ภาวะตับวายเฉียบพลันจากเห็ดพิษ” เป็นปัญหา ที่พบได้ในหลายภูมิภาค เช่น ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย มักพบอุบัติการณ์สูงขึ้นในช่วง “ฤดูฝน” เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเจริญเติบโตของเห็ดในบริเวณต่างๆของประเทศ

พิษ” จาก “เห็ด” บางชนิด เช่น เห็ดระโงกหิน ระงาก หรือตายซาก ทำให้เกิดความรุนแรงของอาการในหลายระดับ ตั้งแต่รุนแรงเพียงเล็กน้อยภาวะตับวายเฉียบพลันจนถึงอาการรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิต ที่สำคัญ “ผู้สูงอายุ” และ “เด็ก” มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง เช่น ภาวะตับวายเฉียบพลันได้มากกว่าวัยอื่นๆ

หากกินเห็ดพิษแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการในช่วงแรกที่ไม่จำเพาะ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้องได้ภายใน 12 ชั่วโมงหลังกิน และมีอาการดังกล่าวนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่มักไม่เกิน 24 ชั่วโมง

บางราย พบภาวะขาดน้ำและเกลือแร่เสียสมดุลได้ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นช่วงสั้นๆ ภายใน 1-3 วัน และผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระยะท้าย ทำให้มีอาการของภาวะตับวายเฉียบพลัน

...

เช่น ตัวเหลือง ซึม ชัก ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไตทำงานผิดปกติ ปัสสาวะออกน้อยลง เหงื่อออกมากกว่าปกติ น้ำลายและน้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะตับวายเฉียบพลันจากเห็ดพิษอาศัยประวัติเป็นสำคัญ โดยควรจำแนกลักษณะของเห็ดที่กินหรือให้นำเห็ดที่เหลือจากการปรุงอาหารมาให้ดู ประวัติอาการของระบบทางเดินอาหาร และควรสังเกตอาการแสดงของภาวะตับวายเฉียบพลันในระยะท้ายของโรค ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง และตับโต

ข้างต้นเหล่านี้เป็นอาการที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ ซึ่งหากเพิ่งกิน “เห็ดพิษ” มา แพทย์อาจทำการล้างพิษในกระเพาะอาหาร

หากผู้ป่วยกินเห็ดและเริ่มมีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดจากพิษของเห็ด ไม่ควรรอให้อาการดีขึ้นเอง ควรรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยมักได้รับ การรักษาไว้ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ

และ...ใช้ยาประกอบการรักษาภาวะพิษจากเห็ด หากมีอาการรุนแรงจนถึงภาวะตับวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา การฟอกเลือด รวมไปถึงการปลูกถ่ายตับ

ดังนั้น “การป้องกันการกินเห็ดพิษ” จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ไม่ควรนำเห็ดที่ไม่ทราบชนิดแน่ชัดมาปรุงอาหาร อีกทั้งเห็ดพิษข้างต้นบางชนิดมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่สามารถกินได้เป็นอย่างมาก ควรใช้ความระมัดระวังในการบริโภคเห็ดที่เก็บมาเอง

น่าสนใจว่าหน้าฝนนี้ “ศูนย์พิษวิทยา” สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ชนิดของเห็ด ซึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้ป่วยรับประทานแล้วเข้าโรงพยาบาล

ส่วนใหญ่ที่ส่งตรวจในช่วงนี้ คือ “เห็ดก้อนฝุ่น” หรือ “เห็ดไข่หงส์” ซึ่งเป็นเห็ดพิษ ที่มีลักษณะคล้ายกับ “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ที่รับประทานได้ ซึ่งลักษณะเห็ดทั้งสองชนิด “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” ที่นิยมรับประทานในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ เห็ดเผาะหนัง และ เห็ดเผาะฝ้าย

พบมาก ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมเห็ดทั้งสองชนิดนี้สามารถคัดแยกด้วยตาเปล่าได้ง่าย แต่ในผู้ที่ไม่ชำนาญหรือไม่ระวัง อาจเก็บเห็ดพิษที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบปนมาด้วย

ย้ำว่า ลักษณะของเห็ดเผาะหนังจะมีผิวเรียบ ดอกเห็ดหนาและแข็ง ส่วนเห็ดเผาะฝ้าย ผิวเรียบมีเส้นใยที่เป็นขุยสีขาวปกคลุม ดอกอ่อนนุ่ม โดยทั้ง 2 ชนิดต้องไม่พบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก

...

ส่วนเห็ดก้อนฝุ่น (เห็ดไข่หงส์) เป็นเห็ดพิษชนิดหนึ่ง ห้ามนำมารับประทาน สังเกตด้วยตาเปล่าจะพบลักษณะคล้ายรากหรือก้านดอก ผิวไม่เรียบคล้ายมีเกล็ดปกคลุม และเมื่อผ่าดอกเห็ดอาจพบการเปลี่ยนสี

เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ถึง 3 ชั่วโมง โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการมึนงง ตามัว และสภาวะหายใจลำบาก

ข้อแนะนำสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดยให้กิน “ผงถ่าน” โดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารและรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาตามอาการ

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 5 ปีย้อนหลัง พบสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษ 90 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 371 ราย เสียชีวิต 32 ราย

ในปี 2567 ตั้งแต่ 1 มกราคม-10 มิถุนายน มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกิน “เห็ดพิษ” แล้ว 10 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 36 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีรายงานใน 5 จังหวัด ได้แก่

...

จังหวัดเลย 5 เหตุการณ์ ป่วย 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย, จังหวัดตาก 2 เหตุการณ์ ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย, จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 เหตุการณ์ ป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย, จังหวัดยโสธร 1 เหตุการณ์ ป่วย 6 ราย ไม่เสียชีวิต และจังหวัดชัยภูมิ 1 เหตุการณ์ ป่วย 5 ราย ไม่เสียชีวิต

ซึ่งแหล่งที่มาของเห็ดได้มาจากป่าเขาหรือสวนแถวบ้าน หรือพื้นที่เคยเก็บเป็นประจำทุกปี “ผู้ป่วย” ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 36-60 ปี 23 ราย คิดเป็น 64% รองลงมาคือ วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย คิดเป็น 19% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18-35 ปี 6 ราย คิดเป็น 17%

สำหรับ “ผู้เสียชีวิต” 4 ราย อยู่ในช่วงอายุ 19–45 ปี เห็ดที่พบเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ 3 ราย และอีก 1 ราย ไม่ทราบชนิดเห็ด

การประเมินปัจจัยเสี่ยง พบว่าผู้เสียชีวิต 3 รายไม่มีความรู้ในการแยกชนิดเห็ด และผู้เสียชีวิต 1 รายมีอาชีพเก็บเห็ดป่า ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรือนานถึง หลายชั่วโมง

ตอกย้ำ ตัวอย่างเห็ดพิษที่พบบ่อยในบ้านเรา อาทิ กลุ่มเห็ดระโงกพิษ อย่างเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก (เห็ดไข่ตายซาก) มีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือเห็ดไข่ห่านที่กินได้

สังเกตเบื้องต้นจะพบว่าเห็ดระโงกหินมีเกล็ดขาวขนาดเล็กฝุ่นผงสีขาวปกคลุมบนหมวกดอก และก้านกลวง ขณะที่เห็ดระโงกขาวหมวกเรียบมัน กลางหมวกดอกอมเหลืองเล็กน้อยและก้านตันเนื้อแน่น แต่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคเห็ดระโงกขาวในช่วงดอกเห็ดบาน นิยมเก็บช่วงดอกเห็ดตูมคล้ายไข่กลมรี จึงแยกแยะยาก

อีกชนิดคือเห็ดถ่านครีบเทียน มักสับสนกับเห็ดถ่านและเห็ดนกเอี้ยง โดยเห็ดถ่านครีบเทียนมีสารพิษกลุ่มมัสคาริน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันโลหิตสูง ปากชา มีอาการขาดน้ำ หัวใจล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิต และเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่

...

กรณี “เห็ดถ่านเลือด” หากมีรอยโดนสัมผัสหรือโดนใบมีด จะมีสีแดงติดบริเวณเนื้อเห็ด หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดสภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งเกิดอาการตับ ไตวายและเสียชีวิต

สุดท้ายคือ “เห็ดระโงกพิษสีน้ำตาล” ลักษณะคล้ายกับ “เห็ดระโงกยูคา” จนไม่สามารถจำแนกด้วยตาเปล่า มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและเป็นชนิดใหม่ที่พบในประเทศไทย

บริโภคเห็ดหน้าฝนจำไว้ให้ขึ้นใจ “เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บไม่กิน”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม