นับวันยิ่งวิกฤติมากขึ้นสำหรับ “การศึกษาไทย” จากความยากจนส่งผลความเหลื่อมล้ำให้เด็กเยาวชนหลุดออกระบบการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มสูงทุกพื้นที่ ก่อความเสียหายแก่การพัฒนาประเทศหลายมิติ

ถ้าดูตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ทำฐานข้อมูลเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาช่วงอายุ 3-18 ปี “ไม่มีข้อมูลในระบบ 1.02 ล้านคนจากทั้งหมด 12 ล้านคน” ในวัยภาคบังคับ ป.1-ม.3 มี 3.9 แสนคน จังหวัดที่หลุดออกระบบสูงสุด คือ กทม. 6.1 หมื่นคน ตาก 4.1 หมื่นคน สมุทรสาคร 2 หมื่นคน เชียงใหม่ 1.6 หมื่นคน

สะท้อนให้เห็นผลกระทบจาก “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ทำให้ต้องได้รับการปฏิรูปนโยบายใหม่นำมาสู่ “การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ปี 2564” ด้วยการนำร่างเก่าในสมัยรัฐบาลที่แล้วมาทบทวนแก้ไข เพื่อมาปรับใช้แทน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 ที่ใช้มานานกว่า 25 ปี

กลายเป็นข้อถกเถียงเนื่องจาก “ร่าง พ.ร.บ.ปี 2564 มีข้อครหาไม่ทันสมัย” ด้วยปัจจุบันการศึกษาเปลี่ยนไปมาก นำมาสู่วงเสวนานโยบายสาธารณะ “ชำแหละร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา บอกว่า

ความจริง “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” เป็นแนวทางการจัดการศึกษา “อันเป็นปลายทางในการปฏิรูปประเทศ” ที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 กำหนดให้ต้องมีกฎหมายการศึกษาแห่งชาติใหม่ เพราะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ถูกบังคับใช้มานานกว่า 25 ปี ทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

...

กระทั่งนำมาสู่การอัปเดต “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับปี 2564” ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2542 จาก 4 ภาค นำข้อคิดเห็นจุดข้อบกพร่องของการศึกษามาแก้ไขปรับใหม่เบื้องต้นถูกเสนอ รมว.ศึกษาธิการแล้วในวันที่ 31 พ.ค.2567 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณารับหลักการส่งให้ สนง.กฤษฎีกา

ทว่าสำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับปี 2564” เป็นกฎหมายถูกหยิบยกมาจากฐานความคิด “พ.ร.บ.การศึกษาฯปี 2542” โดยเฉพาะเนื้อหาหลายเรื่องที่ดีมิได้ถูกนำมาปฏิบัติ เช่น การจัดสรรงบประมาณให้สถานประกอบการรายหัวให้นักเรียน สิ่งนี้ถูกบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ตรงเป้าหมาย

อย่างมาตรา 6 แบ่งช่วงอายุไว้ 7 ระดับ คือ ช่วงแรก 0-1 ปี ช่วงที่สอง 1-3 ปี ช่วงที่สาม 4-6 ปี ช่วงที่สี่ 6-12 ปี ช่วงที่ห้า 12-15 ปี ช่วงที่หก 15-18 ปี และช่วงที่เจ็ดเป็นอุดมศึกษา อันเป็นการดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษา ซึ่งขยายรายละเอียดให้สมรรถนะผู้เรียนควรเป็นอย่างไร และขยายเนื้อหาการจัดการสถานศึกษาให้ชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในสังกัด อปท. โรงเรียนเอกชน หรือสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อนำมาเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ทั้งหมด เพียงแต่อาจจะถูกเขียนในลักษณะแบบกว้างๆ ไม่ได้เจาะลงลึกเท่านั้นเอง

“ปัจจุบันต้องยอมรับระบบการศึกษาไทยจะไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ เพราะบางโรงเรียนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนแบบทางเลือกเฉพาะด้านมีค่าใช้จ่ายสูง แล้วทุกคนมีสิทธิในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้นการศึกษาสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่จะไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำเลยคงไม่ได้” ดร.ภูมิพัทธ ว่า

ตอกย้ำว่า “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับปี 2564” จะช่วยแก้ปัญหาจุดอ่อนของการศึกษา เพราะมีการระบุถึงการเทียบโอนเกี่ยวกับการเรียน 3 ระบบใน 8 ช่วงวัย เพื่อให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นสรุปง่ายๆ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับปี 2564 เป็นการแก้ พ.ร.บ.ฉบับปี 2542 ในจุดที่ยังไม่ถูกนำมาปฏิบัติ และมองหลักการจัดการด้านการศึกษาในอนาคตด้วย

เบื้องต้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติปี 2564 นี้ถูกนำเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการแล้วเตรียมเข้า ครม. เมื่อผ่านก็เข้าสู่กฤษฎีกาแต่ยังสามารถปรับรวมร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของหน่วยงานและพรรคการเมืองทั้ง 6 ฉบับที่เตรียมเสนอเพื่อหาข้อดีที่สุดในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คาดว่าประมาณต้นปี 2568 จะเข้าสภาผู้แทนราษฎร

...

ขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา สภาผู้บริโภคบอกว่า สำหรับฐานแนวคิด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ปี 2564 ค่อนข้างมีรายละเอียดเต็มไปด้วยการบริหารจัดการกว่า 110 มาตรา “เน้นข้อกฎหมาย” ทำให้เข้าใจยาก ไม่ตอบโจทย์สำหรับคนใช้ง่าย และไม่สามารถสื่อสารกับคนอ่านได้เลย

ส่วนใหญ่มักพูดเกี่ยวกับปัญหาในอดีตมากกว่าการเชื่อมโยงกับปัจจุบัน “มิได้พูดถึงแม้แต่การจัดการการศึกษาในอนาคต” ดังนั้นถ้าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้จะไม่สามารถจินตนาการการศึกษาในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าได้เลย เพราะตอนร่าง พ.ร.บ.ต่างพากันมุ่งแต่จะใช้กฎหมายแก้ปัญหาทุกอย่างที่กำลังเผชิญอยู่นี้

เพราะทุกคนมีความหวังว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้” จะแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทำให้เนื้อหาต่างเต็มไปด้วยประเด็นเชิงการเมืองของการขับเคลื่อน และการแก้ปัญหาการศึกษาถูกผูกมัดไว้ใน พ.ร.บ.ทั้งหมด

ทำให้ลองหันไปอ่าน “พ.ร.บ.การศึกษาของประเทศอื่น” เพื่อเปรียบเทียบ อย่างเช่นกรณี “ญี่ปุ่น” ที่มีรายละเอียดเพียง 6 หน้ากระดาษ แต่เนื้อหากลับมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องนิยาม “การศึกษาคืออะไร และการศึกษาแต่ละแบบมีอะไรบ้าง” ทั้งยังพูดถึงการศึกษาสำหรับเด็กในภาคบังคับไปถึงภาคอาชีวะ มีกลไกลิงก์เชื่อมต่อกันอย่างไร

...

ด้วยหลักการนำ “แผนแม่บทมาเป็นกฎหมายการศึกษาใหญ่” แล้วออกรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายหลัง “เพื่อให้เนื้อหากฎหมายหลักคงท่ีเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด” ต่างจากในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ปี 2564 ลงรายละเอียดแจกแจงถึงช่วงวัยเรียน “ตามหลักนานาชาติ” เรื่องนี้มักต้อง อยู่ในหลักสูตรมากกว่าอยู่ใน พ.ร.บ.

สาเหตุจากหลักสูตรเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่าง “ประเทศไทยปรับทุก 10 ปี” กระทั่งมีคำถามว่า “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับปี 2564 เป็นของใคร?” เพราะก่อนหน้านี้มีร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการศึกษาเสนอมา 6 ฉบับ แต่ไม่คลี่เนื้อหาถกเถียงสะเด็ดน้ำรวมฉบับเดียว ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับปี 2564 กระจัดกระจายเป็นแปะปั่วเต็มไปด้วยความคิดหลากหลาย

ทั้งที่ควรมีแนวทางร่วมกันก่อนว่า “ต้องการเห็นการศึกษาเป็นแบบไหน” ด้วยการสะท้อนปรัชญาการศึกษาที่ประเทศต้องยึดโยงไว้ เช่น ในต่างประเทศการจัดระเบียบกฎหมายจะกำหนดนิยามเลยว่า “การศึกษาคืออะไร และมีเพื่อเป้าหมายใด” แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯปี 2564 กลับละเลยในการเขียนเนื้อหาตรงจุดนี้ไป

...

กลายเป็นสาละวนอยู่กับ “การตั้งคณะทำงาน” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา หรือตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตร “สิ่งนี้ล้วนเป็นเนื้อหาเชิงเทคนิคทั้งสิ้น” ส่วนเรื่องใหญ่ที่ควรต้องมี อย่างเช่น “การศึกษาคืออะไร หรือเพื่อใคร” กลับไม่มีการถกเถียงให้จบนำมาเขียนไว้ใช้ในอนาคต

แต่สิ่งที่น่าตกใจ “ระหว่างร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ” ปรากฏพบ พ.ร.บ.การศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้องออกมาเต็มไปหมด เช่น พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้เกิดคำถามว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ที่จะออกมามีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกัน หรือเป็นกฎหมายแม่บทครอบคลุมฉบับอื่น

สุดท้ายฝากไว้ว่า “เนื้อหา พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับเก่าที่ดีหายไป” ควรนำมาไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แล้วข้อใดก่อให้เกิดความสับสนมีรายละเอียดรกรุงรังเกินไปไม่ควรนำมาบรรจุไว้ ในส่วนอะไรคุยกันยังไม่จบต้องถกเถียงให้สะเด็ดน้ำก่อนเขียนเป็นกฎหมาย และอะไรที่ยังไม่มีความชัดเจนก็ต้องกลับไปศึกษาให้ชัดเสียก่อน

ในสถานการณ์การศึกษาที่มีปัญหา “พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่” ล้วนเกี่ยวข้องกับลูกหลานไปอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น เราต้องมาถกเถียงกันเพื่อให้มีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมที่ถูกละเมิดสิทธิมานานจากการละเลยของภาครัฐนั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม