ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยดูงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ประเทศจีน ทำให้สังคมตั้งคำถามกับความเป็นกลางของ กมธ.ชุดนี้ที่มีการไปประชุมกับหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทบุหรี่ และมีความกังวลว่าจะนำข้อมูลที่เครือข่ายบริษัทบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาพิจารณาเป็นข้ออ้างเพื่อนำมายกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่น การกล่าวอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งไม่มีการอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ หากคณะกรรมาธิการฯหลงเชื่อและเอาข้อมูลนี้มาอ้างเพื่อยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยคงเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะงานวิจัยใหม่ๆที่เพิ่งตีพิมพ์ใน the New England Journal of Medicine วารสารทางการแพทย์อันดับต้นๆของโลก ซึ่งมีการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงตุลาคม พ.ศ.2566 รวม 107 งานวิจัย ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายไม่น้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะอันตรายต่อปอดและหัวใจ ทั้งยังพบว่าฤทธิ์การเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าน่ากลัวกว่าบุหรี่ธรรมดาโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เพราะมีปริมาณนิโคตินที่สูงกว่าและเสพติดง่ายกว่า
ผศ.ดร.ทพ.ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่คณะกรรมาธิการฯไปดูงานล้วนแต่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ร่วมกับธุรกิจบุหรี่ทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐบาล รัฐสภา และกรรมาธิการฯ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องนี้เพราะนักวิชาการและสังคมกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด.
...
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่