หากเอ่ยถึงความสุข ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเป้าหมายสำคัญที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองหา แต่อย่างไรก็ตามสำหรับชีวิตที่ยั่งยืน สิ่งที่อาจจะสำคัญกว่านั้นคือในเรื่องของ “สุขภาวะ” ซึ่งคำๆ นี้มีความหมายที่ครอบคลุมยิ่งกว่า กล่าวคือการมีสุขภาวะที่ดีนั้นหมายถึงการมีความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงทัศนคติ และมุมมองชีวิต ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีงาม มั่นคง และยั่งยืน ก็คือหนึ่งในภารกิจหลักของ “สสส.” หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ไม่เคยที่จะหยุดยั้งความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และสร้างสรรค์สุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนคนไทยในทุกระดับ

การขับเคลื่อนของ สสส. ไม่ได้มีเพียงการถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจผ่านสื่อต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงการลงพื้นที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง และจริงจังผ่านการผนึกกำลังร่วมกับ “ภาคีเครือข่าย” โดยการดึงภาคชุมชน และท้องถิ่นเข้ามาเป็นหนึ่งในพลังสำคัญ พร้อมทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และใกล้ชิด เพื่อถ่ายทอดกิจกรรมดีๆ และแนวคิดที่มีคุณค่าต่างๆ จากทาง สสส. ไปสู่คนไทยในทุกพื้นที่ ซึ่งผลสัมฤทธิ์แห่งการลงมือทำ ตลอดจนนวัตกรรม และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดี จะถูกนำมาบอกเล่าในเวทีสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

โดยในปี พ.ศ. 2567 เวทีสุขภาวะระดับชาตินี้ได้เบิกม่านขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ด้วยความร่วมมือระหว่าง สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้วาระ “ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมมากถึง 5,725 คน ประกอบด้วยชุมชนต่างๆ ทั่วไทยที่มาร่วมออกบูธนำเสนอไอเดียต่างๆ รวมไปถึงผู้ที่ร่วมชมงานครั้งนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของเวทีสุขภาวะระดับชาติแห่งนี้ และยังสะท้อนชัดถึงการผนึกกำลังที่แข็งแกร่งตั้งแต่รากฐานอย่างแท้จริง

“พลังท้องถิ่น” พลังยิ่งใหญ่ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศ

เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ : ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” นับเป็นปีที่ 13 ของการจัดงาน ซึ่งเวทีแห่งนี้นับเป็นเวทีแห่งการแสดงพลังและศักยภาพในการพัฒนาของเหล่านักขับเคลื่อนในชุมชน ผ่านการทำงานโดยมีท้องถิ่นเป็นฐานในการจัดการกับสุขภาวะชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของงานครั้งนี้ไว้ว่า “ปัจจุบันเรากำลังรบอยู่ในสมรภูมิสุขภาพ ในสงครามโรคสามยุคนะครับ ยุคที่หนึ่ง คือโรคติดเชื้อ ซึ่งเรารบชนะได้แล้วโดยการที่ใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ แต่สงครามโรคยุคที่สองนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากกว่า เพราะเป็นโรคจากพฤติกรรม ทั้งเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากศัตรูที่ร้ายที่สุดก็คือจิตใจของเราเองครับที่แพ้ความหวาน ความมัน ความเค็ม”

“สงครามครั้งนี้ การใช้ระบบบริการ ใช้กระบวนการต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถชนะได้ครับ ยิ่งสงครามโรคยุคที่สาม ยิ่งน่ากลัวกว่าเพราะมันคือโรคที่เกิดจากสังคมป่วย หรือที่เรียกว่า Social Pathology หมายความว่าสังคมเองกระตุ้นเร่งเร้าระบบทุนนิยมด้วยการตลาดให้มีการบริโภคมากขึ้น อาทิ สินค้าที่เป็นสิ่งเสพติด สุรา บุหรี่ไฟฟ้า สารเสพติดต่างๆ เหล่านี้มีการตลาดที่ทำให้แพร่หลายมากขึ้น มีการเข้าถึงเยาวชนมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ชุมชนและท้องถิ่นจำเป็นจะต้องรวมพลังในการแก้ปัญหา เพราะบุคลากรทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถแก้ไขสิ่งนี้ได้ แต่จะเป็นเรื่องของการรวมพลัง โดยมีทางภาคราชการเป็นทัพนำ และภาคชุมชนและภาคท้องถิ่นเป็นทัพหนุน เพื่อเข้าต่อสู้ในสมรภูมิที่ยากและซับซ้อนในครั้งนี้”

