1 กรกฎาคม 2567 ครบรอบ 113 ปีวันคล้ายวันสถาปนา “ลูกเสือแห่งชาติ” ถึงวันนี้กิจการลูกเสือไทยนับว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานถึง 113 ปี องคาพยพ ระบบ ระเบียบในการบริหารจัดการ โดย สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถูกมองว่ามีการทำงานที่ล้าหลังต้องได้รับการสังคายนาครั้งใหญ่
และจากการประชุมสภาลูกเสือไทยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย ได้มอบนโยบายสำคัญให้มีการขับเคลื่อนโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทานอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและ สนับสนุนการจัดตั้งสภาเยาวชนลูกเสือ ภายใต้หลักการ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่สนับสนุน” การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับและทุกประเภท การดูแลรักษาความปลอดภัยในการทำกิจกรรมลูกเสือทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพื่อ “กิจการลูกเสือไทย” มีความทันสมัย ตามคำกล่าวที่ว่า “การลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่” อีกทั้งยังเสนอให้ จัดทำธรรมนูญและนโยบายขับเคลื่อนเพื่อสร้างศรัทธากิจการลูกเสือไทย ปรับภาพลักษณ์องค์กรของกิจการลูกเสือ และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ให้เหมาะสมกับยุคสมัย
...
ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กล่าวว่า ขบวนการลูกเสือ (Scout Movement) หรือการลูกเสือ เป็นการร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อส่งเสริมสนับสนุน และสร้างสรรค์ให้เกิดพลังของเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว ให้มีนิสัยติดตัว คือ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีน้ำใจ ด้วยวิธีการลูกเสือ ซึ่งเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมที่เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจตามช่วงวัย มุ่งพัฒนาฝึกฝน บ่มเพาะให้เด็กเยาวชนมีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะที่ดี สอดคล้องกับยุคสมัย ทันการ และนำไปใช้งานได้จริง เพื่อช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
จากนโยบายต่างๆนี้เองถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่สลช.ต้องนำไปผลักดันและขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรม
“เรื่องเร่งด่วนที่ สลช.จะดำเนินการ คือ เรื่องค่ายลูกเสือ สลช.มีค่ายลูกเสือในการกำกับดูแล จำนวน 4 แห่ง คือ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี, ค่ายลูกเสือเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง, ค่ายลูกเสือรัตรสาร จังหวัดสงขลา และค่ายลูกเสือหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงและยกระดับทั้ง 4 ค่าย ให้อยู่ในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายลูกเสือวชิราวุธ ที่ต้องการผลักดันไปสู่ “Scout City” ซึ่งสาเหตุที่ต้องเร่งปรับปรุงค่ายลูกเสือ เนื่องจากขณะนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ต้องได้รับการพัฒนาทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ และการบริการ หรือแม้แต่เรื่องที่ดินที่เป็นพื้นที่ของค่ายซึ่งมีผู้บุกรุกเข้าไปทำประ โยชน์ จึงมอบหมายให้ส่วนพัฒนาค่ายลูกเสือของ สลช.ลงพื้นที่ไปสำรวจค่ายลูกเสือทั่วประเทศ ทั้งค่ายที่ สลช.ดูแล รวมถึงที่จังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดูแล ว่ามี จำนวนทั้งหมดกี่ค่าย เพื่อจัดงบฯไปปรับปรุงให้ดี” ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สลช. กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบาย
...
ปฏิบัติหน้าที่ เลขาธิการ สลช. กล่าวด้วยว่า สลช.ยังมีการปรับปรุงเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารี ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ต้องการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัย สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทปัจจุบันและลักษณะการใช้งาน เช่น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมผจญภัย กิจกรรมในสถานศึกษา โดยกำหนดเครื่องแบบออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ เครื่องแบบพิธีการ เครื่องแบบปฏิบัติการ และเครื่องแบบลำลอง โดยทั้ง 3 รูปแบบ โรงเรียนสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจของผู้ปกครอง เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง คาดว่าทุกขั้นตอนจะเสร็จสิ้นและประกาศใช้ได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ทั้งนี้ยืนยันว่าการปรับปรุงเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารีในครั้งนี้จะไม่กระทบ หรือเป็นภาระเพิ่มผู้ปกครองอย่างแน่นอน เพราะนักเรียนสามารถเลือกที่จะแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือและเนตรนารีรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดก็ได้ จะไม่มีการบังคับเด็ดขาด
...
“จะมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือและเนตรนารีในโรงเรียนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่น่าเบื่อ เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น โปรแกรมโลกการเงิน โปรแกรมกีฬาอีสปอร์ต โปรแกรมกู้ชีพฉุกเฉินและการปฐมพยาบาล โปรแกรมลูกเสือสิ่งแวดล้อม โปรแกรมโลกดิจิทัลใกล้ตัว เมื่อฝึกอบรมเสร็จจะประเมินผล มีเครื่องหมายแบดจ์ เกียรติบัตรและหนังสือรับรองเพื่อยกย่องชมเชย อีกทั้งประสานความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย โรงเรียนทางการทหาร นำผลการประเมินของลูกเสือไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณารับเข้าศึกษาในระดับสูงขึ้น ที่สำคัญ สลช.จะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของ สลช. มีฐานข้อมูล Bigdata ที่เกี่ยวกับงานลูกเสือ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา” ดร.วรัท กล่าวยืนยันในตอนท้าย
...
ทีมการศึกษา มองว่าสิ่งที่ สลช.ได้ขยับปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในกิจการงานลูกเสือแห่งชาติ จะเป็นการยกเครื่องวงการลูกเสือ-เนตรนารีครั้งสำคัญ เพื่อตอบโจทย์สังคม และเรียกศรัทธากลับคืนมาอีกครั้ง
แต่ความสำเร็จนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก หากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความจริงใจและจริงจังในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
ถึงเวลาสร้าง “ลูกเสือไทยยุคใหม่” เพื่อเป็นพลังสำคัญของชาติอย่างยั่งยืน...
ทีมการศึกษา
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่