แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2024) ที่กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพจัดทำอยู่ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศ จึงเกิดข้อถกเถียงในวงกว้างหลายประเด็น นักวิชาการโลกสวย นักการเมืองที่จ้องหาคะแนนเสียง มักออกมาวาดภาพสวยหรูถึงการผลิตไฟฟ้าที่ดีพร้อมทุกอย่าง ราคาถูก พลังงานสะอาด และระบบไฟฟ้ามั่นคง ไม่เกิดปัญหาไฟดับเป็นวงกว้าง (แบล็กเอาต์) แต่ในโลกความเป็นจริงสามารถเนรมิตไฟฟ้าถูก ไฟฟ้าสะอาด ไฟฟ้ามั่นคง พร้อมกันได้ปุบปับอย่างนั้นหรือ

การมุ่งไปที่ไฟฟ้าราคาถูกเพียงอย่างเดียว ในทางปฏิบัติไม่อาจตอบโจทย์เรื่องของไฟฟ้าสะอาดและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้ ยกตัวอย่างเวียดนาม ประเทศยอดฮิตที่คนพูดความจริงครึ่งเดียวมักหยิบมาเปรียบเทียบกับไทย ค่าไฟต่อหน่วยของเวียดนามราคาถูกกว่าไทยจริง แต่ทุกวันนี้เวียดนามยังมีปัญหาไฟฟ้าติดๆดับๆ ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมไม่พอใช้ รุนแรงถึงขั้นต้องดับไฟเวียนกันไปในแต่ละเมือง สาเหตุจากความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ทัน เพราะขาดการวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่ดีพอ

วิกฤติไฟดับซ้ำซากทำให้นักลงทุนหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ จนขาดความเชื่อมั่น และฉุดรั้งเศรษฐกิจเวียดนามให้หยุดชะงัก รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจอาเซียน ระบุว่า ปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยหรือเรียกว่าไฟฟ้าไม่มีความเสถียร ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเสียหายกว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบเท่า 0.3% ของจีดีพี แม้ว่าเวียดนามมีค่าไฟฟ้าราคาถูก แต่ปัญหาไฟดับบ่อยทำให้นักลงทุนต่างชาติจำนวนไม่น้อยตัดสินใจชะลอการลงทุนออกไปก่อน

ส่วนเรื่องไฟฟ้าสะอาดที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม เพื่อเป็นจุดแข็งดึงการลงทุนจากต่างชาติ ก็เป็นไปตามเทรนด์โลก ทุกประเทศล้วนหาทางเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน แต่ถ้าเพิ่มในสัดส่วนที่มากเกินไป จะกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า เพราะต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่มาก หากลมไม่พัด แดดแรงไม่พอ มีโอกาสเกิดไฟดับไฟตก

...

อีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลเริ่มโยนหินถามทางคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นไฟฟ้าราคาถูกมากและสะอาด เทปแรกของรายการ “คุยกับเศรษฐา” เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ยังพูดเปรยในรายการว่า “มีผู้บ่นเรื่องค่าไฟแพง ในขณะที่ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ โดยทุกคนอยากได้หมด แต่อย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นแล้วกัน...” แปลว่าถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริง จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่ยอมให้มาตั้งใกล้บ้านตัวเองแน่

ระบบไฟฟ้าที่มีความพร้อมและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ยังคงต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นแบ็กอัปสำคัญเมื่อพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในบางช่วงเวลา

สำหรับประเด็นปริมาณสำรองไฟฟ้าควรมีมากหรือน้อยถึงจะเหมาะสมนั้น รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ผอ.สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับสำนักข่าว บีบีซี ไทย ว่า “ต้องถามว่าคำว่าล้นเกินเขาวัดจากอะไร เพราะการบอกว่าไฟฟ้ามีเยอะเกิน มีน้อยเกิน ตรงนี้จับต้องได้ยากและเป็นดุลพินิจส่วนใหญ่”

รศ.ดร.กุลยศอธิบายว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามามากขึ้น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เราควบคุมบังคับอะไรไม่ได้เลย ตามแผน PDP ที่ทำอยู่ เมื่อคำนวณดูในปี 2579 กำลังไฟฟ้าสำรองอาจสูงถึง 51.64% แต่นั่นเป็นตัวเลขช่วงกลางวัน เพราะถ้ามาพิจารณาความเสี่ยงอื่นๆจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้แล้วนั้น ตัวเลขอัตราไฟฟ้าสำรองในช่วงกลางคืนจะลงมาเหลือแค่ 18.57% เท่านั้น ทุกวันนี้ไฟฟ้าล้นเกิน 30-40% เราก็บ่นแล้ว แต่เอาจริงๆมันหลอกตา แล้วตอนกลางคืนจะทำยังไง ลองคำนวณดูไฟฟ้าล้นเกินตอนกลางคืน บางปีเช่น ปี 2573 เหลือแค่ 9% ซึ่งไม่เยอะ

ไฟฟ้าของไทยตอนนี้แม้ไม่ได้ถูกที่สุด สะอาดที่สุด แต่ตอบโจทย์ในแง่ความมั่นคงได้ ในราคาที่เหมาะสม และเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

อนาคตพลังงานไทยจะไปทิศทางใด อยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนจะต้องเปิดรับฟังข้อมูลรอบด้าน อย่าให้โดนชักจูงจากข้อมูลด้านเดียว เพราะไม่มีทางเลือกใดที่สมบูรณ์แบบ การปรับเปลี่ยนต้องอาศัยเวลา และการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม