สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) จับมือกับ Global Consortium of Entrepreneurship Centers (GCEC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน “GCEC NEW FRONTIER : BANGKOK SUMMIT 2024” ระหว่างวันที่ 19–23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในระดับภูมิภาคเอเชีย
เป็นกิจกรรมหลักสัปดาห์ผู้ประกอบการ Sasin Impact Entre preneurship 2024 (Sasin IEW) รวบรวมสุดยอดผู้ประกอบการ และนักนวัตกรรมจากทั่วโลกมาร่วม เพื่อเปิดรับไอเดียใหม่และแลกเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจที่แตกต่างระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับสถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และหน่วยงานทุกภาคส่วน มารวมตัวกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พัฒนาต่อยอดความรู้องค์รวม ขับเคลื่อนผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เกิดการสนับสนุนแนวคิดนวัตกรรมที่เน้นการผลักดันธุรกิจใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก
ภายในงานได้รับเกียรติจากทีมผู้บริหารศศินทร์, GCEC และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานตามด้วยปาฐกถาพิเศษและเสวนาเรื่อง “Driving Inclusive Entrepreneurship Ecosystems for Impact: Journey for Success” มีผู้บรรยายจากนานาประเทศที่มีความรู้ความชำนาญเข้าร่วม
สำหรับผู้ร่วมปาฐกถาพิเศษและเสวนา อาทิ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ซีอีโอ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และนายกสมาคมนิสิตศิษย์เก่าศศินทร์ นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา และ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
...
นอกจากนี้ มีผู้นำด้านวิสัยทัศน์ ผู้นำด้านนวัตกรรม และผู้นำด้านอุตสาหกรรมต่างๆ มาร่วมแบ่งปันแนวคิด นโยบาย แนวปฏิบัติในการพัฒนาโปรเจกต์ และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
ศ.ดร.เอียน เฟนวิค ผอ.ศศินทร์ เปิดเผยว่า พร้อมสนับสนุนสร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อ และเป็นพลังในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการทั่วโลก พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน จะช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาทางธุรกิจ
“ศศินทร์เป็นสถาบันสอนธุรกิจแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล ปัจจุบันยังคงขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้มีสิ่งให้เราเรียนรู้ได้ไม่มีวันหมด ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนแสวงหา ความรู้ใหม่ๆ และสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ” ศ.ดร.เอียน กล่าว
นางฮอลลี่ เดออาร์มอนด์ กรรมการบริหาร GCEC กล่าวว่า ปัจจุบัน GCEC มีสมาชิก 650 คน จากกว่า 360 สถาบันทั่วโลก เร่งขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมถือเป็นสิ่งสำคัญต่อกลยุทธ์การเติบโต
“การประชุมครั้งนี้ช่วยเพิ่มความรู้ และรู้จักตลาดใหม่ๆ รู้สึกประทับใจกรุงเทพฯ ในฐานะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ถือเป็นเมืองมีชีวิตชีวางดงามด้วยวัฒนธรรม และน่ารื่นรมย์ด้วยอาหารเลิศรส สร้างความประทับใจให้ผู้ร่วมงาน” นางฮอลลี่ กล่าว
ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รักษาการ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ใจกลางของความเป็นจุฬาลงกรณ์คือความเปิดกว้าง มีต้นกำเนิดจากวิสัยทัศน์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านการศึกษาที่เท่าเทียม
...
“ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของการค้า และความหลากหลายอันเป็นหัวใจของผู้ประกอบการอีกด้วย” ศ.ดร.ปาริชาติ กล่าว
งานนี้ประสบความสำเร็จ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นให้ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน ก้าวข้ามความท้าทาย และขยายโอกาสสร้างเครือข่าย
ถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง สร้างผู้นำ และผู้ประกอบการแห่งอนาคต ให้เติบโตก้าวหน้าไปด้วยกัน.
...
สุวัฒน์ พุฒิสกุลวงศ์ รายงาน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่