เมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี้เอง สำนักข่าวออนไลน์ทุกสำนักพร้อมใจกันเสนอข่าวว่า “ขสมก.ประกาศหยุดเดินรถเมล์ 14 เส้นทาง ตั้งแต่ วันที่ 25 กรกฎาคมนี้...ส่งต่อให้บริษัทเอกชนเดินแทนตามแผนปฏิรูปรถเมล์”

เห็นหมายเลขต่างๆที่จะต้องยกเลิกคราวนี้แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกรู้สึกใจหายวาบ แม้ไม่ถึงกับร้องไห้แต่ก็เกือบไป...เพราะหลายๆ สายเป็นรถเมล์ที่รับใช้ผู้คนในกรุงเทพมหานครมานานมากอาจจะเกิน 70-80 ปีเสียด้วยซ้ำ เพราะหัวหน้าทีมเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2501 หรือ 66 ปีที่แล้วก็เห็นรถเมล์สายดังกล่าวออกวิ่งรับใช้ประชาชนอยู่ก่อนแล้ว

ขอบันทึกไว้ให้ครบทุกสายนะครับเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ทั้ง 14 สาย ผู้มีพระคุณเหลือล้นแก่คนรายได้ปานกลางลงไปจนถึงคนมีรายได้น้อย และนักเรียนนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า น่าจะหลายๆล้านคนเมื่อนับรวมกัน

ได้แก่ สาย 1 (ถนนตก-ท่าเตียน), สาย 2 (สำโรง-ปากคลองตลาด), สาย 4 (คลองเตย- ภาษีเจริญ), สาย 11 (ประเวศ-มาบุญครอง), สาย 12 (ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด), สาย 25 (อู่แพรกษา-ท่าช้าง), สาย 71 (สวนสยาม-วัดธาตุทอง), สาย 77 (สาธุประดิษฐ์-หมอชิต), สาย 80 ก. (หมู่บ้าน วปอ.11-เขตบางกอกใหญ่)

สาย 82 (ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู), สาย 84 (อ้อมใหญ่-คลองสาน), สาย 88 (วัดคลองสวน-ลาดหญ้า), สาย 165 (พุทธมณฑลสาย 3-เขตบางกอกใหญ่) และสาย 515 (เซ็นทรัลศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)

โดยส่วนตัว...หัวหน้าทีมซอกแซกมีความหลังมีความผูกพันกับรถเมล์เกือบทุกสาย เพราะชอบไปไหนมาไหนด้วยรถเมล์อยู่แล้ว แต่ด้วยเนื้อที่จำกัด ขอรำลึกความหลังแค่ 2 สายก็แล้วกัน ได้แก่

สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน ถือเป็นสายประวัติศาสตร์และน่าจะอยู่คู่เคียงกรุงเทพมหานครมานานกว่า 70 ปีแน่นอน แต่เดิมผู้ประมูลได้ได้แก่ องค์การคลังสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เรามักเรียกกันว่า “รถเมล์ ร.ส.พ.” เป็นรถสีฟ้าขนาดทะมัดทะแมง ดูภูมิฐานกว่าสายอื่นๆ

...

รถเมล์สาย 1 จะออกจาก ท่าเตียน มาผ่านสนามหลวง ผ่านท่าช้างแล้วไปออกวังบูรพาเข้าถนนเจริญกรุง วิ่งๆไปผ่านสี่พระยาผ่านบางรักไปสุดทางที่ถนนตก...จากนั้นก็วิ่งจากถนนตกย้อนกลับมาตามทางเดิมแต่พอถึงเฉลิมบุรีจะเข้าถนนเยาวราชไปออกวังบูรพาแล้วก็ไปท่าช้าง ไปสนามหลวงไปท่าเตียน ตามลำดับ

เป็นรถที่แน่นมากถึงขั้นยืนโหนออกมานอกประตูรถในช่วงเช้าๆเย็นๆ เป็นภาพที่เห็นเป็นปกติ...สำหรับหัวหน้าทีมซอกแซกมีความผูกพันในฐานะ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ร่ำเรียนนั้นอยู่ติดกับสนามหลวง เดินมาขึ้นรถสาย 1 เข้าเมืองได้ง่าย โดยเฉพาะย่านวังบูรพา ย่านเจริญกรุง เยาวราชยุคโน้น เป็นย่านบันเทิงเริงรมย์ของคนหนุ่มสาว ทำ ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ (ชาย) กลุ่มหนึ่งที่ชอบไปแสวงหา ความรู้เพิ่มเติมย่านวังบูรพาและย่านเยาวราช ต้องมาใช้บริการเบอร์ 1 บ่อยครั้ง

สาย 25 (อู่แพรกษา-ท่าช้าง) ถือเป็นสายที่หัวหน้าทีมซอกแซกมีความหลังและความทรงจำมากที่สุด เพราะเป็นรถเมล์สายแรกก็ว่าได้ที่ใช้ บริการเป็นประจำเมื่อเดินทางมาเรียนหนังสือในกรุง ตั้งแต่ชั้นเตรียมอุดม เมื่อ พ.ศ.2501 ดังกล่าว

แต่เดิม รถเมล์สาย 25 มีชื่อเรียกขานเป็นที่รู้จักอย่างดียิ่งว่าสาย “ปากน้ำ-ท่าช้าง” เพราะต้นทางปลายทางจะอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของ ปากน้ำ หรือ สมุทรปราการ แล้วก็วิ่งเรื่อยๆ เข้ากรุงมาจนถึง ท่าช้าง วังหลวง ที่เป็นที่ตั้งของสโมสรทหารเรือ และในทางกลับกันก็จะออกวิ่งจาก ท่าช้าง วังหลวงไปสิ้นสุดที่ปากน้ำ

ผ่านจุดสำคัญๆ เช่น เจริญกรุง, เยาวราช หัวลำโพง, สามย่าน, สี่แยกปทุมวัน, ราชประสงค์, สุขุมวิท, ไปจนถึงพระโขนง และบางนา ฯลฯ

เหตุการณ์ที่หัวหน้าทีมยังจำได้ติดตา สำหรับรถเมล์สายนี้ก็คือ วันเดินทางจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มาเปิดติวพิเศษช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไปสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งปิดตลาดวิชาเป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ.2503 ที่หัวหน้าทีมจบเตรียมอุดมพอดิบพอดี

กลุ่มนักเรียนเตรียมอุดมซึ่งมุ่งมั่นไปสอบเข้าธรรมศาสตร์ เพราะอยากเรียนวิชากฎหมายหรือ นิติ ศาสตร์ ซึ่งยุคนั้นมีเพียงมหาวิทยาลัยเดียวเท่านั้นที่เปิดสอน ได้นัดแนะมารวมตัวกันกว่า 20 คน ที่ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนเตรียมอุดม ถนนพญาไท ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายน

เพื่อที่จะขึ้นรถเมล์สาย 25 ไปลงท่าช้าง แล้ว เดินเท้าต่ออีกเล็กน้อยไปยังมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ที่ตั้งอยู่ ณ ท่าพระจันทร์...เนื่องเพราะ รถเมล์สาย 25 เป็นสายเดียวเท่านั้นที่จะนำพาพวกเราที่ยืนอยู่ ณ ถนนพญาไทไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้

ที่ประตูท่าพระจันทร์นั้นเองหัวหน้าทีมเจอเพื่อนรุ่นพี่จากนครสวรรค์โดยบังเอิญ ได้พูดคุยอะไรกันบางอย่างจึงเปลี่ยนใจไปสอบเข้าคณะ เศรษฐศาสตร์ แทนนิติศาสตร์และเป็นคนเดียวของกลุ่มเพื่อน 20 กว่าคนดังกล่าว

จากนั้นก็ได้ร่ำเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบ และได้อาศัยวิชาที่ร่ำเรียนมาไปประกอบอาชีพและเลี้ยงชีพ มาได้จนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น เมื่อเจอข่าวว่ารถเมล์สาย 25 จะถูกปิดไปกับเขาด้วย จึงรู้สึกใจหายเป็นที่สุด...

เสียดายที่ไม่มีเนื้อที่พอที่จะรำลึกถึง “พระคุณ” ของรถเมล์สายอื่นๆ ที่มีต่อพวกเราเด็กต่างจังหวัดได้มากกว่านี้ก็เอาเป็นว่า ขอขอบคุณไปพร้อมๆกัน ณ ที่นี้ทุกๆสาย รวมทั้งสายที่ยุบไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย

ทั้งขอบคุณทั้งอาลัย...ไปดีมาดี... ทุกๆสายนะครับ...ขสมก.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม

...