วันที่ 12 ก.ค. 67 เวลา 09.40 น. ณ ห้องประชุมศรีพฤทเธศวร ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง เขต 14 ร่วมลงพื้นที่ โอกาสนี้ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนางสาวภคนันท์ ศิลาอาสน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายธาตรี สิริรุ่งวนิช ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ นายสุริยา บุตรจินดา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 22 อำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจจะมาพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องข้าราชการชาวมหาดไทย ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และสมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดศรีสะเกษ และตอกย้ำถึงอุดมการณ์ (Passion) และทัศนคติ (Attitude) ของคนมหาดไทย ที่จะต้องมุ่งมั่นทำหน้าที่ด้วยการเป็น "ผู้นำ" หลอมรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว เริ่มตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัดที่คอยดูแลประชาชนทุกคนในจังหวัด และท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดที่ต้องเป็นผู้คอยสนับสนุนอย่างลึกซึ้งในการดูแลทุกข์-สุขของพี่น้องประชาชนไปพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะต้องคอยทำงานสอดประสานกันด้วยบทบาทการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” เพื่อให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชนได้อย่างรอบด้าน โดยต้องยึดหลักการที่ว่า "คนมหาดไทยต้องทำงาน 24 ชั่วโมง" คือ การทำงานตลอดทุกเวลานาที เพื่อดูแลทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ดังเช่นการที่เราไม่เรียกสถานที่บ้านพักของผู้ว่าฯ ด้วยคำว่า "บ้าน" แต่เรียกว่า "จวนผู้ว่าฯ" เพราะเป็นสถานที่ทำงาน สถานที่ทบทวนงาน ติดตามงาน ทั้งงานที่อยู่ระหว่างทำ รวมไปถึงสิ่งที่ทำไปแล้วแต่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เรียกว่าเป็นสถานที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

"ดังที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบแนวทางการทำงานว่า "สั่งวันนี้ เสร็จตั้งแต่เมื่อวาน" ด้วยการที่เราต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่หยุดนิ่งในการวิเคราะห์ข้อมูล ชีวิตความเป็นอยู่ ดินฟ้าอากาศ ชีวิตประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งมีความรู้ ความสามารถ มีทีมงานที่สามารถคาดการณ์คาดหมายได้ว่าต้องเร่งทำอะไร เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับประชาชน อันจะส่งผลกับประเทศชาติ โดยไม่ต้องรอคำสั่ง เมื่อท่านผู้ว่าฯ และท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดได้ทำหน้าที่ของคนมหาดไทยเป็นต้นแบบแล้ว ก็จะสามารถส่งต่อตัวอย่างที่ดีไปสู่ผู้นำในระดับพื้นที่ คือ ท่านนายอำเภอ ที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน นอกจากนี้ การเป็นผู้นำของคนมหาดไทย ต้องเป็นผู้นำของข้าราชการทุกกระทรวงในพื้นที่ ดังนั้นต้องรู้จักการบูรณาการคน และบูรณาการงาน เพราะงานของทุกกระทรวง ทุกกรม ล้วนแต่เป็นงานของพวกเราชาวมหาดไทยที่ล้วนแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ดังนั้น ชาวราชสีห์ทุกคนต้องมุ่งมั่นทำหน้าที่ "ทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ทำงานทั้งในหน้าที่และงานจิตอาสา เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์สู่พี่น้องประชาชนโดยไม่ต้องมีใครสั่ง ดังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรง "สืบสาน รักษา และต่อยอด" วิถีชีวิตอันดีงามของคนไทย ที่เป็นสังคมแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล โดยทรงรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของคนไทยในอดีตให้กลับคืนมา ส่งเสริมทำให้เกิดการรวมกลุ่มแบบจิตอาสา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาแบบเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ที่มี DNA ของคนไทยในอดีต มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ รวมถึงต้องช่วยกันปลุกเร้าให้คนในพื้นที่ของเรามีความเสียสละและทำประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ถือเป็นต้นแบบพื้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำเอาพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการสืบสานรักษาและต่อยอด ดังพระปฐมบรมราชโองการ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด ดังพระราชดำรัส 30 มิถุนายน 2563 ความว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ผ่านการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตาม ”โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา" เป็นสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการและทุกฝ่ายในพื้นที่จังหวัดต้องให้ความสำคัญและคอยสนับสนุนพี่น้องประชาชนได้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่ เพราะเรามีครัวเรือนต้นแบบ คือ "คุณพรรณี ต้อไธสง" ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้พัฒนาชีวิตของตนเองในการทำให้พื้นที่ 8 ไร่ 1 งาน ได้มีการบริหารจัดการพื้นที่เป็นแปลงโคก หนอง นา เป็นสวนเกษตรไร่นาผสมผสาน มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นมะปราง มะยงชิด กล้วยหอมทอง หมาก พลู ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เป็ดไก่ หมูป่า ทำนาข้าว และเพาะชำกล้าไม้จำหน่าย จนประสบความสำเร็จและเป็นศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เหมาะเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ต้นแบบในรูปแบบ "โฮมสเตย์" ที่สามารถรองรับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาได้ แต่จะเกิดความต่อเนื่องที่ยั่งยืนได้ ต้องมีการสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้แบบ site visit ลงพื้นที่ไป learning by doing อย่างน้อย 2 วัน 1 คืน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และขยายผลให้ทุกหมู่บ้านมีพื้นที่ต้นแบบ ทั้งนี้ "โฮมสเตย์" ต้องเป็น "ครอบครัวยั่งยืน" ที่รวมกันเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" คือ มีการพึ่งพาตนเอง มีอาหารการกิน มีการบริหารจัดการขยะ รักษาความสะอาด มีบ้านที่มั่นคงแข็งแรง มีความรักสามัคคี ศรัทธาและเคารพการทำความดี ไม่มีสมาชิกติดยาเสพติด เพื่อจะทำให้อำเภอห้วยทับทันเป็นอำเภอยั่งยืนต้นแบบ ที่สามารถขยายผลทำให้ทุกอำเภอเป็นอำเภอยั่งยืนด้วยได้ และจังหวัดศรีสะเกษก็จะเป็น The Best ของโลก เพราะศรีสะเกษมีของดี แต่ต้องอย่าลืมที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ เพื่อร่วมรับประโยชน์ สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ด้วยการสร้างความยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม น้อมนำคุณธรรมนำชีวิต ส่งต่อไปยังเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ หนุนเสริมระบบคุ้มบ้าน ให้มีคณะกรรมการคุ้มบ้าน คอยดูแลสมาชิก หรือ ครัวเรือนที่อยู่ในคุ้มบ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังนั้น ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญ ด้วยการขยายผลโครงการฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ทั้งระดับจังหวัด (ครู ก) ระดับอำเภอ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ครู ข) โดยขยายผลต่อไปยังท่านนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนเพื่อสร้างความรัก ความผูกพัน ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ของครัวเรือน ผ่านการถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานเด็กและเยาวชน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งดี ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่ "หมู่บ้าน" หน้าที่ที่สำคัญของคนมหาดไทย คือ การทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ดังที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระดำริสู่การขับเคลื่อนขยายผล ซึ่งเราทุกคนจะต้องช่วยกัน เสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทีมตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีพระสงฆ์ประจำตำบล เป็นผู้นำร่วมกับฝ่ายราชการ ลงพื้นที่ดูแล ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากมหาเถรสมาคม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และ MOU โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ยกระดับสู่หมู่บ้านคุณธรรม

"สิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือ การพัฒนาระบบสารสนเทศ ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการบริหารจัดการข้อมูลระบบสารสนเทศในการให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยจากการเสพยาเสพติด ให้ได้รับการบำบัดรักษา และมีระบบติดตามการใช้ชีวิตภายหลังจากกลับไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคม เช่นเดียวกัน ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถือเป็น Big Data ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาโดยต่อยอดจากระบบการดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ "ThaiQM" ที่เกิดจากหัวใจของคนมหาดไทยที่อยากบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ด้วยการสามารถมีระบบติดตามข้อมูลความยากจนของพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือครอบคลุมกว่า 14 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ โดยพบเป็นครัวเรือนที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลที่ดีที่สุด ละเอียดที่สุด ครบถ้วนที่สุด และเป็นระบบที่สุด เพราะเราได้รวบรวมทุกสภาพปัญหาที่ครอบคลุมงานตามอำนาจหน้าที่ (Functions) ของทุกกระทรวง ทุกกรม ไว้ในฐานข้อมูลดังกล่าว จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้เป็นฐานข้อมูลในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และให้ความสำคัญในการติดตามให้นายอำเภอกำชับปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล และทีมงานอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้เรามีข้อมูลในการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกครัวเรือน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ควบคู่กับการส่งเสริมให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลได้หมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ไปติดตามถามไถ่ ไปดูแลประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ดังพระโอวาทสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า "ลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด" เพื่อให้เราได้รับรู้รับทราบ ได้มีข้อมูลในการวางแผนการดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งระบบ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับการดูแลด้วยกลไกและหัวใจของคนมหาดไทยผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการให้กับประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย