7 วัน นับตั้งแต่วันนี้

มาเริ่มต้นกันที่จังหวัดใกล้ๆ กทม.กันเสีย ก่อน เพราะสามารถจะไปเช้ากลับเย็นได้...ขอแนะนำ 1.“งานประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา 2567” วัดพระพุทธบาท สระบุรี เป็นงานแรก เพราะสามารถใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ที่สำคัญเนื่องจากปีนี้จะครบ 400 ปีของวัดพระพุทธบาท รวมถึงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จึงจะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่และพิเศษกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมเป็นต้นไป ด้วยขบวนแห่ “ขบวนพยุหยาตรา และรถบุปผชาติ” ในเวลา 16.00 น. รอบๆตัวอำเภอพระพุทธบาทไปสิ้นสุด ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร

จากนั้น ในวันที่ 20-21 กรกฎาคม จะมีพิธีตักบาตรดอกไม้ ที่เรียกว่า “ดอกเข้าพรรษา” อันเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก มีเฉพาะที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร เท่านั้น

...

2.ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำลาดชะโด พระนครศรีอยุธยา ณ บริเวณ ตลาดลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใกล้แค่นี้เองเช่นกัน...งานจะมีเพียงวันเดียวคือในวัน “อาสาฬหบูชา” 20 กรกฎาคม 2567 เริ่มตั้งแต่เวลา 09.39 น.เป็นต้นไป ด้วยขบวนเรือขนาดเล็กตกแต่งงดงามยาวเหยียดแล่นเลาะไปตามลำคลองผ่าน 2 ฟากคลอง ซึ่งจะมีทั้งตลาด หมู่บ้าน ชนบท ตลอดจนท้องทุ่งท้องนาอันเขียวขจี... ระหว่าง ทางก็จะมีสะพานข้ามคลองให้ถ่ายภาพเป็นจุดๆ

พี่น้องชาวลาดชะโดจัดพิธีแห่เทียนพรรษาทางน้ำมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 13 แล้ว ได้รับกำลังใจจากพี่น้องจังหวัดอื่นๆหนาแน่นมาโดยตลอด นอกจากได้ร่วมเทศกาลงานบุญและประเพณีอันยิ่งใหญ่แล้ว ยังจะมีของฝากของที่ระลึกให้ซื้อติดมือกลับบ้าน โดยเฉพาะ “กระยาสารทแม่หนู” กิโลละ 160 บาท ได้ชื่อว่าอร่อยไร้เทียมทานเลยทีเดียว

3.ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี 2567 เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียนเมืองธรรม...งานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะการตกแต่งรถและเทียนพรรษาแท่งมหึมา พร้อมฉลุลายต่างๆ ต้องยกให้เป็นประเพณีและเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบล ราชธานีที่ยากจะหาที่ใดทัดเทียมได้ งานเริ่มอุ่นเครื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ด้วยการนำชมวิธีและวิถีการทำเทียนในคุ้มวัดต่างๆถึง 12 วัด จากนั้น 20-21 กรกฎาคม จะเริ่มพิธีแห่ขบวนเทียนพรรษาอันยิ่งใหญ่ไปรอบเมืองอุบล ประกอบการแสดงแสง สี เสียง อันงดงามยามค่ำคืน เสร็จแล้วก็จะตั้งโชว์เทียนพรรษาที่ชนะการประกวดให้ดูชมไปจนถึง 23 กรกฎาคม...ใครยังไม่เคยไปอยากให้แวะไปสักครั้ง...ได้ทั้งการทำบุญยิ่งใหญ่แล้วยังได้เที่ยวได้ทัศนาจรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

4.ประเพณีแห่เทียนพรรษาในจังหวัดอีสานอื่นๆ นอกเหนือจาก จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่มากดังกล่าวแล้ว...จังหวัดในภาคอีสานอีกหลายจังหวัดที่มีประเพณีแห่เทียนพรรษามายาวนานและปัจจุบันก็ยังจัดอยู่ เป็นที่กล่าวขวัญถึงทุกๆปีเช่นกัน อาทิ “ประเพณีแห่เทียนโคราช 2567” จังหวัดนครราชสีมา จัด ณ บริเวณรอบ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ระหว่าง 20-21 ก.ค.นี้ “งานประเพณี แห่เทียนพรรษาเทศบาลเมืองชัยภูมิ 2567” จัด ณ บริเวณ โบราณสถานปรางค์กู่ จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 20-21 กรกฎาคม...และงาน “ตักบาตรบนหลังช้าง” เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา 2567 ณ จังหวัดสุรินทร์ เมืองช้างก็น่าสนใจมากๆ มี 2 วัน 19-20 ก.ค. ...ขอถือโอกาสเขียนรวบยอดให้ทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวนี้ไปพร้อมๆกัน

5.เวียนเทียนทางน้ำ จังหวัดพะเยา สำหรับจังหวัดในภาคเหนือก็มีการจัดพิธีเวียนเทียนเนื่องใน วันอาสาฬหบูชา และ วัน เข้าพรรษา เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ งานที่จัด ได้อย่างยิ่งใหญ่ และเป็น อัตลักษณ์ เป็นที่ได้รับ การกล่าวขวัญถึงทุกๆปี ก็คือ จังหวัดพะเยา ซึ่งจะมีการจัดพิธีเวียนเทียนทางน้ำกลาง กว๊านพะเยา ครั้งที่ 52 ในวันที่ 20-22 กรกฎาคมนี้ ครอบคลุมทั้งวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ณ วัดติโลกอาราม ริมกว๊านพะเยา จะแวะไปร่วมทำบุญ หรือท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็เชิญได้นะครับ

6.ไปที่ ภาคใต้ บ้างนะครับ ซึ่งก็จะมีงานเข้าพรรษาในทุกจังหวัดทุกอำเภอเช่นกัน แต่ที่ขึ้น บัญชี “ปฏิทินวัฒนธรรม” ของ กระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ “วันเข้าพรรษาแห่เทียนเวียนเมือง” ของ เทศบาลเมืองตะกั่วป่า และ วัด นิกรวราราม วันที่ 18-19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะมีทั้งพิธีหล่อเทียน, สมโภชเทียน และแห่เทียนไปถวายวัดต่างๆ ครบถ้วน

...

อีกงานหนึ่งที่น่าสนใจแม้จะมิได้เกี่ยวข้องกับเทศกาลเข้าพรรษาแต่อย่างใด แต่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือ 18-21 กรกฎาคมนี้ และบันทึกอยู่ในปฏิทินวัฒนธรรมด้วย ในชื่องาน “แห่พระลุยไฟ” ของศาลเจ้า โก้วเล้งจี่ (เขามงคลพิพิธ) อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ก็ถือ โอกาสนำมาบอกบุญต่อไว้ ณ ที่นี้อีกงานหนึ่ง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือ การประมวลการจัดงานประเพณี เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา และอาสาฬหบูชาจากทั่วประเทศมาฝากท่านผู้อ่านโดยสังเขป โดยเน้นต่างจังหวัดเป็นหลัก เพื่อผลในการ “ทำบุญ” “ท่องเที่ยว” และ “กระจายรายได้” ไปพร้อมๆกัน...

ก็ขอให้ทัวร์ให้เที่ยวอย่างมีความสุข ทั้งสุขกายและสุขใจ อิ่มธรรมะ และโปรดรำลึกถึงสโลแกนของกระทรวงสาธารณสุข “งดเหล้าเข้าพรรษา” เอาไว้ด้วย...เพื่อการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและได้บุญได้กุศลครบถ้วนทุกประการนั้นแล.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม