สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จัดการประเมินเพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพนักเขียน ครั้งแรกของไทย 1 ใน 11 อุตสาหกรรม ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ด้วยวิธีการเทียบโอนประสบการณ์ มีผู้ร่วมรับประเมิน 7 ราย

วันที่ 2 ก.ค. 2567 นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่านักเขียนเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ ซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ คนในอาชีพ จัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ อาชีพนักเขียน ซึ่งเป็นการส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของคนไทยที่มีความสนใจด้านการเขียนไปสู่การเป็นนักเขียนที่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากการคาดการณ์โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นักเขียนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยหมุนเวียนขั้นต่ำ 330,000 บาทต่อเรื่อง หากมีการพัฒนาสร้างนักเขียนไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 คน คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมหนังสือ ไม่น้อยกว่า 42.9 ล้านบาท/ปี ประกอบกับปัจจุบันนักเขียนในประเทศไทยมาจากคนหลากหลายอาชีพ อาทิ สูติ-นรีแพทย์ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่มีทักษะการเขียน บางรายผันตัวเองมาเป็นนักเขียนที่สร้างรายได้หลัก บางรายเป็นนักเขียนอิสระเป็นอาชีพเสริม แต่ที่ผ่านมาไม่มีการรับรองมาตรฐานอาชีพนักเขียนมาก่อน ครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพให้กับวงการนักเขียนในบ้านเรา พัฒนานักเขียนเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังสืออย่างมีคุณภาพ

...

นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียน ในฐานะบรรณาธิการและนักเขียนนิตยสารสกุลไทย อีกหนึ่งตำนานนิตยสารชื่อดังของไทย บอกภายหลังการเข้ารับประเมินอาชีพนักเขียน ระดับ 6 ว่าต้องการยกระดับวิชาชีพนักเขียนของตนเอง แม้จะมีประสบการณ์การเป็นนักเขียนมากว่า 10 ปี มีผลงาน บทความ และงานเขียนอื่นๆ สะสมไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยได้การรับรองอาชีพมาก่อน การประเมินเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพจึงเป็นการยกระดับอาชีพนักเขียนให้ตัวเอง เป็นการการันตีระดับความสามารถของนักเขียน ซึ่งเป็นประโยชน์กับนักเขียนให้สามารถขยายงานต่อไปได้ในอนาคต

ด้านนายอมรศักดิ์ ศรีสุขกลาง ผู้จัดการศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังเป็นนักร้อง นักเขียนอิสระ ได้เข้ารับการประเมินฯ นักเขียน ระดับ 5 บอกว่า การรับรองมาตรฐานอาชีพนักเขียนเป็นเรื่องสำคัญที่นักเขียนสามารถนำไปต่อยอดในวิชาชีพได้ โดยเฉพาะการว่าจ้างงานเขียนประเภทที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ รวมถึงใช้ยื่นประกอบการจ้างงาน ทำให้นักเขียนสามารถยกระดับรายได้จากงานเขียนที่ได้รับการันตีคุณภาพ ผู้ว่าจ้างก็จะมีความเชื่อมั่นด้วยเช่นกัน จึงอยากเชิญชวนนักเขียนทั้งที่ทำเป็นอาชีพและเป็นงานอิสระให้เข้ารับการประเมิน โดยใช้ประสบการณ์ ผลงานของตัวเองมาใช้เทียบโอนประสบการณ์เพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ

สำหรับนักเขียนที่สนใจเข้ารับการประเมินสมรรถนะในอาชีพ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) 06-3373-3922