"สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ" เดินเครื่องเต็มที่ หนุน "อาหารไทย" จุดแข็ง ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายรัฐบาล จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม ตามโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย
วันที่ 4 ก.ค. นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะรองประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารว่า อาหารเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ตามนโยบายของรัฐบาล จากเสน่ห์ตั้งแต่หน้าตา ไปจนถึงรสชาติ วัตถุดิบที่ใช้ปรุง ที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์พื้นถิ่น ที่มีความหลากหลาย และเป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จนถึงขั้นเดินทางมาประเทศไทยเพื่อชิม และเรียนทำอาหารไทย
...
ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร ซึ่งมีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม ตามโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ให้กับผู้ที่สนใจเป็นเชฟอาหารไทย สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ ผ่านหลักสูตรอาหารที่คณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารร่วมกันจัดทำขึ้น และผ่านการอบรมระยะเวลารวม 240 ชั่วโมง แบ่งเป็นทฤษฎีออนไลน์ 72 ชั่วโมง ปฏิบัติในพื้นที่อีก 168 ชั่วโมง ทุกคนต้องผ่านการวัดและประเมินผล มีผลคะแนนทฤษฎีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานอาชีพ ผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 4 ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 ผ่านการอบรมและทดสอบผู้สัมผัสอาหาร หรือผู้ประกอบกิจการอาหาร จากกรมอนามัย และสถาบันอาหาร
โดยโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ตั้งเป้าปีแรกสร้างเชฟ 6,500 คน และทั้งโครงการซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารจะสร้างอาชีพให้คนไทยที่สนใจเป็นเชฟอาหารไทยได้มากกว่า 100,000 คน ในระยะ 5 ปี รองรับความต้องการของร้านอาหารไทยทั้งใน และต่างประเทศ โดยร้านอาหารไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันประมาณ 20,000 ร้าน คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ร้าน ภายใน 4 ปี เชฟจากโครงการของเราก็จะรองรับการขยายตัวของร้านอาหารไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นผลิตผลจาก 75,086 หมู่บ้านในประเทศไทย ที่จะมีเชฟอาหารไทยมืออาชีพ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่เฉิดฉาย พร้อมถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่น ชุมชนผ่านเรื่องราวในอาหารไทย
นางสาววรชนาธิป ยังกล่าวว่าการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่องจะส่งผลไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะได้รับประโยชน์ทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เช่น ด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออก สินค้าการเกษตร ธุรกิจเครื่องปรุงรส ผลิตอาหาร ลงไปจนถึงร้านอาหารท้องถิ่น โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจาก 1.16 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 1.65 ล้านล้านบาท ในปี 2567
...