คำกล่าวของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เรียกได้ว่าชัดเจน และทรงพลัง ชวนให้เห็นภาพว่าเหตุใดพลังจากชุมชนและท้องถิ่นจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาจากฐานราก เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างทั่วถึง โดยนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าเป้าหมายของงานวันนี้มีความมุ่งหมายหลักที่จะเชิญชวนให้ชุมชนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นำไปสู่การสานพลัง สร้างความตระหนักรู้ ขยายผลแนวคิดต่างๆ ต่อไป โดย สสส. เองได้มีการมุ่งเน้นใน 6 ปัจจัยสำคัญเพื่อการพัฒนาเหล่าผู้ขับเคลื่อนในท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย

1. ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทักษะ และความสามารถในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

2. กลไกขับเคลื่อนที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุนทางสังคม สรุปบทเรียน และสร้างการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนเอง และเครือข่าย

3. นโยบายสาธารณะ และมาตรการทางสังคมโดยชุมชนท้องถิ่น

4. แนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและมีคุณภาพ

5. ระบบข้อมูลและเครื่องมือทางวิชาการที่มีคุณภาพ ไวต่อการนำไปใช้ในการทำงาน

6. ระบบบริการสาธารณะและบริการอื่นโดยชุมชนท้องถิ่น

ประสบการณ์จากการลงมือทำ สู่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นผล

นอกจากนี้ ภายในช่วงเช้าของวันที่ 3 กรกฎาคม ยังได้มีการเปิดมุมเสวนาพิเศษ เชิญคณะทำงานท้องถิ่นที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการแก้ปัญหาชุมชนในจังหวัดต่างๆ จาก 4 ภาคทั่วไทยมาร่วมเผยแนวคิดที่น่าสนใจและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังลงมือทำ ภายใต้หัวข้อเสวนา “อัตลักษณ์การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ”

คณะทำงานท้องถิ่นท่านแรกได้แก่ ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่นำเรื่องราวจากภาคเหนือมาบอกเล่า โดยได้กล่าวว่า เชียงรายเองเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องของขยะ น้ำเสีย สิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้ต้องเกิดจากการสร้างภาคีเครือข่ายขึ้นมา พร้อมดึงให้ผู้คนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ให้ประชาชนสร้างมุมมองในการปรับปรุง จากนั้นส่วนปกครองท้องถิ่นจึงนำมาทำเป็นแผน ในส่วนของข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ก็ได้มีการเชิญชวนกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มาร่วมรับทราบปัญหาและปรับแผนไปด้วยกัน ทำให้เราค่อยๆ ขับเคลื่อนไปตามแนวทางที่วางไว้ได้ทีละนิด

โดยสิ่งแรกๆ ที่เชียงรายให้ความสำคัญคือเรื่องของการศึกษา เหตุเพราะมองว่าถ้าเมืองจะยั่งยืนได้คนก็ต้องมีการศึกษา และการสร้างเยาวชนมาให้มีการศึกษาจะทำให้เกิดการคิดอย่างต่อเนื่อง ถัดมาคือการมุ่งเน้นในเรื่องอาหารปลอดภัย ทำให้คนไม่ป่วย ซึ่งจะช่วยทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความกังวลในเรื่องภาระต่างๆ ต่อมาคือการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่นการสร้างสวนสาธารณะริมน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมรองรับสังคมสูงวัยโดยจัดให้ผู้สูงอายุมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้เกิดสังคมเมืองที่ยั่งยืน และมีความสุข

ท่านที่สองได้แก่ ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองทายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งร่วมแบ่งปันเรื่องราวว่าเมืองร้อยเอ็ดนั้นเริ่มต้นจากการไม่รู้อะไรเลย จนมาถึงปัจจุบันที่พร้อมลงมือทำในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ เยาวชน เศรษฐกิจ ห่วงโซ่อาหาร และสุขภาพ โดยมีหัวใจหลักในการพัฒนาคือการ “รับฟัง” และ “เติมเต็ม” โดยนำเอาแนวทางการทำงานของสสส.ที่ “คิดจากข้างล่างขึ้นบน” มาปรับใช้

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของการมีเด็กๆ ที่เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม (Extreme) เข้าไปใช้งานพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ทางด้านของ ดร.นุชากร ก็มีการเข้าพูดคุยกับเด็กๆ และพบว่าปัญหาคือไม่ว่าจะจุดไหนของเมืองก็ไม่สามารถเข้าไปเล่นได้ จึงได้มีการดำเนินการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับใช้เล่นกีฬาชนิดนี้โดยเฉพาะ และยังมีการใส่เงินสมทบเข้าไป ล่าสุดพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นสนามเอ็กซ์ตรีม (Extreme) ของจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนั้นยังมีในกรณีของเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบ ซึ่งจากสถิติในปีล่าสุดพบว่าทั่วประเทศมีมากกว่าล้านคน โดยทางจังหวัดร้อยเอ็ดก็ได้มีการดำเนินงานร่วมกับ สสส. เพื่อพาพวกเขาไปเรียนในที่ๆ ไม่ใช่โรงเรียน พาไปฝึกอาชีพ ไปสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพ ปัจจุบันเด็กๆ หลายคนเติบโตจนสามารถมีร้านเสริมสวยหรือร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ของตนเอง ซึ่งร้อยเอ็ดเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคือการคิดใหม่ทำใหม่ อีกทั้งต้องเชื่อมั่นว่าผู้บริหารท้องถิ่นที่ดีที่สุดก็คือชุมชน โดยมี สสส. เข้าไปช่วยส่งเสริม

ทางด้าน นายประชุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร ได้เล่าเพิ่มเติมว่า การทำงานร่วมกับ สสส. มันเหมือนทำให้ทุกอย่างที่เคยผิดพลาดไปถูกทางมากขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ตรงๆ เลยคือผู้สูงอายุและเยาวชน ซึ่งเรามีการทำกลุ่มกิจกรรมกับผู้สูงอายุแบบสังคมบำบัด ทั้งออกกำลังกาย พบปะสังสรรค์ ในส่วนของผู้เปราะบางหรือผู้ป่วยติดเตียงที่มาไม่ได้ เราก็มีการจัดกลุ่มผู้สูงอายุไปพูดคุย ซึ่งมันเป็นน้ำหยดนึงที่ไปชโลมใจพวกเขา

นอกจากนี้อีกหนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาคือ ก่อนหน้านี้ชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์นับว่าเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เต็มไปด้วยยาเสพติด ไม่มีใครเอาอยู่ เหตุนี้จึงต้องมีการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ โดยการ “เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้คิด” ให้เขาเสนอไอเดียว่าอยากทำอะไร เช่นปัจจุบันเด็กๆ มีการเสนอทำจุดเช็กอิน รวมถึงสนใจการเพ้นท์กำแพงเพื่อสร้างเอกลักษณ์ชุมชน เราก็จะมีการประสานงานเรื่องการหาพื้นที่และหาอุปกรณ์มาให้ เหล่านี้ทำให้เด็กๆ มีโอกาสห่างไกลยาเสพติด โดยเราเองก็จะเสริมด้วยการเข้าไปให้ข้อมูลต่างๆ มีการชวนกลุ่มเยาวชนเข้ามาร่วมเรียนรู้ บอกถึงภัยอันตรายทั้งต่อครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ เป็นต้น

อีกหนึ่งชุมชนภาคกลางที่มาร่วมแลกเปลี่ยนคือ เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายประภัสสร ผลวงษ์ ผู้อำนายการกองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ได้เสนอประเด็นน่าสนใจว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้จังหวัดพัฒนาคือการนำเรื่อง “คน-กลไก-ข้อมูล” มาปรับใช้อย่างจริงจัง

นายประภัสสร ผลวงษ์ อธิบายให้ฟังว่าแต่เดิมเทศบาลสุพรรณบุรีมีข้อติดขัดเยอะมาก ภาพในหัวเรื่องการบริหารของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน บุคลากรของท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่ที่ยึดติดกับทัศนคติเดิมๆ ความรู้เดิมๆ ไม่เพียงเท่านั้นกฎระเบียบต่างๆ และเรื่องของงบประมาณก็มีผลต่อการสร้างสุขภาวะชุมชนอย่างไรก็ตามพอเราเริ่มเรียนรู้กระบวนการของ สสส. มันก็พาเราเดินหน้าไปทีละนิด จนทำให้เราเข้าใจคำว่า คน-กลไก-ข้อมูล ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นหัวใจสำคัญทำให้สุพรรณบุรีมองเห็นภาพของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ พร้อมเห็นแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน และยังทำให้เห็นภาพร่วมกันระหว่างคนทำงาน ซึ่งปัจจุบันสุพรรณบุรีเก็บข้อมูลภายใต้วิธีการ คน-กลไก-ข้อมูล ได้ 40% และหวังจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย 80%

สุดท้ายกับคณะทำงานท้องถิ่นจากภาคใต้ นางเยาลักษณ์ บุญตามชู นักวิชาการสาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของเมืองใหญ่ที่มีความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนครหาดใหญ่มีประชากรประมาณ 300,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มาก แม้จะสอดคล้องกับศักยภาพของตัวเมืองแต่ก็นำไปสู่ปัญหาหลายๆ อย่างดังเช่นที่เมืองใหญ่หลายๆ เมืองพบ

เหตุนี้สิ่งที่หาดใหญ่มุ่งเน้นจึงเป็นในเรื่องของการ “พัฒนาคณะทำงาน” เพื่อให้มีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนเมืองให้บรรลุเป้าความเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนานี้ครอบคลุมในหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะฝ่ายบริหาร สาธารณสุข หรือแม้แต่ช่างฝีมือต่างๆ โดยมีการร่วมมือกับหน่วยงานมากมายไม่ว่าจะ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาต่างๆ และกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุดในพื้นที่ก็คือชุมชนทั้ง 103 ชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นศักยภาพของหาดใหญ่ในการรวมพลังที่จะพัฒนานครหาดใหญ่ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดนี้จะยึดโยงกับข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการเติบโตที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปต่อไปยอดได้ในอนาคต

เพียงแค่แง่มุมความมุ่งมั่นของ สสส.จากการกล่าวเปิดงานโดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ และเรื่องราวการพัฒนาอย่างเห็นผลจากคณะทำงานทั้ง 5 ท่านก็เรียกได้ว่าอัดแน่นไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจมากมาย และชวนให้นำไปปรับใช้เพื่อต่อยอดพัฒนาชุมชนของทุกๆ คน โดยสิ่งนี้ก็นับว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ของงานอย่างยิ่งที่มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมมองหาจุดที่ยังสามารถปรับปรุงได้ร่วมกัน ซึ่งจากพลังของภาคีเครือข่ายกว่า 5,000 คนก็ทำให้สามารถคาดหวังได้เป็นอย่างยิ่งถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดอีกมากมายในอนาคต

สำหรับเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ: ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ นอกจากจะมีกิจกรรมดีๆ ณ เวทีหลักในห้อง Grand Diamond Ballroom แล้ว ภายในพื้นที่ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ก็ยังมีบูธกิจกรรมสนุกๆ และบูธไอเดียเด็ดๆ ที่พลาดไม่ได้จากเหล่าภาคีเครือข่ายที่นำมาร่วมแบ่งปันตลอดช่วงเวลาของวันงานตั้งแต่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเชื่อมั่นได้เลยว่าภาคีเครือข่ายทุกท่านที่เข้าร่วมงานครั้งนี้จะได้รับทั้งมุมมองที่สร้างสรรค์ แรงบันดาลใจใหม่ๆ และพลังบวกอันยิ่งใหญ่ จากเหล่าสมาชิกทุกคนที่มาร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมนำพลังเหล่านี้กลับไปยังชุมชนของตนเพื่อต่อยอดสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะให้เบ่งบาน จากจุดเล็กๆ สู่การเป็นหนึ่งพลังร่วมแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืน