“ที่ผ่านมาเราตกเป็นจำเลยสังคม เป็นคนก่อมลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากการเผาอ้อย ก่อปัญหา ให้สิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เรามีไร่อ้อยหลายพันไร่ใน จ.เพชรบูรณ์ จึงได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน และหน่วยงานในสถาบันการศึกษา นำงานวิจัยที่ทำมาร่วม 10 ปี มาต่อยอด นำใบอ้อยมาอัดเม็ด ทำเป็น พลังงานชีวมวล เพื่อลดการเผา ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ เสริมให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งไลน์การผลิตนี้สามารถใช้ได้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใบไม้ เปลือก หรือกิ่ง ใช้ได้กับทุกพืช”

นายอภิวัฒน์ ถาวรแท้ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด บอกถึงความร่วมมือระหว่างบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ที่ได้ทำเอ็มโอยูในการนำเทคโนโลยีของศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี มาต่อยอด...ในฐานะ ที่บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) มีความชำนาญในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม รถยนต์ จึงเหมาะที่จะใช้ความชำนาญในอุตสาหกรรมมาพัฒนาเครื่องจักรที่มีอยู่มาช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นใบอ้อย ต้นข้าวโพด ทางปาล์ม ฯลฯ

...

ขณะที่ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.สระบุรี ทำเรื่องนี้มาหลายปี เพื่อการวิจัยด้านการเกษตรเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ ด้วยความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ด้านหนึ่งถนัดสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกด้านมีบริการทางวิชาการ ที่พร้อมถ่ายทอดงานวิจัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่างๆ ขณะที่ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตโดยคนไทยมีนวัตกรรมที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อม เป็นความต้องการของทรัพย์ถาวร ไบโอแมส จำกัด ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยใน จ.เพชรบูรณ์ จำนวนมาก ทุกอย่างจึงเกิดขึ้น

“จุดเด่นของเครื่องจักรที่ผลิตจากบริษัทนี้ คือผลิตขึ้นจากงานวิจัยให้เหมาะสมกับวัสดุทางการเกษตรของไทย ด้วยการออกแบบเครื่องจักรให้เหมาะกับลักษณะและพฤติกรรมการเก็บเกี่ยวของบ้านเรา เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาถูกกว่านำเข้า และสามารถบริการหลังการขายด้านการบำรุงรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาปีเศษก็ผลิต เครื่องอัดเม็ดและอัดก้อนจากใบอ้อยได้ และสามารถนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรทุกชนิดมาทำเป็นไบโอแมส ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่ากับไม้ที่ตัดแต่งกิ่ง เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ การปลูกอ้อยในปัจจุบันหากใช้คนเก็บเกี่ยวก็จะมีเรื่องการเผาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องใช้คนเก็บเกี่ยว การนำใบอ้อยมาใช้ประโยชน์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษ์โลก ที่ไม่ได้มีการเผาอ้อย อันก่อให้เกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และยังสามารถนำใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล อีกส่วนหนึ่งบริษัทก็รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรในเครือข่าย ไม่ต้องขนใบอ้อยเป็นฟ่อนๆให้เปลืองค่าขนส่ง เพราะรถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ใช้ขนใบอ้อยได้แค่ 17–18 ตันก็เต็มคัน จึงหวังให้รัฐบาลหันมาสนใจโครงการนี้ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบ.

...

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม